xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ เสนอยื่นศาล รธน.ตีความ 399 เสียงหนุนแก้ 291 ขัด รธน.หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีราชา เจริญพานิช
ที่ประชุม คกก.ที่ปรึกษา กม.รธน.ผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมเสนอ 2 แนวทาง ทั้งทำประชามติก่อนและหลังแก้ รธน.แสวงหาความเห็นพ้องสังคม ไม่ยึดพวกมากลากไป ด้าน “ศรีราชา” ชี้ สมควรยื่นศาล รธน.วินิจฉัย 399 สมาชิกรัฐสภารับหลักการแก้ ม.291 เพื่อยกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับทำได้หรือไม่

วันนี้ (22 มี.ค.) นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมว้า ที่ประชุมได้มีการอภิปรายในประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอหารือ กรณีที่สมาชิกรัฐสภา จำนวน 399 คน ลงมติรับหลักการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 50 หรือไม่ และข้อเสนอที่ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ถือเป็นการตั้งสภาฯซ้อนสภาฯหรือไม่

โดยที่ประชุมเห็นว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อสังคมกำลังมีการโต้แย้ง คณะกรรมการซึ่งทำงานด้านวิชาการก็ควรจะได้มีการนำเสนอข้อมูลในทางวิชาการ โดยมีความเห็นเป็น 2 แนวทาง คือ 1.รัฐธรรมนูญ 50 ได้รับการยอมรับโดยการทำประชามติจากประชาชน เพราฉะนั้นหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับควรจะดำเนินการทำประชามติถามประชาชน ว่า ควรแก้ไขทั้งฉบับหรือแก้ไขบางประเด็น ถ้าไม่มีการขอประชามติถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ และหากมีการยกร่างแก้ไขเสร็จแล้วก็ควรทำประชามติอีกครั้ง

2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องทำภายใต้เงื่อนไขที่ว่าไม่ใช่มีเสียงข้างมากลากไป จะทำอะไรก็ได้ เสียงส่วนน้อยต้องได้รับการเคารพ และจะต้องมีการวางหลักประกันในการแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันในสังคมให้มากที่สุด เพื่อที่อนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจขึ้น แล้วพบว่ามีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่จะมีการแก้ไขนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือเห็นพ้องต้องกันก็จะทำให้รัฐธรรมนูญนั้นขาดความมั่นคงได้ โดยทั้ง 2 ข้อเสนอคณะกรรมการฯก็จะมีการเสนอผู้ตรวจการฯพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯจะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เวลา 16.00 น.

ด้าน นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า เหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้นำประเด็นดังกล่าวนี้ไปหารือกับคณะกรรมการชุดนี้ เนื่องจากได้รับคำร้องจาก นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของสมาชิกรัฐสภา 399 คน ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ทั้งนี้ ส่วนตัวก็ยังเห็นว่าข้อเสนอของคณะกรรมการยังขาดความชัดเจน โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่ระบุว่า จะต้องมีการวางหลักประกันในการแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันในสังคมให้มากที่สุดนั้นยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม จึงน่าที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ตรวจการแผ่นดินอีก 2 ท่านว่าจะเห็นอย่างไร โดยในการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 27 มี.ค.นี้ จะมีการพิจารณากรณีดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น