xs
xsm
sm
md
lg

ยกฟ้อง “ตู่” หมิ่น “ลุงจำลอง” คลั่งชาติ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายจตุพร พรหมพันธุ์
ศาลไม่รับคดี “จำลอง ศรีเมือง” แกนนำ พธม.กับพวก ฟ้องหมิ่น “จตุพร พรหมพันธุ์” กล่าวหา พธม.คลั่งชาติ ปลุกกระแสเขาพระวิหาร ชี้เป็นการวิพากษ์ทางการเมือง ติชมโดยสุจริต


วันนี้ (17 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่ง ในคดีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 6 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. พร้อมพวกรวม 4 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ย.53 นายจตุพรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองว่าโจทก์ทั้งหกร่วมกับทหารบางกลุ่มใช้บันทึก MOU 43 ปลุกกระแสชาตินิยม และออกมาชุมนุมเพื่อสร้างความวุ่นวาย โดยมีการเผยแพร่คำสัมภาษณ์ลงในเว็บไซต์ และลงพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็น ส.ส.และแกนนำ นปช. ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวสัมภาษณ์และจำเลยที่ 2 นำไปตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์มีลักษณะเป็นการโต้ตอบทางการเมืองโดยทั่วไป ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่แต่ละฝ่ายจะต้องแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนด้วยการวิพากษ์วิจารณ์หรือติชมฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นวิถีการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

เมื่อโจทก์ทั้งหกเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องเรื่องเขตแดนไทยและกัมพูชา บริเวณรอบปราสาทเขาพระวิหาร จำเลยที่ 1 จึงย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์และติชมเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ทั้งหก จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม

แม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวว่า “สร้างความวุ่นวายในประเทศ และรัฐบาลคุมสถานการณ์ไม่ได้” ก็เป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ทั้งหก ที่เรียกร้องให้ประชาชนมาชุมนุมว่าเป็นการไม่สมควรเท่านั้น ส่วนข้อความที่ว่า “เพื่อเปิดช่องให้ทหารยึดอำนาจ” ก็เป็นการกล่าวตามความเข้าใจของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง จึงถือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นความผิด พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น