xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” บินถกการค้ายั่งยืน เยอรมันหนุน ศก.สีเขียว-การศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทย-เยอรมนี ร่วมมือผลักดันการค้าและการลงทุนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ผ่านกลไกการค้า การลงทุน นายกฯ เยอรมนี หยอด “ปู” ทำประเทศพัฒนา ลดขัดแย้ง ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” โว ไทยกลับมาสู่วิถีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ การเมืองมั่นคงและส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของปชช ก่อนบรรลุความตกลงยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจสีเขียว - ยกระดับหลักสูตรอาชีวศึกษาของไทย

วันนี้ (18 ก.ค.) เวลา 11.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเยอรมนี (Chancellery) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ในโอกาสเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ ก่อนจะเข้าหารือกับนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและอายุน้อยที่สุด ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตการคลังยุโรป

นายกรัฐมนตรีเดินทางถึงทำเนียบนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โดยนางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้รอให้การต้อนรับก่อนจะเข้าร่วมพิธีตรวจพลกองทหารเกียรติยศ และเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ (Working Lunch) ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเยอรมัน โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งถือเป็นการเยือนระดับผู้นำครั้งแรกในรอบ 17 ปี พร้อมแสดงความชื่นชมรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีในการพัฒนาประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าในหลายๆด้านทั้งเศรษฐกิจ การพัฒนาประชาธิปไตยสร้างความปรองดอง และลดการขัดแย้ง รวมทั้งการสร้างเสริมบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาเซียน

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรัฐบาลเยอรมนี และยินดีที่เป็นการเยือนเยอรมนี ในปีที่ไทยและเยอรมนีกำลังฉลองวาระครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต พรซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความชื่นชมต่อบทบาทนำของ นางอังเกลา แมร์เคล ทั้งในเยอรมนีและสพภาพยุโรป และเชื่อมั่นว่า จะนำพาประเทศและภูมิภาคผ่านพ้นความท้าทายต่างๆได้ อย่างสำเร็จ และที่สำคัญ ไทยมีความเชื่อมั่นต่อเยอรมนีและสหภาพยุโรป และด้วยความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยและเยอรมนี รวมทั้งภูมิภาคนี้จะนำมาซึ่งการเติบโตและการจ้างงานอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การค้าและการลงทุนระหว่างกันจะเป็นกลไกขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วน ซึ่งสหภาพยุโรปถือเป็นลุกค้าที่สำคัญ ที่มีผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการเติบโตของไทยและอาเซียน การค้าจะช่วยจุดพลังการเติบโต ขณะทีมีโอกาสรออยู่ที่ไทยและอาเซียนสำหรับการลงทุนของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างการพัฒนาการเชื่อมโยงในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยกำลังลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายหลังการฟื้นตัวจากอุทกภัย

ไทยและเยอรมนีผูกกันไว้ด้วยคุณค่าวิถีประชาธิปไตย นิติรัฐ และธรรมาภิบาล และขณะนี้ ไทยกลับมาสู่วิถีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ด้วยคุณค่านี้ ความมั่นคงทางการเมืองจึงประสบผลสำเร็จ และส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชนไทย และพัฒนาประเทศ ดังนั้น เยอรมนียังคงเป็นหุ้นส่วนที่จริงใจในอาเซียน และในความพยายามร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายของภูมิภาคและโลก

สำหรับด้านการค้า-การลงทุน ทั้งสองฝ่ายพอใจปริมาณการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เยอรมนีถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในยุโรป และไทยเป็นคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคอาเซียนของเยอรมนี ทั้งสองฝ่ายจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน โดยใช้กลไกความร่วมมือทวิภาคีที่มีอยู่ เช่น คณะกรรมาธิการร่วมเศรษฐกิจไทย-เยอรมนี ให้ทำงานอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนีจะเยือนไทยในเดือนกันยายนนี้ เพื่อเจรจาและดำเนินการเพื่อร่วมมือกันผลักดันการค้าและการลงทุนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี ไทยต้องการร่วมมือกับเยอรมนีเพิ่มเติมด้านการรับรองและพัฒนามาตรฐานสินค้าอาหารไทย เพื่อลดการตีกลับการส่งออกอาหารไทยไปยุโรป โดยไทยเสนอให้เยอรมนีร่วมกับไทยตั้งจุดตรวจคุณภาพสินค้าในประเทศไทยก่อนที่จะมีการส่งออก เพื่อลดความสูญเสียในเรื่องค่าขนส่ง

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนเยอรมันเข้ามาลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรกล ซึ่งรัฐบาลไทยมีมาตรการจูงใจทางภาษีให้แก่นักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ไทยและเยอรมนีเห็นพ้องเร่งผลักดันเดินหน้าการเจรจาการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และสำหรับประเด็นเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP - Generalized System of Preferences) ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยกำลังจะถูกตัดสิทธินั้น นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณที่ทางสหภาพยุโรปได้ตัดสินใจที่จะขยายการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากรให้แก่ไทย จนถึงปลายปี 2013

ด้านความร่วมมือเศรษฐกิจสีเขียว โดยไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสนใจที่จะร่วมมือกับเยอรมนีอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความร่วมมือที่เกี่ยวกับการจัดทำนโยบาย อุตสาหกรรม และประชาชน ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับเยอรมนีด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) นอกจากนี้ ไทยยินดีที่เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดการหารือยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเวทีที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ จากระดับผู้เชี่ยวชาญถึงระดับการเมือง โดยคาดว่าจะจัดการหารือครั้งแรกได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลไทยส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสัดส่วนในพลังงาน 1 ใน 4 ภายใน 10 ปีนี้ ไทยจึงสนใจการก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไทยประสงค์ที่จะเป็นผู้ปูทางในภูมิภาคในเรื่องของอุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไบโอพลาสติก ไทยและเยอรมนีจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในสาขาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และกลไกต่างๆ

ด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณความช่วยเหลือจากเยอรมนีในช่วงที่ไทยประสบอุทกภัย รวมถึงความช่วยเหลือในการฟื้นฟูโบราณสถานที่ได้รับความเสียหาย และกล่าวถึงความสำคัญที่รัฐบาลไทยในการป้องกันอุทกภัยในอนาคตโดยเฉพาะบริเวณเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลไทยมีแผนการลงทุนในเรื่องนี้ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท และทราบว่าภาคเอกชนเยอรมนี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้า สนใจเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งรัฐบาลไทยยินดีต้อนรับ

ส่วนด้านการศึกษา ไทยและเยอรมนีจะร่วมกันขจัดปัญหา อุปสรรคด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษา เช่น การขอวีซ่า ไทยพร้อมที่สานต่อความร่วมมือเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา เนื่องจากประเทศเยอรมนีมีระบบ Dual System ที่มีประสิทธิภาพ และสองประเทศจะเร่งสรุปสำหรับการจัดทำความตกลงได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญคือ สถานการณ์หนี้ในยุโรป ที่เยอรมนีมีบทบาทนำในการแก้ปัญหา โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงผลกระทบต่อประเทศไทยว่า ยังอยู่ในวงจำกัด และอาจจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อประเทศไทย แต่อาจจะเป็นผลทางอ้อมจากผลกระทบการส่งออกไปตลาดสำคัญ เช่น จีน และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ไทยเชื่อมั่นว่า ยุโรปจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาและผ่านพ้นความท้าทายนี้ไปได้ โดยไทยพร้อมที่จะขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับยุโรป เพื่อสนับสนุนกระบวนการการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนจะช่วยส่งเสริมการเติบโตและการจ้างงานโดยรวม ซึ่งประสบการณ์วิกฤติการเงินของเอชียในปี 1997 แสดงให้เห็นว่าต้องหลีกเลี่ยงนโยบายการปกป้องตลาดในรูปแบบต่างๆ

สำหรับประเด็นในภูมิภาค ผู้นำทั้งสองได้มีการแลกเปลี่ยน เช่น พัฒนาการของอาเซียนที่เยอรมนีให้ความสนใจ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงศักยภาพของประชาคมอาเซียน และสนับสนุนเยอรมนีและสหภาพยุโรปให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาค และบทบาทร่วมที่สร้างสรรค์ ไทยแสดงความสนใจในการเจรจา

ทั้งนี้ ภายหลังงานเลี้ยงอาหารกลางวัน นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเยอรมนีแถลงข่าวร่วม ณ ห้องโถงแถลงข่าวของทำเนียบนายกรัฐมนตรีเยอรมัน

สำหรับการเยือนเยอรมนีของนายกรัฐมนตรี บรรลุข้อตกลงที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาในรูปแบบของเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในปัจจุบันดีขึ้น และสามารถสร้างความเสมอภาคได้ในระยะยาว ไม่ทำให้คนรุ่นหลังประสบกับความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาระบบนิเวศน์ที่เสียสมดุล

โดยที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ การพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในปัจจุบันโดยไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อความต้องการของคนในอนาคต โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ได้ให้ความสำคัญกับคำว่า “เศรษฐกิจสีเขียว” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาฐานการผลิตและบริการให้เข้มแข็งมีคุณภาพบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ สร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ปรับโครงสร้างการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติ

ทั้งนี้ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ก้าวหน้า และมีเชี่ยวชาญในหลายๆด้าน การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของเยอรมนีมีความแข็งแกร่ง ด้วยมีปัจจัยที่สำคัญในหลายด้าน เช่น อุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่เยอรมนีต้องพึ่งพาการผลิต แต่มีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ เยอรมนีจึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีเพื่อใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสภาวะการเมืองภายในประเทศ ที่ประชาชนตื่นตัวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม และพร้อมสนับสนุนรัฐบาลที่ผลักดันและดูเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งด้วยเหตุผลเหล่านี้ เยอรมนีจึงเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการน้ำ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมและนวัตกรรมสีเขียว รวมทั้งการจัดการขยะ เป็นต้น

ดังนั้น ไทยและเยอรมนีจึงมีเป้าประสงค์เดียวกัน และสามารถแลกเปลี่ยน เรียนรู้ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวในไทยเดินหน้า และพัฒนาอย่างสมบูรณ์ โดยปัจจุบัน มีความร่วมมือที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การศึกษาและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการด้านพลังงาน อาทิ โครงการก๊าซชีวภาพไทย-เยอรมนี รวมทั้ง ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ และ โครงการจัดการน้ำเชิงระบบนิเวศ

จากการหารือระหว่างผู้นำไทยและเยอรมนี ต่างยืนยันความพร้อมที่จะสานต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ โดยต่อยอดโครงการที่มีอยู่ และพัฒนาโครงการความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เริ่มจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ระดับผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ไทยยังขาดแคลน เช่น การฝึกอบรมวิศวกรและสถาปนิก เพื่อการออกแบบและก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การผลิตพลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลัง และเทคโนโลยีการแปรขยะเป็นพลังงาน เป็นต้น

ส่วนความร่วมมือด้านการศึกษา เป็นหนึ่งในความร่วมมือสำคัญที่จะพัฒนาและยกระดับการศึกษาของไทย โดยเยอรมนี เป็นประเทศมีขีดความสามารถด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรอาชีวศึกษา และการศึกษาแบบทวิภาคี ( Dual Education ) โดยไทยและเยอรมนีจะร่วมมือกันด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นประเทศเป็นที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกถึงหลักสูตรอาชีวศึกษาที่มีมาตรฐาน และไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์ทางด้านการศึกษามาเป็นเวลากว่า 50 ปี โดยในช่วงเริ่มต้น ความร่วมมือเป็นในลักษณะการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการศึกษาของไทย ผ่านองค์กรความร่วมมือด้านวิชาการ (GTZ) ซึ่งโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาที่โดดเด่น ได้แก่ การจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ หรือ โรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน โดยในปัจจุบันหน่วยงานของเยอรมนีให้การสนับสนุนโครงการความร่วมมือในลักษณะการวิจัยร่วม และความร่วมมือโดยตรงระหว่างมหาวิทยาลัย

ดังนั้น กระทรวงศึกษาไทยกับกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี จึงเห็นพ้องที่จะพัฒนา และส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาในลักษณะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา เพื่อให้เยาวชนสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตที่เยอรมนีเข้ามาลงทุนในไทย ดังนี้

- การส่งเสริมการศึกษาแบบทวิภาคี (Dual Education) โดยเป็นการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกปฎิบัติจริงในสถานประกอบการ โดยจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาสายอาชีพของไทยมีโอกาสเข้าไปฝึกปฎิบัติงานในสถานประกอบการของเยอรมนี

- โครงการส่งเยาวชนเยอรมนีไปฝึกงานยังต่างประเทศ เพื่อให้ช่วยสอนภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษในโรงเรียนไทย โดยการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี

- ความร่วมมือในลักษณะไตรภาคี โดยสถานศึกษาของไทยมีความพร้อมในการจัดหลักสูตรอบรมร่วมกับฝ่ายเยอรมนี เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่สาม

- เยอรมนีจะสนับสนุนการเตรียมความพร้อมด้านภาษา ให้กับนักเรียนในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่3 โดยนักเรียนไทยในโครงการ 2 รุ่นที่ผ่านมามีความสนใจเลือกเรียนที่เยอรมนีมากเป็นอันดับที่ 4 ด้วยความร่วมมือนี้ จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ ที่มีมาตรฐานและมีศักยภาพยกระดับการศึกษาให้เท่าเทียมและเป็นที่ยอมรับ และนำความรู้ที่ได้รับกลับมาสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น