xs
xsm
sm
md
lg

“เจริญ วรรธนะสิน” หวั่นคนไทยหนี้เพิ่มหัวละ 3 หมื่น หลัง “กิตติรัตน์” เตรียมกู้เงิน 2.2 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อความในทวิตเตอร์ ศ.ดร.เจริญ วรรธนะสิน วันนี้ (3 ก.ค.)
นักวิชาการดัง โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ ห่วงรัฐบาลกำลังกู้เงิน 2.2 ล้านล้าน กำลังทำให้คนไทยตั้งแต่ทารกเป็นหนี้คนละ 3.1 หมื่นบาท เปรียบเสมือนครอบครัวมีรายได้ 5 หมื่น แต่กู้มา 5 หมื่น ตั้งคำถามถ้าไม่มีรายได้ใช้หนี้ 5 หมื่นอะไรจะเกิดขึ้น ชี้ โมเดลรัฐที่ดีต้องให้ประชาชนอดออม แต่กล้าลงทุนสร้างเสถียรภาพให้งอกเงย กังขาเงินที่กู้มาจะมีฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่

วันนี้ (3 ก.ค.) ศ.ดร.เจริญ วรรธนะสิน นักวิชาการ และนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความในเว็บไซต์ทวิตเตอร์ @charoen_online ระบุว่า ประเทศไทยกำลังจะกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท กำลังจะสร้างหนี้ให้คนไทยทุกคน คนละ 31,746 บาท เกิดมาลืมตามองโลกปั๊บ เด็กไทยคนนั้นจะมีหนี้สินทันที 31,746 บาท ตั้งสมมติฐานงบประมาณประจำปีของไทย 2 ล้านล้านบาท กู้ในจำนวนเท่ากัน ก็เหมือนครอบครัวหนึ่ง ค่าใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท กู้มา 50,000 บาท แล้วอนาคตของครอบครัวนั้นอยู่ที่ไหน ถ้ามีรายได้ที่จะใช้หนี้ 50,000 บาทต่อเดือนได้ก็รอด แต่ถ้าไม่มี อะไรจะเกิดขึ้นกับครอบครัวหรือประเทศไทย?

“โมเดลของรัฐที่ดี ต้องสร้างตัวอย่างที่ดีให้ประชาชาติประหยัดอดออม แต่กล้าลงทุนสร้างเสถียรภาพให้แก่ชาติ และทรัพย์สินของชาติให้งอกเงย ไม่ใช่กู้ ที่สำคัญคือ ไม่มีหลักประกันว่าเงินที่กู้มานั้น จะหลุดรอดจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้หรือไม่? นี่คือ ปัญหาใหญ่ที่ประชาชนต้องคอยจับตามองให้ดี” นายเจริญ กล่าว และตอบคำถามกับผู้ที่ติดตามถึงเหตุผลที่จะมีการกู้เงินจำนวนดังกล่าว ว่า การกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล บอกว่า จะไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคลุมเครือมาก เพราะแจกเงินซื้อเสียงก็เป็นการสร้างพื้นฐาน

ก่อนหน้านี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยเมื่อวานนี้ (2 ก.ค.) ว่า ขณะนี้มีแนวคิดที่จะกู้เงิน ผ่านการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ. ... วงเงินประมาณ 1.6-2 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 7 ปีข้างหน้า โดยคาดว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในอีก 6 เดือนข้างหน้า เพื่อให้การลงทุนในโครงการสำคัญต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า การพัฒนาสนามบิน ท่าเรือ ที่ควรจะดำเนินการมาตั้งนานแล้ว แต่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงจะทำบัญชีแยกต่างหาก ออกมาจากการระบบงบประมาณ มีการแยกการกู้เงิน และใช้เงินในโครงการต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ยอมรับว่า การกู้เงินนอกงบประมาณเป็นการซุกการขาดดุล แต่เป็นแนวทางหนึ่งในการรวมโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มาพิจารณาพร้อมกันในที่เดียว ไม่ต้องไปซุกไว้ในงบประมาณประจำปีที่ไม่รู้ว่ามีการทำโครงการอะไรบ้าง ซึ่งแนวคิดในการกู้เงินดังกล่าวอาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้าง แต่ก็พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท, พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555, พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555, พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 หรือ พ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท จากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ ฝ่ายค้านมองว่า เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ และก่อนหน้านี้ ได้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้การออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 1 และ วรรค 2 ส่วน พ.ร.ก.โอนหนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น