อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
ใกล้เข้ามาทุกขณะ สำหรับคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ทุกคนรอคอย บ้างรอด้วยใจที่ยอมรับ ไม่ว่าผลจะออกมาบวกหรือลบ ขณะที่บางกลุ่ม-บางพรรคใช้เวลาระหว่างรอ ข่มขู่ศาล รธน.อย่างหนัก ถึงขั้นจะจับกุมตุลาการกันเลยทีเดียว ถ้าไม่วินิจฉัยให้เข้าทางตน ...ก่อนจะรู้ผลวินิจฉัยว่าการแก้ไข รธน.มาตรา 291 ขัดต่อมาตรา 68 และเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ลองไปฟังความมั่นใจของฝ่ายผู้ร้องและนักวิชาการด้านกฎหมายกัน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
ศุกร์ 13 ก.ค.นี้แล้ว ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งมาตรา 68 ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้”
ซึ่งหากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ดำเนินการโดยคณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไม่เพียงศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องระงับการกระทำดังกล่าว แต่ยังอาจสั่งให้ยุบพรรคดังกล่าวได้ พร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
เพราะเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่เป็นสุข โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมอย่างกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมากดดันและข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนัก เพื่อให้วินิจฉัยเข้าทางที่ตนต้องการ ตัวอย่างเช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาขู่ศาลรัฐธรรมนูญพร้อมให้ท้ายคนเสื้อแดงว่า หากคำวินิจฉัยของศาลทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ยอมรับ จะมีการออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมาก แต่จะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ พร้อมอ้างว่าตนไม่ได้ขู่ แต่สถานการณ์มันเป็นแบบนั้น
ขณะที่แกนนำคนเสื้อแดงอย่างนายก่อแก้ว พิกุลทอง ที่ได้ดิบได้ดีเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก็ปลุกระดมให้คนเสื้อแดงเตรียมสู้กับศาลรัฐธรรมนูญแบบแตกหัก ถึงขั้นจะจับตุลาการกันเลยทีเดียว หากวินิจฉัยออกมาเป็นผลลบกับรัฐบาล โดยบอก หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการเพื่อล้มล้างการปกครอง พวกตนก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว และก็ขอให้คนเสื้อแดงร่ำลาครอบครัวเอาไว้ได้เลย เพราะจะเป็นการต่อสู้แบบแตกหักอย่างแน่นอน เพราะหากศาลวินิจฉัยเช่นนั้น ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงจะไม่รับฟังคำตัดสินครั้งนี้แน่นอน และจะดำเนินการไปสู่การจับกุมศาล หากตำรวจไม่กระทำตาม ประชาชนก็จะดำเนินการเอง...
ขณะที่หลายฝ่ายต่างคาดการณ์กันไปต่างๆ นานา ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกทางไหนได้บ้าง โดยนายโภคิน พลกุล อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และอดีตประธานรัฐสภา บอกว่าน่าจะมี 4 แนวทาง คือ 1. ศาลอาจบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดมาตรา 68 และนำไปสู่การยุบพรรค 2.อาจบอกว่าขัดมาตรา 68 แต่ไม่นำไปสู่การยุบพรรค 3.อาจบอกว่า ข้อเท็จจริงขณะนี้ยังไม่ขัดมาตรา 68 เพราะยังไม่มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) และ 4.อาจบอกว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 68 ให้ยกคำร้อง
ก่อนจะรู้ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกหัว-ออกก้อยอย่างไร และจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองหรือไม่? ลองมาฟังความรู้สึกของผู้ร้องเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญดูว่ามั่นใจแค่ไหนว่าศาลจะวินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
นายบวร ยะสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน 1 ในผู้ร้อง ยืนยันว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือเป็นการล้มล้างการปกครองประเทศชนิดหนึ่ง เรียกว่า รัฐประหารแบบซ่อนรูป
“คำว่าล้มล้างนี่ เอาตัวบทก่อน บางคนอาจจะมองว่า ล้มล้าง เราคุ้นกับทหารยึดอำนาจ แต่ไม่เคยคุ้นว่า การล้มล้างโดยใช้วิธีการกฎหมายในรัฐสภา อันนี้เป็นการรัฐประหารแบบซ่อนรูปอย่างที่ผมได้บรรยายไว้ในศาล ก็คือ ใช้กฎหมายนี่แหละมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งโครงสร้างอำนาจในการปกครองประเทศ อันนี้ก็คือการล้มล้างอย่างหนึ่ง ทีนี้ถ้าทำโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับไว้ ก็ไม่เป็นความผิดอะไร เช่น ยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า สมมติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้อำนาจไว้ อันนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ให้อำนาจรัฐสภาในการที่จะยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพื่อให้ได้มาซึ่งฉบับใหม่ การทำเช่นนี้เขาเรียกว่าเป็นการล้มล้างการปกครองประเทศชนิดหนึ่ง อันนี้ก็จะเข้าใจง่ายว่า เอ๊ะ! ทำไมยกเลิกฉบับเก่า เขียนใหม่ ถึงเป็นการล้มล้าง นั่นคือความหมายเดียวกับการทำรัฐประหาร เพียงแต่ทหารออกมายึด แล้วก็ฉีกรัฐธรรมนูญเก่าทิ้ง แล้วสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ แต่กรณีนี้ไม่ได้เป็นการเอากำลังออกมายึด แต่ใช้ความฉ้อฉลทางกฎหมายอ้างอำนาจที่ไม่มี เอามาแก้ไข มายกเลิก อันนี้ก็คือการล้มล้าง”
ส่วนจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่นั้น นายบวร บอกว่า อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย หากเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผูกโยงทั้งพรรคและตัวบุคคล ก็นำไปสู่การยุบพรรค
ด้านนายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา 1 ในผู้ร้อง ก็มั่นใจว่า พยานหลักฐานต่างๆ เพียงพอที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพราะมาตรา 291 ไม่อนุญาตให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
“เราเชื่อว่าพยานหลักฐานเพียงพอ เนื่องจากอย่างน้อยๆ เขายอมรับว่ามีการแก้ไขมาตรา 291 จริง และการแก้ไขก็คือไปตั้ง ส.ส.ร.เพื่อทำการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งกรรมการร่างเนี่ยมันไม่มีในรัฐธรรมนูญ และจริงๆ แล้ว ในมาตรา 291 เอง แม้ไม่ไปแก้ ก็สามารถทำการแก้รัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว พอเขาไปแก้ เราถือว่าเป็นการสร้างองค์กรใหม่ ซึ่งถ่ายโอนอำนาจจาก ส.ส.-ส.ว. ซึ่งเป็นอำนาจในการเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยไปให้บุคคลภายนอก ซึ่งไม่ใช่ความประสงค์ของการเลือกตัวแทนเข้ามา”
(ถาม-คิดว่าผลวินิจฉัยจะออกมาทางไหน บางฝ่ายบอกว่ามี 3-4 ทาง?) ถ้าเราพิจารณาคำร้อง คำร้องมีคำขออย่างเดียวคือ 1.ในฝ่ายผู้ร้องขอให้มีคำสั่งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็มีสั่งอย่างเดียวคือ สั่งให้ยกเลิกกระบวนการตรงนั้น ส่วนฝ่ายผู้ถูกร้องก็บอกว่า เขาทำชอบ ขอให้ยกคำร้องของเรา เท่านั้นแหละมี 2 อัน ยกหรือไม่ยก มันไม่มีหรอกที่ศาลจะไปสั่งว่า ให้แก้ไขบางส่วน เพราะมันไม่มีคำร้องในส่วนนี้ กฎหมายบอกว่า ศาลจะพิจารณานอกเหนือคำร้องขอไม่ได้ (ถาม-ต้องนำไปสู่การยุบพรรคมั้ย?) การยุบพรรคต้องไปว่าในเรื่องกระบวนการยุบพรรค คือ กกต.ต้องเข้ามาเป็นเจ้าพนักงานตรงนี้ ส่วนเรื่องกบฏหรือไม่กบฏ ทาง ป.ป.ช. ต้องเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แทน”
ขณะที่นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งพันธมิตรฯ ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้เอาผิด ครม.และ 416 ส.ส.-ส.ว.ที่ร่วมกันกระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ก็ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนจะถึงขั้นล้มล้างการปกครองหรือไม่ อยู่ที่ศาลจะวินิจฉัย
“เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองหรือไม่เนี่ย อันนี้ไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเชื่อมั้ย แต่เข้าข่ายว่าผิดรัฐธรรมนูญเนี่ย คิดว่าเข้าข่าย ซึ่งจะต้องตีความว่าผิดตรงไหน ตรงที่ว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับใช่มั้ย ...อีกประเด็นหนึ่งคือการตีความว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ลงประชามติ เพราะฉะนั้นถ้าจะเขียนใหม่ทั้งฉบับ ควรจะต้องไปถามประชาชนก่อนหรือไม่ คือถ้าในความเห็นของผมเนี่ย ต้องไปถาม ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะไม่กำหนดไว้”
“(ถาม-คิดว่าจะเกิดความวุ่นวายตามมามั้ย เพราะเสื้อแดงก็ขู่เหลือเกิน?) ไม่ว่าจะตัดสินอย่างไร ความวุ่นวายยังดำรงอยู่ เพราะทักษิณเขายังไม่ได้ตามเป้าหมาย ถึงแม้ว่าได้ตามเป้าหมาย ก็คือนิรโทษกรรมตัวเองทั้งหมด กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็บริหารประเทศแบบเดิม ก็ยังวุ่นวายอยู่ เพราะศึกครั้งนี้เป็นศึกที่ทักษิณกำหนดเป็นการยึดอำนาจรัฐ แต่ตอนนี้เขาได้อำนาจรัฐบาลแล้ว แต่เขายังไม่ได้อำนาจรัฐ”
ด้าน รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐบาลเข้าข่ายล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถือเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า ซึ่งไม่ต่างจากการปฏิวัติ เพียงแต่ไม่ได้ใช้กำลัง แต่ใช้กฎหมู่คือพวกมากลากไป
“คือมันไม่ได้ล้มล้างระบอบ แต่มันล้มล้างรัฐธรรมนูญ มันเท่ากับยกเลิกรัฐธรรมนูญ มันไม่ต่างกับการปฏิวัติเลยนะ แนวที่จะออกมา มันน่าจะออกมาว่าแก้ไม่ได้หรอก 291 เนี่ย ไม่งั้นมันไม่มีประโยชนไง ถ้าเราเขียนในรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญอันนี้ห้ามแก้ไขทั้งฉบับ ถ้าคุณยกเลิกมาตรานี้ได้ มันก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญถูกมั้ย เพราะฉะนั้นผมดูเนื้อหาแล้วมันน่าจะออกมาตรงนี้ว่า ให้แก้ไขเพื่อจะแก้เรียงมาตราไป ไม่งั้นแล้วมันไม่สมเจตนารมณ์เลย เพราะสภาบอกว่าตัวมีอำนาจแก้ไข แต่เจ้าตัวก็ไม่แก้ไข โยนไป ส.ส.ร. และ ส.ส.ร.ก็มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม หรือจะโดยตรงก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ใช่อำนาจของสภานั่นแหละ คนอื่นก็ไม่มีส่วนร่วม ใครจัดตั้งเข้าไปก็ทำได้”
“(ถาม- เพื่อไทยบอกว่า รัฐธรรมนูญ 50 มาจากการปฏิวัติ ทำไมจะแก้ไม่ได้?) ก็แก้มาตราไหนล่ะที่มาจากการปฏิวัติที่มันไม่ถูกต้อง ก็แก้ได้ ถูกมั้ย เพราะฉะนั้นอย่างนี้ก็เหมือนปฏิวัติเหมือนกันแหละ เพียงแต่ว่าเป็นการล้มรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่ได้ใช้กำลัง ใช้กฎหมู่ ใช่มั้ย ไม่ต่างอะไรกับการปฏิวัติหรอก ปฏิวัติก็ใช้อาวุธ แต่ว่าไม่ได้ฆ่าใคร นี่ใช้กฎหมู่ คือพวกมากลากไป”
เมื่อถามว่า คิดว่าบ้านเมืองจะวุ่นวายหรือไม่หลังทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะแกนนำคนเสื้อแดงขู่อย่างหนัก อาจารย์ทวีเกียรติ เชื่อว่า ถ้าคำตัดสินออกมาไม่ถึงขั้นยุบพรรค คงไม่วุ่นวาย เพราะพรรคเพื่อไทยยังเป็นรัฐบาลอยู่ รัฐบาลคงคุมได้ แต่ถ้าคำตัดสินที่ออกมาถึงขั้นยุบพรรคหรือล้มรัฐบาล อาจจะเกิดความวุ่นวายได้ เพราะถึงเวลานั้น คงไม่มีใครมาคุมเสื้อแดงแล้ว ...งานนี้ ต้องติดตามว่าในที่สุดแล้ว คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร? และบ้านเมืองจะปั่นป่วนวุ่นวายดังคำขู่ของคนเสื้อแดงหรือไม่?