ศาล รธน.ไต่สวนผู้ถูกร้องและพยานในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มล้างการครอง ที่ประชุมคณะตุลาการไม่อนุญาตให้ “วสันต์-นุรักษ์-สุพจน์” ถอนตัวตาม “จรัญ” หลังยื่นความจำนงเหตุถูกกล่าวหาแสดงความเห็น-ร่วมกระบวนการยกร่าง รธน.50 ด้าน “โภคิน” ปะทะเดือด “วิรัตน์-วรินทร์” แจงศาล ไม่มีอำนาจรับคำร้องโดยไม่ผ่าน อสส. ชี้มาตรา 291 เปิดช่องให้แก้อย่างไรก็ได้ ห้ามแค่ล้มล้างการปกครอง-เปลี่ยนรูปแบบรัฐ รับไม่ดัดจริตปกปิดตัวว่าไม่ใช่ทาสรับใช้ “แม้ว” ด้าน ปธ.ศาล รธน. แจงเหตุไม่รับคำร้อง “ปึ้ง” ยุบพรรค ปชป. ต่างจากการรับคำร้องนี้
วันนี้ (6 ก.ค.) เวลา 10.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธาน ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนผู้ถูกร้องและพยานในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ทั้งนี้เป็นการไต่สวนวันที่ 2 ของคดีนี้ ซึ่งพยานผู้ถูกร้องที่จะเข้ารับการไต่สวนมีทั้งสิ้น 8 ปาก ประกอบด้วย นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ตัวแทนประธานรัฐสภา ผู้ถูกร้องที่ 1 นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตัวแทนคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 3 นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกร้องที่ 4 นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ตัวแทนผู้ถูกร้องที่ 5 และนายภราดร ปริศนานันทกุล ผู้ถูกร้องที่ 6 รวมถึงพยานผู้ถูกร้อง คือ นายโภคิน พลกุล อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
การไต่สวนในครั้งนี้ยังคงได้รับความสนใจจากฝ่ายผู้ถูกร้องและฝ่ายผู้ร้องเข้าสังเกตการไต่สวนเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับสื่อมวลชน และกลุ่มมวลชนต่างๆ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดให้ผู้สนใจได้ติดตามรับชมรับฟังการไต่สวน แต่ก็ได้เกิดข่าวลือไปทั่วสำนักงานว่าระหว่าง
ก่อนเริ่มกระบวนการไต่สวนก็ได้เกิดข่าวลือทั่วสำนักงานว่าเจ้าหน้าที่ในห้องพิจารณาคดีได้มีการแจ้งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบว่าองค์คณะที่จะออกนั่งบัลลังก์ในการไต่สวนวันนี้จะเหลือเพียง 5 คน จากที่มีอยู่ 8 คน ท่ามกลางกระแสข่าวว่าผู้ถูกร้องจะกดดันให้ตุลาการอีก 3 คนคือนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายนุรักษ์ มาประณีต นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการถอนตัว ทำให้สื่อมวลชนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและทราบว่าไม่มีการแจ้งข้อความดังกล่าวให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบ เนื่องจากโดยปกติเจ้าหน้าที่จะแจ้งแนวทางในการปฏิบัติตนของผู้ร้องและผู้ถูกร้องระหว่างเข้าและรับฟังการไต่สวน
และเมื่อคณะตุลาการออกนั่งบัลลังก์ นายวสันต์ก็ได้แจ้งถึงเหตุที่ออกนั่งบังลังก์ไต่สวนช้า ว่าเนื่องจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมกรณีที่นายนุรักษ์ นายสุพจน์ได้ขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนได้เสียเพราะเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 แต่ที่ประชุมคณะตุลาการฯ ไม่อนุญาตเนื่องจากไม่เข้าตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในข้อ 10 ของข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย2550 ส่วนตนเองซึ่งถูกเปิดคลิปเผยแพร่ว่าเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2554 อย่างนั้นอย่างนี้ก็ได้ยื่นขอตัวถอน แต่ที่ประชุมคณะตุลาการก็เห็นว่าถ้อยคำที่ตนได้แสดงความคิดเห็นนั้นไม่ใกล้เคียงกับการพิจารณาคำร้องนี้ และไม่อนุญาตให้ถอนตัว ตนเองเลยจำเป็นต้องขึ้นมานั่งทำหน้าที่ตรงนี้อีกครั้ง
จากนั้นนายวสันต์ก็ได้แจ้งคู่กรณีทราบว่าคณะตุลาการมอบหมายให้นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการ เป็นผู้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาวันนี้ และได้เริ่มไต่สวนพยานปากแรกคือนายโภคิน พลกุล อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด ที่ชี้แจงว่า คำร้องนี้ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดกลั่นกรองก่อนชั้นหนึ่ง โดยที่ถ้อยคำว่า “ผู้ทราบ” ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น ไม่ยืนยันว่าผู้นั้นจะรับรู้ถึงการกระทำของผู้ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจริง รัฐธรรมนูญจึงได้มอบหมายให้อัยการสูงสุดเป็นผู้วินิจฉัยก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้เมื่อปี 2549
“รัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไม่เคยมีบทบัญญัติว่าด้วยการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถ้าดูตามทฤษฎีรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายมหาชนแล้วจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้มีการแก้ไขได้ยกเว้นกรณีที่ระบุข้อห้ามเท่านั้น คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ที่สำคัญในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะได้กำหนดให้ประธานรัฐสภาวินจฉัยหากมีการกระทำดังกล่าวเกิดขั้นเพื่อป้องกันอีกชั้นหนึ่ง จึงไม่เข้าใจว่าข้อหาดังกล่าวไปเอาความคิดจากที่ไหนที่ห้ามแก้ไขทั้งฉบับ ดังนั้น ถ้าแบบนั้นรัฐธรรมนูญก็ควรกำหนดข้อห้ามว่าด้วยการไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไปเลย”
นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ทุกขั้นตอนเป็นเหมือนเมื่อครั้งพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการยึดโยงประชาชนชัดเจนมีการเลือกตั้งสมาชิก ส.ส.ร.และเมื่อทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็นำกลับไปให้ประชาชนพิจารณาผ่านการประชามติอีก ถ้าบอกว่าต้องทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน คิดว่าไม่ถูกเพราะเหมือนเป็นการทำให้รัฐธรรมนูญหนึ่งมีความสูงส่งกว่ารัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับถือว่ามีสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเหมือนกัน และถ้าคิดแบบนี้รัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหารเป็นรัฐธรรมนูญต่ำที่สุดใช่หรือไม่
จากนั้นฝ่ายผู้ร้องได้มีการซักค้านโดยการซักค้านของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ และนายวรินทร์เทียมจรัส ผู้ร้องที่ 3 และ 4 กลายเป็นการวิวาทะคารมกันระหว่าง 2 ฝ่าย จนทำให้ตุลาการต้องคอยห้ามปรามว่า “อย่าทะเลาะกัน” โดยนายวิรัตน์ซักว่า หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐสภาชุดปัจจุบันมีสถานะคงอยู่ต่อไปใช่หรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า ขึ้นอยู่ว่า ส.ส.ร.จะกำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างไรในบทเฉพาะกาล ในอดีตเคยมีการระบุให้รัฐบาลและรัฐสภาดำรงอยู่ต่อไปจนครบวาระ หรือกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที จึงไม่มีบรรทัดฐานตายตัว
และเมื่อนายวิรัตน์ถามว่า “ในฐานะที่นายโภคินเคยเป็นอดีตประธานรัฐสภาสมัยรัฐบาลไทยรักไทย จึงมีความรักใคร่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาตลอดใช่หรือไม่” ส่งผลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งห้ามไม่ให้นายวิรัตน์ถามคำถามในลักษณะนี้ เพราะไม่อยากให้พาดพิงบุคคลภายนอก ซึ่งนายวิรัตน์ได้ยอมถอนคำพูดดังกล่าวออกไป จากนั้นนายวิรัตน์ได้ใช้สิทธิถามต่ออีกว่า “สมัยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติสนับสนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ ใช่หรือไม่” นายโภคินชี้แจงว่า “รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากเสียงข้างมากในสภาฯ ทำให้การใช้สิทธิงดออกเสียงย่อมหมายถึงการไม่เห็นด้วย ผมไม่อยากดัดจริต เพราะตอนหาเสียงก็สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ ผมไม่อยากหลอกตัวเอง”
นายวสันต์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้กำชับทั้งสองฝ่ายว่า “ไม่อยากให้ถามในประเด็นลักษณะนี้อีกเพราะข้อเท็จจริงเหล่านี้รู้ๆ กันอยู่ว่าใครพรรคพวกใคร และการชี้แจงของพยานรายนี้ก็เป็นการให้ความเห็นเชิงวิชาการไม่มีความจำเป็นต้องสอบถามข้อเท็จจริงแบบนั้น นอกจากนี้ ขอฝากไปยังทั้งสองฝ่ายว่าเวลาจะพูดไม่ต้องพูดว่าตุลาการศาลที่เคารพเพราะออกไปข้างนอกพวกท่านก็ด่าพวกผมอยู่ และที่นี่ก็ไม่ใช่สภา”
ด้าน นายวิรินทร์ซักค้านว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 212 เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ละเมิดสิทธิของประชาชน ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญตามกฎหมายบัญญัติ อยากรู้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องใช้หลักเกณฑ์ใด นายโภคินก็ชี้แจงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแก้ไขอย่างไรก็ได้ ไม่ได้มีการวางหลักเกณฑ์ไว้ตายตัว เพียงแต่ที่กำหนดไว้คือห้ามแก้ไขที่เป็นการล้มล้างการปกครอง และเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ และรัฐธรรมนูญมาตรา 212 เป็นคนละเรื่องกับกรณีนี้ เพราะการร้องตามมาตรา 212 ต้องเป็นกรณีที่สิทธิของคนผู้นั้นถูกละเมิดโดยการออกกฎหมาย แต่การแก้ไขมาตรา 291 ต้องเป็นการร้องตามมาตรา 68 ที่ระบุความผิดว่าต้องเป็นการใช้สิทธิล้มล้างการปกครอง และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ อีกทั้งการแก้ไขมาตรา 291 ทั้ง 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา มีอำนาจเสนอขอแก้ไข และรัฐธรรมนูญ 2550 ยังรองรับให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 5 หมื่นคนเข้าชื่อขอแก้ไขได้ ที่ถามว่าใช้อำนาจตามมาตราใด ใช้หลักเกณฑ์ใดมาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ก็มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญเปิดให้แก้ไขตัวเอง หลักเกณฑ์ก็เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ ถ้าคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่างนั้นรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เป็นการล้มล้างด้วย
หลังการซักค้านของผู้ร้องแล้ว นายวสันต์ได้สอบถามนายโภคิน ถึงกรณีที่นายโภคินกล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2549 ไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า การยื่นคำร้องตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 หรือก็คือมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญจะยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ว่า คงจะหมายถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 12/2549 ที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีขอนายกพระราชทานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 40 ไม่ทราบว่านายโภคินเคยได้อ่านคำวินิจฉัยนี้ของศาลรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง อยากจะฟังความเห็นของนายโภคินในฐานะที่เคยเป็นตุลาการว่า ในคำวินิจฉัยดังกล่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณานั้นแตกต่างอย่างไรจากกรณีที่ศาลรับวินิจฉัยคดีนี้
นายโภคินก็นิ่งไประยะหนึ่ง นายวสันต์จึงกล่าวต่อว่า “ข้อกฎหมาย ถ้าเราเห็นไม่ตรงกันไม่มีใครว่าอะไร แต่ข้อมูลต้องตรงกัน ถ้าเช่นนั้นศาลจะอธิบายให้ทราบแล้วกัน ในครั้งนั้น นายสุรพงษ์ยื่นตรงขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์เลยทันที ถือเป็นการข้ามขั้นตอนตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ กล่าวคือต้องให้เลิกการกระทำก่อน จึงจะยุบได้ นี่จู่ๆ มายื่นให้ยุบโดยไม่มีการขอให้ห้ามการกระทำ เหมือนกับไม่ได้ฟ้องใคร ให้ลงโทษจำคุกเลย แต่ไปขอให้ริบของกลาง มันเป็นไปไม่ได้อยู่ในตัว กรุณาทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงนี้ ความเห็นต่างกันไม่มีใครว่า แต่ข้อความที่อ้างมาเพียงบอกว่าต้องผ่านมาตรา 63 วรรค 2 ก่อนเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้อย่างนั้นเลย”
ขณะที่ นายโภคินกล่าวว่า ตรงนี้เป็นคำวินิจฉัย ซึ่งตนเองไม่เคยเห็นตัวคำร้องว่าร้องว่าอย่างไร แต่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ระบุว่าต้องผ่านการพิจารณาของอัยการสูงสุดก่อน นายวสันต์จึงกล่าวว่า ความเห็นนั้นเป็นการลอกข้อความของมาตรา 63 วรรค 2 ลงมาเท่านั้น แต่ศาลไม่ได้ชี้ว่าต้องไปผ่านอัยการสูงสุดก่อนเสมอไปแต่อย่างใด ดังนั้นคงเข้าใจแล้วว่าสองคำร้องนี้ต่างกันอย่างไร
ทั้งนี้ การไต่สวนเฉพาะในส่วนของนายโภคินใช้เวลายาวนานกว่า 2 ชั่วโมง ทำให้คณะตุลาการฯ ต้องเลื่อนการชี้แจงของพยานอีก 4 ปากที่กำหนดไว้ว่าจะเข้าไต่สวนในครึ่งเช้าออกไปเป็นภาคบ่าย ซึ่งเมื่อการไต่สวนในช่วงบ่ายเริ่มขึ้น นายนุรักษ์ได้แจ้งว่า นายสามารถ แก้วมีชัย ตัวแทนผู้ถูกร้องที่ 5 ที่เดิมศาลฯ จัดให้เข้ารับการไต่สวนเป็นปากที่ 2 นั้น พบว่าไม่ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงมาก่อน ทำให้ฝ่ายผู้ร้องไม่ได้โต้แย้ง รวมทั้งไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีพยาน การที่จะขอเข้าไต่สวนจึงไม่สามารถทำได้ ส่วนบันทึกถ้อยคำชี้แจงที่ยื่นเข้ามาศาลก็จะรับไว้ และสั่งให้งดสืบพยานปากนี้ จากนั้นจึงเริ่มมีการไต่สวนพยานผู้ถูกร้องปากต่อไป คือนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล