xs
xsm
sm
md
lg

สัปดาห์อันตรายทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ “คดีฉีกรธน.”

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด


ข่าวปนคน คนปนข่าว

ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเพื่อลงมติและอ่านคำวินิจฉัยกลางในคำร้องคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยในวันศุกร์ที่ 6 กรกฏาคมนี้ หลังมีการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องเสร็จสิ้นลงในวันเดียวกัน เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

อย่างไรก็ตาม หากถามถึงความเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินในวันนั้นเลยก็มีความเป็นไปได้ระดับหนึ่ง เพราะในแง่ความซับซ้อนทางข้อกฎหมายแล้ว ต้องถือว่าคดีนี้เป็นคำร้องที่ไม่มีอะไรยุ่งยากมากนักโดยเฉพาะในแง่ข้อเท็จจริง

ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพื่อล้มล้างการปกครอง การแก้ไขรธน.ที่อยู่ระหว่างการรอโหวตวาระ 3 ซึ่งมองว่าการแก้ไขรธน.ครั้งนี้ยังเป็นแค่กระบวนการเริ่มต้นเท่านั้น การไต่สวนข้อเท็จจริงอะไรจึงไม่ยุ่งยาก

จะเน้นการดูข้อกฎหมาย กับการชั่งน้ำหนักของศาลในเรื่องเจตนาของผู้เสนอร่างแก้ไขรธน.มากกว่า

ขณะเดียวกัน การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชี้ขาดเลยหลังรับฟังข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายจากทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องรวมถึงพยานบุคคลของทั้งสองฝ่าย จะเป็นการทำให้แรงกดดันที่จะตามมาในช่วงการรอวันลงมติและอ่านคำวินิจฉัยหลังศาลไต่สวนคดีเสร็จสิ้นในวันที่ 6 ก.ค. หายไป เพราะเลือกตัดสินเลยทันทีในวันดังกล่าว ทุกอย่างสิ้นกระแสความ

ส่วนเสียงวิจารณ์ที่จะตามมาทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยปกติอยู่แล้ว ศาลคงไม่คิดอะไรมาก

ขณะที่ฝ่ายซึ่งไม่เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเลยในวันที่ 6 ก.ค. ก็มองว่า มันจะดูรวบรัดเกินไป แม้จะเป็นคำร้องที่ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก แต่ก็ควรทิ้งช่วงเวลาไว้บ้างเพื่อให้ตุลาการทั้งหมดได้มีการพิจารณาทบทวนคดีนี้ให้รอบด้านทั้งข้อมูลจากฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง รวมถึงตรวจทานข้อกฎหมาย คำชี้แจงจากพยานทุกคนให้ละเอียด

เนื่องจากเป็นคดีสำคัญและจะเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายในอนาคตได้

ยิ่งหากเป็นการลงมติที่ออกมาแล้ว “ไม่เป็นผลดี”กับฝ่ายผู้ถูกร้องคือ คณะรัฐมนตรี-พรรคเพื่อไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ถึงขั้นอาจมีผลตามมาถึงเรื่องการ “ยุบพรรค”ด้วยแล้ว หากศาลเร่งวินิจฉัยคดีเร็วเกินไป

ชนิดฟังคำชี้แจงฝ่ายผู้ถูกร้องเสร็จตอนเช้า แล้วนัดลงมติตอนบ่ายเลยในวันเดียวกัน ก็จะยิ่งทำให้ฝ่ายผู้ถูกร้องนำไปอ้างได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีธงหรือมีเจตนาจะขัดขวางล้มล้างการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

เพื่อหวังนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลและเตะลูกให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปขยายผลสู่การยุบพรรคเพื่อไทยและล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหมือนกับที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้เคยทำมาแล้ว ตอนคดียุบพรรคพลังประชาชน จนทำให้การเมืองเปลี่ยนขั้ว ประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทน

ก็ต้องรอดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการไต่สวนคำร้องคดีนี้แบบราบรื่นไหม ทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องจะงัดอะไรมาสู้กัน เพื่อทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเชื่อฝั่งตัวเองมากกว่ากัน รวมถึงต้องลุ้นกันว่า ศาลจะนัดลงมติกันเลยหรือไม่ในวันที่ 6 ก.ค.นี้

แต่ก่อนอื่นต้องรอดูผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 4 ก.ค.นี้ก่อนว่า ที่ประชุมจะพิจารณารายชื่อพยานบุคคลที่เข้าไต่สวนกับศาลรัฐธรรมนูญกันอย่างไร จะให้พยานเข้าชี้แจงต่อศาลฝั่งละกี่คนและมีใครบ้าง

หลังฝ่ายผู้ร้อง ได้ยื่นรายชื่อพยานบุคคลทั้งหมด 16 ปาก อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสมเนียม ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายคมสัน โพธิ์คง อดีต ส.ส.ร. 50 นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานกมธ.ยกร่างรธน.ปี 40เป็นต้น

ขณะที่ฝั่งผู้ถูกร้อง คือคณะรัฐมนตรี -พรรคเพื่อไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ยื่นรายชื่อพยานบุคคลทั้งหมด 4 ปาก ประกอบด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฏร นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

โดยตุลาการจะมีการประชุมหารือกันว่า ควรจะเรียกพยานคนไหนมาชี้แจงในวันไต่สวนคดี ซึ่งแน่นอนว่า คงเรียกได้แค่บางคนเท่านั้น ไม่สามารถเรียกได้หมดทุกคน ในส่วนของฝั่งผู้ถูกร้องนั้น ไม่น่าจะมีปัญหามากนักเพราะเสนอมาแค่ 4 ชื่อ แต่ฝั่งผู้ร้อง ที่เสนอไป 16 คน ดูแล้วคงต้องมีการตัดออกไปพอสมควรเพื่อให้การไต่สวนคำร้องไม่กินเวลามากและได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยคดี

เบื้องต้น สมฤทธิ์ ไชยวงศ์ รองโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า หลังเสร็จสิ้นกระบวนความวันที่ 6 ก.ค. ศาลจะยังไม่ได้กำหนดนัดวันฟังคำวินิจฉัย เนื่องจากต้องประมวลคำให้การทั้งสองฝ่ายก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนนั้นได้ข้อสรุปเพียงพอหรือไม่ ซึ่งหากหลักฐานเพียงพอก็สามารถนัดวันฟังคำวินิจฉัยได้

แต่รองโฆษกศาลรัฐธรรมนูญผู้นี้ก็ยอมรับกับสื่อมวลชนว่า มีความเป็นไปได้ว่าหากมีการไต่สวนเสร็จและได้ข้อสรุปภายในวันที่ 6 ก.ค. โดยศาลก็อาจจะอ่านคำวินิจฉัยได้ในวันเดียวกัน

รอบสัปดาห์นี้ จึงถือเป็นสัปดาห์อันตรายทางการเมืองที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะฝั่งทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย-ชาติไทยพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น