xs
xsm
sm
md
lg

ศาลเปิดไต่สวนฉีกรัฐธรรมนูญผิดหรือไม่ ดวลเดือดเช้านี้(5ก.ค.)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไต่สวนปมแก้ไขรธน. ฝ่ายผู้ร้องชวดพยานบุคคลสำคัญอย่าง "อานันท์ -กาญจนารัตน์" ได้สิทธิ์แสดงให้ศาลเห็นเหตุชวนเชื่อล้มการปกครองเช้าวันนี้ ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้องยัดชื่อ"คณิณ-อุดมเดช"เป็นพยานเพิ่มเติม พร้อมส่ง"วรวัจน์"นำทีมหาเหตุผลหักล้าง 6ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดห้องพิจารณาคดีตั้งแต่ช่วงเช้า 5 ก.ค.55 เพื่อไต่สวนคำร้องคดีที่มีการร้องว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไปดำเนินการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่เป็นบทบัญญัติในเรื่องการป้องกันไม่ให้มีการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

โดยในวันแรกจะเป็นการพิจารณาไต่สวนในส่วนของผู้ร้องที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ อันประกอบด้วย พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม กับพวก-วันชัย ชำนาญกิจ ผู้ยื่นคำร้องที่๒ นายวิรัช กัลยาศิริ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ผู้ยื่นคำร้องที่๓ นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตสว.สรรหา ผู้ยื่นคำร้องที่๔ นายบวร ยสินทร และคณะผู้ร้องที่ ๕

จากนั้นในวันศุกร์ที่ 6 ก.ค. ก็จะเป็นคิวการไต่สวนคดีในส่วนของผู้ถูกร้องคือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ผู้ถูกร้องที่ ๑ คณะรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ ๒ พรรคเพื่อไทยผู้ถูกร้องที่ ๓ พรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกร้องที่ ๔ นายสุนัย จุลพงศธร และคณะผู้ถูกร้องที่ ๕ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะผู้ถูกร้องที่ ๖

ซึ่งขั้นตอนก็จะเป็นเหมือนกับคดีอื่นๆ ไม่ได้มีอะไรพิเศษแตกต่างกันไป คือ ฝ่ายผู้ร้อง-ฝ่ายผู้ถูกร้องก็จะทำการชี้แจง-ตอบข้อซักถามของศาลรัฐธรรมนูญ เช่นการอธิบายจากผู้ร้องว่าเหตุใดจึงเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะเป็นการล้มล้างการปกครองหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยตามมาตรา 68 ซึ่งฝ่ายผู้ร้องก็จะต้องอธิบายหรือสรุปความเห็น-ข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายให้ศาลรับฟัง

ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้อง ก็ต้องอธิบายชี้แจงทั้งข้อกฎหมาย-ข้อเท็จจริงต่างๆมาหักล้าง ข้อกล่าวหาของฝ่ายผู้ร้องเพื่อทำลายน้ำหนักฝ่ายตรงข้ามคือทำให้ศาลเห็นว่าการแก้ไขรธน.มาตรา 291 โดยการเพิ่มช่องทางการแก้ไขรธน.จากปัจจุบันที่การเสนอญัตติขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ 3 ช่องทางคือ คณะรัฐมนตรี -สมาชิกรัฐสภาและประชาชนลงชื่อ 5 หมื่นชื่อ แต่ฝ่ายผู้ถูกร้องได้ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรธน.มาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ไปทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ได้เป็นการขัดหรือฝ่าฝืนมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญตามที่มีการร้องมายังศาลรธน.ในครั้งนี้แต่อย่างใด

สุดท้ายเมื่อฟังการชี้แจง-แก้ข้อกล่าวหาของทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลจะรับฟังและเชื่อข้อมูลของฝ่ายไหน ก็ต้องแล้วแต่ดุลยพินิจและการวินิจฉัยของศาลรธน.

นอกจากการดวลกันของฝ่ายผู้ร้อง-ผู้ถูกร้องแล้ว ปัจจัยที่สำคัญซึ่งจะมีผลต่อการวินิจฉัยของศาลอย่างมากก็คือ พยานบุคคล ซึ่งทางฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้ยื่นบัญชีพยานเอาไว้กับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

โดยฝ่ายผู้ร้องยื่นบัญชีไปหลายคน ต่างฝ่ายต่างก็เอาคนที่คิดว่าเกี่ยวข้องมากที่สุดและจะเป็นพยานที่มีน้ำหนักให้ชนะในคำร้องนี้

จนพบว่าได้เกิดปัญหาขึ้นเพราะผู้ร้องบางกลุ่มไปยื่นรายชื่อต่อสำนักงานศาลรธน.โดยที่ไม่ได้มีการติดต่อไปยังบุคคลคนนั้นเพื่อขออนุญาตหรือทาบทามไว้ก่อน แต่มีข่าวออกไปแล้วก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ฝ่ายผู้ร้องซึ่งเป็นคนไปเสนอชื่อจึงต้องมาตามถอนชื่อออกภายหลังเช่นกรณีของพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ที่เสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุม อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี40 โดยที่นายอานันท์ไม่ทราบเรื่องมาก่อน สุดท้าย พลเอกสมเจตน์ ก็ต้องขอถอนชื่อนายอานันท์ออกไปในที่สุด

หรือกรณี นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง ที่มีชื่อปรากฏเป็นข่าวว่าถูกเสนอชื่อจากฝ่ายผู้ร้องให้เป็นพยานด้วย ก็ปรากฏว่า ทางสำนักงานศาลปกครองก็ออกมาชี้แจงว่านางกาญจนารัตน์ ยังไม่เคยได้รับการติดต่อประสานงานจากฝ่ายผู้ร้องหรือได้รับแจ้งจากศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เข้าไปเป็นพยานบุคคลในการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และประกาศว่าไม่ประสงค์ที่จะไปเป็นพยานบุคคลในการให้ถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญ

จึงทำให้การยื่นบัญชีพยานในคำร้องนี้เกิดความปั่นป่วนพอสมควร ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจะยื่นรายชื่อเข้าไปเพิ่มเติมจากฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องในช่วงสุดท้าย เช่นที่ฝ่ายผู้ถูกร้อง ก็มีการเสนอชื่อพยานบุคคลอย่าง คณิณ บุญสุวรรณ อดีตส.ส.ร.ปี 40 และอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาลเข้าไปเพิ่มเติม ก่อนหน้าที่ศาลจะสรุปความเห็นว่าจะให้ใครเป็นพยานบุคคลมาชี้แจงต่อศาล

เหตุที่ทั้งสองฝ่ายพยายามหาพยานที่คิดว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ฝั่งตัวเองชนะมาเป็นพยานในคดีนี้ เพราะข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายบางเรื่องที่คลุมเคลือผู้จะอธิบายได้ดีที่สุดก็คือ พยานบุคคล ซึ่งจะมาช่วยไขความกระจ่างให้ อาทิ เจตนารมณ์ของผู้ยกร่างรธน.ปี 50 ทั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างมาตรา 68 และมาตรา 291 คืออะไร และหากจะมีการแก้ไขรธน.โดยการฉีกรธน.ปี 50 ทั้งฉบับ ผ่านส.ส.ร.ทำได้หรือไม่

ขณะที่ฝ่ายผู้ร้องเตรียมพยานสำคัญไว้หลายปาก ฝ่ายผู้ถูกร้อง ก็มีการเตรียมการมาเป็นอย่างดีทั้งหนังสือชี้แจงและการซักซ้อมข้อกฎหมายเพื่อไปชี้แจงต่อศาลรธน.อย่างเช่น ฝ่ายคณะรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในสถานะผู้ถูกร้อง ที่ได้มอบหมายให้วรวัจน์ เอื้ออภิญากุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมคอยไปชี้แจงต่อศาลรธน.โดยมีกุนซือสำคัญคอยตามไปช่วยคือ อัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการคณะกรรมการกฤษฏีกา

จึงต้องรอดู การไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 และ 6 กรกฏาคม จะออกมาอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น