xs
xsm
sm
md
lg

“อุกฤษ” ชี้ 80 ปีประชาธิปไตยสยามอำนาจสูงสุดไม่ถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประธาน คอ.นธ.เสนอบทความ 80 ปีกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย ชี้วิถีที่ถูกต้องแบบชาติอื่นไม่ได้ฝังรากในสยามเท่าที่ควร อ้างอำนาจสูงสุดแทบไม่ได้ถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง แนะยึดหลักยุติธรรมสากลคดีนักการเมืองโกงชาติไม่ควรจบแค่ศาลเดียว โวยรัฐประหาร 49 ทำสะดุด ดึงตุลาการถ่วงดุลทำอำนาจอธิปไตยเป๋ หยันพวกร่าง รธน.50 ไม่รู้การเมือง วอนชาวบ้านตระหนักหน้าที่ จี้องค์กรอิสระปราศจากอคติ

วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) และอดีตประธานรัฐสภา ได้เสนอบทความ “80 ปี กับการพัฒนาประชาธิปไตยประเทศไทย” เนื่องในโอกาสครบ 80 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิ.ย. 2555 มีใจความพอสรุปได้ว่า ตลอดระยะ 80 ปีที่ผ่านมา ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสังคมแบบวิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามแบบนานาอารยประเทศ ยังมิได้ฝังหยั่งลึกในไทยเท่าที่ควร ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แม้ในช่วง 15 ปีแรกเป็นช่วงเวลาที่ระบบกำลังดำเนินไปในทิศทางประชาธิปไตย แต่ก็มาสะดุดเมื่อมีการทำรัฐประหารปี 2490 นับแต่นั้นมาอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ แทบไม่ได้ตกมาอยู่ในมือประชาชนอย่างแท้จริง ส่งผลให้ประเทศเข้าสู่วงจรการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ ฉีกทำลายรัฐธรรมนูญตกอยู่ภายใต้การปกครองในรูปแบบเผด็จการอำนาจนิยม

นายอุกฤษกล่าวต่อว่า เกิดการรัฐประหาร 11 ครั้ง กบฏ 11 ครั้งมีพรรคการเมืองมาแล้วกว่า 300 ชื่อ มีนายกรัฐมนตรี 28 คน มีรัฐบาลบริหารประเทศ 60 ชุด มีผู้นำทหารขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการรัฐประหาร หรือฝ่ายพลเรือนที่คณะทหารแต่งตั้งรวมแล้วสามารถอยู่ในตำแหน่งมากกว่า 50 ปี ขณะที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งรวมแล้วอยู่ในตำแหน่งไม่ถึง 30 ปี มีการเลือกตั้ง ส.ส.มา 25 ครั้ง มีประธานรัฐสภา 28 คน มีสภาผู้แทนราษฎร 24 ชุด มีสมาชิกรัฐสภา และสมาชิกสภานิติบัญญัติ 11,100 คน แบ่งเป็น ส.ส.7,973 คน ส.ว. 1,700 คน มาจากการเลือกตั้ง 556 คน มาจากแต่งตั้ง 1,149 คน มี สนช.จากการแต่งตั้ง 1,500 คน ซึ่งกล่าวได้ว่าปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในไทยไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะอำนาจสูงสุดยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาง่ายที่สุดคือต้องยอมรับในหลักการเบื้องต้นว่าอำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน

นายอุกฤษกล่าวว่า การแก้ปัญหาต้องแก้ไปตามระบบนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันต้องจัดการตามระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล ไม่ควรพิจารณาโดยศาลเดียว ผู้พิพากษาตุลาการทุกคนต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระ วินิจฉัยคดีโดยปราศจากอคติ ไม่ใช่พอเห็นว่ามีปัญหาก็ใช้กำลังทหารยึดอำนาจ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 40 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการแก้ปัญหาโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง แต่ก็ต้องมาสะดุดหยุดลงจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความแตกแยกได้แล้ว ยังไปสร้างเงื่อนไขใหม่จนส่งผลกระทบไปยังสถาบันการเมืองอื่น อันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 50 นอกจากนี้ การนำเอาฝ่ายตุลาการมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองทำให้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ โดยอำนาจ 3 ฝ่ายคือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ต้องเสียดุล และเอียงข้างฝ่ายตุลาการมากเกินไป ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญ ปี 50 ร่างโดยคนไม่มีความรู้เรื่องการเมืองส่วนใหญ่ไม่เคยผ่านการเลือกต้อง จึงกลายเป็นการแก้ปัญหาแบบลิงแก้แห ใช้คนไม่รู้จริงมาแก้ปัญหาบ้านเมือง ที่สำคัญมีอคติกับนักการเมืองและประชาชน

นายอุกฤษกล่าวอีกว่า แต่ถึงแม้ระบอบประชาธิปไตยต้องผ่านเหตุการณ์ล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้งก็อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา เพราะเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในกระแสโลกปัจจุบัน และการที่ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายๆประเทศ และได้รับการยอมรับนับถือจากนานาประเทศ เป็นเพราะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตน ทั้งการเลือกผู้แทนที่ดี การตรวจสอบติดตามการทำงานของตัวแทนที่เลือกไป รวมไปถึงการถอดถอนตัวแทนหรือผู้ปกครองที่ไม่ดี โดยองค์กรอิสระจะต้องทำหน้าที่ด้วยความอิสระ ซื่อสัตย์ สุจริต และปราศจากอคติทั้งปวง ความสามัคคีปรองดอง จะเกิดขึ้นโดยกฎหมายปรองดองอย่างเดียวไม่ได้ แต่ทุกฝ่ายต้องยึดมั่นในหลักกฎหมายเดียวกัน โดยกฎและกติกาจะต้องยุติธรรม ผู้ใช้กฎหมายต้องใช้โดยปราศจากอคติทั้งปวง และต้องประกอบด้วยหลักเมตตาธรรม ประชาธิปไตยเริ่มต้นปีที่ 81 ขอให้ยึดมั่นในหลักที่ว่า ความยุติธรรมไม่มี ความสามัคคีไม่เกิดเมตตาธรรมค้ำจุนโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น