“กรุงเทพโพลล์” สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ระบุวิกฤตยุโรปจะยืดเยื้อ ส่งออกมีปัญหาอีก 2-3 ปี ชี้ความขัดแย้งทางการเมืองจะเป็นข้อจำกัดทำให้เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบสูงกว่าที่ควรจะเป็น แนะรัฐลดรายจ่ายประชานิยม สร้างกำลังซื้อในประเทศ
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 20 แห่ง จำนวน 40 คน เรื่อง “โอกาสและข้อจำกัดของไทยในวิกฤตหนี้ยุโรป” พบว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความคิดเห็นต่อการปรับตัวของประเทศไทยเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติหนี้ในยุโรปและความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกด้วยการ ขยายความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน/ขยายการค้าในตลาดอื่นๆ นอกเหนือจากตลาด EU และตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดเก่า (ร้อยละ 41.9) และเห็นว่าควรใช้วิกฤตหนี้ของยุโรปเป็นบทเรียนในเรื่องการบริหารหนี้ บริหารการเงินของรัฐ โครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ และควรเร่งปฏิรูปการคลังอย่างจริงจัง (ร้อยละ 25.8)
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 37.5 เห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่สำคัญของไทยที่อาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้ในยุโรปและความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกในระดับที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น รองลงมาร้อยละ 20.9 เห็นว่าต้นทุนการผลิตสูง ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำ ข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐาน เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อระดับผลกระทบที่อาจจะได้รับ
โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยอันเป็นผลมาจากวิกฤตในยุโรปและความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น (ปัจจุบันถึงปีหน้า) คือ การส่งออกที่จะลดลง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยส่งออกอื่นๆ (ร้อยละ 88.9) รองลงมาเป็นความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน/ค่าเงินบาท (ร้อยละ 25.0) ส่วนผลกระทบในระยะยาว (อีก 2-3 ปีข้างหน้า) คือ การส่งออกที่จะยังลดลง/การปกป้องสินค้าของประเทศตนจากประเทศผู้นำเข้า (ร้อยละ 33.3) รองลงมาเป็นเสถียรภาพทางด้านการคลังจากการก่อหนี้เพื่อกระตุ้นหรือประคองเศรษฐกิจในประเทศซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 18.2) และการลงทุนของภาคเอกชน การลงทุนจากต่างประเทศที่จะน้อยลง (ร้อยละ 18.2)
สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลในการนำพาเศรษฐกิจของประเทศฝ่าวิกฤตหนี้ในยุโรปและความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก มีดังนี้ 1. รัฐควรใช้นโยบายการคลังที่มุ่งประสิทธิภาพ ลดรายจ่ายประชานิยม มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ (ร้อยละ 38.7) 2. สร้างกำลังซื้อ ขยายตลาดในประเทศ เพื่อทดแทนตลาดต่างประเทศ (ร้อยละ 19.4) 3. วิกฤตครั้งนี้คงจะยืดเยื้อ ขอให้รัฐบาลเตรียมพร้อมแม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเสมอ (ร้อยละ 16.1)