xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊สด” หนุนแก้ ม.309 ชี้ ประชามติถูกฟ้อง กกต.ไม่ผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ(แฟ้มภาพ)
“สดศรี” เห็นด้วย “โภคิน” แก้ ม.309 อ้างปลดล็อกการเมือง แจงประชามติอำนาจอยู่ที่ ครม.ชี้ ทำได้ทั้งก่อนและหลัง เผย ปัจจุบันใช้ประมาณ 12 ล.เสียง ทำจริงขอเวลา 10 วัน เปรียบ กกต.เป็นผู้รับจ้างรัฐเอาผิดไม่ได้ ปัดคดี “หนีทหาร” ไม่เกี่ยว กกต.

วันนี้ (19 ก.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณี นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพื่อปลดล็อกความวุ่นวายทางการเมือง ว่า ถ้าหากจะมีการแก้มาตรา 309 ควรจะมีการทำประชามติ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน จากประชาชนที่สนับสนุนว่าเห็นด้วย เพราะการแก้มาตรา 309 จะไปกระทบทางการเมืองหลายส่วน แต่หนทางในการแก้ไขจะเป็นทางสะดวกหรือไม่ เป็นเรื่องทางการเมืองไม่เกี่ยวกับ กกต.เพราะถ้ามีการแก้ไขมาตรา 309 ก็จะไปกระทบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และอาจจะมีคนไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อีก เรื่องก็จะยาว ดังนั้น ต้องดูว่าการแก้ไขจะไปกระทบกับกลุ่มก้อนทางการเมืองใดหรือไม่

นางสดศรี กล่าวถึงขั้นตอนในการทำประชามติที่หลายฝ่ายสับสน ว่า การออกเสียงประชามติจะเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้ โดยประเด็นที่จะให้มีการออกเสียงประชามติ ต้องเป็นประเด็นที่คณะรัฐมนตรี เห็นว่ากระทบกับต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ และประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 โดยผู้ที่มีอำนาจในการสั่งให้มีการออกเสียงประชามติ ก็คือ คณะรัฐมนตรีที่อาจหารือกับประธานสภา หรือประธานวุฒิสภา ถึงประเด็นที่จะให้มีการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะต้องเป็นประเด็นที่มีความชัดเจน ในการที่จะไปออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น และหากจะให้ กกต.จัดให้มีการออกเสียงประชามติ กกต.ก็ต้องดำเนินการภายใน 10 วัน นับแต่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นางสดศรี กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของ กกต.ก็จะมีหน้าที่เผยแพร่กระบวนการประชามติ กกต.จะต้องจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน และจัดสรรเวลาออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ ให้กับผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ได้แสดงความคิดเห็นกัน โดยวันออกเสียงประชามติ จะเปิดให้ประชาชนออกเสียงตั้งแต่ 08.00-16.00 น.ทั่วประเทศ รวมถึงเปิดผลการออกเสียงประชามติของประชาชนที่อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ การออกเสียงประชามติสามารถทำได้ทั้งก่อนละหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนคะแนนในการออกเสียงประชามตินั้น จะเป็นไปตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.เดียวกัน โดยผู้มาออกเสียง ต้องมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และจำนวนคะแนนเสียงที่ลงประชามติจะต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งขณะนี้ตามประกาศของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค.54 ระบุว่า มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 47,876,671 คน ถ้าจะทำประชามติ ต้องมีผู้มีสิทธิมาออกเสียง ประมาณ 24 ล้านคน และเสียงประชามติที่จะผ่าน ต้องได้จำนวน 12 ล้านเสียงเศษ อย่างไรก็ตาม การออกเสียงประชามติ สามารถยื่นคัดค้านได้ หากยื่นก่อนวันลงประชามติ กกต.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันคัดค้าน แต่หากยื่นในวันออกเสียง จะต้องยื่นภายใน 48 ชั่วโมง ถ้าเกินระยะเวลาดังกล่าวถือว่าคำร้องนั้นตกไป

นางสดศรี กล่าวอีกว่า การจัดทำประชามติ กกต.เปรียบเสมือนผู้รับจ้างจาก ครม.เท่านั้น เราไม่มีอำนาจว่าจะไปพิจารณาว่าประเด็นที่จะให้ทำประชามติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหากมีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าประเด็นที่จะทำประชามติเป็นการล้มล้างการปกครอง กกต.ก็ไม่ต้องต้องรับผิดชอบ เพราะกฎหมายกำหนดให้ประเด็นที่จะทำประชามติต้องผ่านการกลั่นกรองจาก ครม.มาแล้ว ซึ่งในระหว่างที่มีการจัดทำประชามติทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านสามารถรณรงค์กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นไปในลักษณะขัดขวางการลงประชามติ ซึ่งมีบัญญัติเป็นโทษไว้ในมาตรา 38-42 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552

นางสดศรี ยังกล่าวถึงกรณีเอกสารการเข้ารับราชการทหารของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาว่า เรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับ กกต.เพราะ กกต.จะพิจารณาเฉพาะคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ซึ่งกรณี นายอภิสิทธิ์ เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 ไม่ได้กำหนดว่าผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องผ่านการเกณฑ์ทหารหรือไม่ ดังนั้น ถ้าจะมีเรื่องของความผิด ก็น่าจะเป็นเรื่องของความผิดตาม พ.ร.บ.ทหาร หรือความผิดทางอาญา
กำลังโหลดความคิดเห็น