xs
xsm
sm
md
lg

“รัฐบาล-เพื่อไทย”จ้องแก้ ม.68 ตัด-ลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

ข่าวปนคน คนปนข่าว
 
วันจันทร์ที่ 16 กรกฏาคม นี้ แกนนำและส.ส.ของพรรคเพื่อไทยกัน นัดประชุมเพื่อหารือกำหนดท่าทีของพรรคกันว่าจะเอาอย่างไร กับการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ซึ่งจะเป็นการหารือท่าทีของพรรค แต่ก็จะเป็นท่าทีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ร่วมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรธน.มาตรา 291 เจ้าปัญหาด้วยเช่นกัน

หลังมีคำวินิจฉัยของศาลรธน. ออกมาช่วงบ่ายแก่ๆ วันศุกร์ที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อไทยมีการหารือกันไปแล้ว แต่ยังเป็นแค่ระดับแกนนำพรรคไม่กี่คน ไม่มีคณะผู้บริหารพรรค-คณะยุทธศาสตร์พรรค-กรรมการบริหารพรรค-ส.ส.ของพรรคเข้าประชุมแบบชุดใหญ่

ทำให้การหารือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ยังอยู่ในสภาพมึนๆ กันอยู่ว่าแล้วจะเอาอย่างไร จะเดินหน้าต่อโหวตเห็นชอบวาระ 3 ไปเลยโดยอ้างว่าคำวินิจฉัยไม่ได้ชี้ชัดว่า

ให้หยุดดำเนินการ หรือจะถอยหลังกลับไปทำประชามติก่อนหากจะแก้ทั้งฉบับ หรือจะเอาตามที่ศาลรธน.เสนอความเห็นแนะนำคือให้แก้ไขรายมาตรา การประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ไร้ข้อสรุปใดๆ จึงมานัดหมายประชุมกันอีกรอบ16 ก.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยคำวินิจฉัยของศาลรธน. ที่แม้ไม่ได้ชี้ชัดว่ากระบวนการแก้ไขรธน.ที่ผ่านมาทั้งหมดตั้งแต่เสนอร่างแก้ไขรธน.มาตรา 291 จนมาถึงการโหวตของที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 1 และ 2 รวมถึงร่างที่ค้างรอการโหวตวาระ 3 จะให้มีผลต้องยุติ แต่การที่คำวินิจฉัยระบุว่า เมื่อประชาชนเป็นผู้สถาปนาอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติ หากจะยกเลิกแล้วยกร่างใหม่ก็ควร ที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะ มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

รวมถึงการระบุในคำวินิจฉัยว่า ให้รัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมและเป็น อำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ อันจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 291

ด้วยคำวินิจฉัยที่ออกมาเช่นนี้ แม้จะไม่ชัด แต่ก็เหมือนกับบอกไปในตัว ว่าที่ถูกที่ควรแล้วการยกเลิกรธน.ปี 50 และยกร่างใหม่ควรต้องทำอย่างไร

ดังนั้น ทางเลือกของพรรคเพื่อไทยและผู้ถูกร้องเดิมอย่างครม.และพรรคชาติไทยพัฒนา ก็มีแค่ 3 ทางเลือกเท่านั้นแล้วหากจะเดินหน้าแก้ไขรธน.ต่อไป

คือ 1. การเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 โดยการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตทันทีเมื่อสภาฯเปิดประชุม อันเป็นทางเลือกที่สุ่มเสี่ยงทางการเมืองมากเหลือเกินว่าจะเกิดปัญหาการตีความทางกฎหมายขึ้นมาอีกไม่จบสิ้น ซึ่งทางเพื่อไทยแม้ส.ส.หลายคนจะเห็นด้วยโดยอ้างว่าเพื่อรักษากลไกรัฐสภาเอาไว้ไม่ไปยอมศาลรธน.ทุกคราวไปและน่าจะทำได้โดยอ้างว่าคำวินิจฉัยไม่ได้ระบุว่าให้ยุติการโหวตวาระ 3

แต่เชื่อว่าระดับแกนนำพรรคโดยเฉพาะพวกที่เป็นรัฐมนตรี รวมถึงแม้แต่ตัวยิ่งลักษณ์ และทักษิณ ชินวัตร คงไม่อยากเสี่ยงจะทำเช่นนี้

2. การทำตามคำแนะนำที่อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรธน.ทำประชามติถามความเห็นประชาชนก่อน
แต่ก็มีปัญหาให้เพื่อไทยต้องขบคิดกันอีกว่าแล้วจะทำประชามติแบบไหน ตอนไหน เช่น จะย้อนกลับไปทำประชามติ ก่อนโหวตวาระสาม คือกลับไปถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรธน.ครั้งนี้หรือไม่ หรือจะทำประชามติหลังโหวตวาระสามไปแล้ว คือให้ประชามติว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไปยกร่างรธน.หรือไม่ หากประชามติ ก็ไม่ต้องมีการเลือกส.ส.ร.ทั้ง 99 คน ถ้าหากประชามติผ่านก็ดำเนินการเลือกส.ส.ร.ต่อไปเลย

และทางเลือกสุดท้าย 3. การแก้ไขเป็นรายมาตรา ก็คือยกเลิกการแก้ไขรธน.ที่ผ่านมาทั้งหมด แล้วก็แก้ไขรธน.รายมาตราแบบที่สมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยทำก่อนเลือกตั้งปี 54 โดยเอาประเด็นสำคัญในรธน. 50 มาแก้ไขไปเลยรายมาตราว่าจะเอามาตราไหน แก้ไขหรือยกเลิกอย่างไร

ซึ่งก็มีการแพลมมาแล้วจากพวกส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทยรวมถึงคนในรัฐบาลหลังแผนการที่เพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร วางไว้ในการยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จผ่านการยกเลิกรธน.ฉบับ 50 แล้วไปยกร่างรธน.ฉบับใหม่ต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญขวางลำ

ดังนั้น ลำดับแรกหากจะใช้วิธีการแก้ไขรธน.รายมาตรา ซึ่งจะเร็วกว่า การร่างรธน.ฉบับใหม่อยู่แล้ว สิ่งที่ต้องเร่งทำก็คือต้องจัดการกับศาลรธน.ก่อนเลยด้วยการแก้มาตรา 68 ก่อนเพื่อปิดช่องไม่ให้ศาลรธน.พิจารณาคำร้องขัดมาตรา 68 ได้เองโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด จะได้จำกัดขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ เพื่อไม่เปิดช่องให้ศาลรธน.มาเป็นเสี้ยนหนามอะไรอีกต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่า เพื่อไทย รวมถึงรัฐบาลเอง ที่ก็คงจะประชุมกันเรื่องนี้กันเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 17 กรกฏาคมนี้ เพื่อรับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ รวมถึงครม.คงได้ร่วมแสดงความคิดเห็นกันเต็มที่ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป

แต่ประเมินแล้ว ทั้งพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ก็คงยังไม่มีบทสรุปอะไรออกมาในตอนนี้จนถึงขั้นสรุปออกมาเป็นมติอะไรอย่างเป็นทางการเพื่อผูกมัดตัวเองว่าจะทำอย่างไร ทำแบบไหน ให้ยุ่งยากไปทำไม

เนื่องจากยังเหลือเวลาร่วม 16 วันกว่าสภาฯจะเปิดในวันที่ 1 สิงหาคม ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ทุกอย่างค่อยๆคิด หาทางออกและทางเลือกที่ทำแล้วฝ่ายตัวเองทำแล้วได้เปรียบมากที่สุดและไม่เกิดปัญหาในข้อกฎหมายตามมามากที่สุด ก็เอาทางเลือกนั้น

ความชัดเจนของเรื่องนี้ จึงน่าจะรอถึงช่วงใกล้ๆ วันที่ 1สิงหาคม ก่อนสภาฯจะเปิด ไม่แน่ว่าอาจมีทางเลือกแบบแปลกๆที่คนคิดไม่ถึงมาเพิ่ม นอกจาก 3 ทางเลือกดังกล่าวข้างต้นก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น