รัฐบาลหารือ กสทช. แก้ปัญหาจอดำในอนาคต หลังเกิดเหตุทรู-แกรมมี่ “สุภิญญา” แจงต่อไปรายการใดออกฟรีทีวีต้องเผยแพร่ได้ทุกช่อง รับหมดหนทางอดดูนัดชิงชนะเลิศ แง้มไอเดียจับมือประมูล หากเจอปัญหาใหญ่ โทษแกรมมี่แข่งขันทางการตลาดไม่เผื่อแผ่คนอื่น วอนรัฐบาลประสานไทยคมช่วยแก้ปัญหาโฆษณาเกินจริงทางทีวีดาวเทียม
วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีจอดำฟุตบอลยูโร 2012 ว่า ได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้ 1. มีข้อกติการร่วมกันระหว่าง สคบ. และ กสทช.ว่า ต่อไปนี้ฟรีทีวีจะบล็อกสัญญาณไม่ได้ และจะต้องมีการออกกฎหมายมาบังคับใช้
2. จะกำหนดรายการที่ต้องถ่ายทอด เช่น โอลิมปิก ฟุตบอลโลก หรือรายการอะไรที่สำคัญๆ ที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะไปดำเนินการเป็นเจ้าของเพียงลำพังไม่ได้ โดยที่ สคบ. และ กสทช.จะบูรณาการกันทำงาน และ 3. จะควบคุมสื่อในด้านการโฆษณาผ่านทีวีทุกประเภทที่เป็นสิ่งต้องขออนุญาต เนื่องจากขณะนี้ทีวีดาวเทียมที่ออกโฆษณาไม่ได้ขออนุญาต และกลุ่มของการทำสัญญาลิขสิทธิ์ทีวี ต่อไปต้องควบคุมสัญญาโดย สคบ.จะไปดำเนินกฎกติกา โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประกาศกฎกติกาออกมา ซึ่งหมายความว่าหลังจากนี้จะไมมีใครแทรกแซงกระบวนการของสื่อ
ด้าน น.ส.สุภิญญากล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีนั้น ได้ข้อสรุปตรงกันว่า สถานการณ์ปัจจุบันทั้งรัฐบาล และ กสทช.ตกเป็นจำเลยของสังคมทั้งคู่จากการแก้ปัญหาที่ไม่ทันท่วงที เนื่องจากเรายังไม่มีกฎกติกา และมีปัญหาเรื่องสิทธิในการรับชมฟรีทีวีของประชาชน ซึ่งนายวรวัจน์เองก็คิดว่า ศาลแพ่งอาจจะเป็นตัวปลดล็อกได้ เพราะ กสทช.ไปไม่ถูกแล้ว ดังนั้น ในระยะยาวต่อจากนี้ กสทช.จะต้องออกกฎกติกา โดยการถ่ายทอดฟรีทีวีผ่านช่องทางทีวีดาวเทียมจะต้องถูกกฎหมาย ต่อไปรายการอะไรที่ออกจากฟรีทีวีต้องออกได้ทุกช่องทาง จะมาล็อกแบบทุกวันนี้ไม่ได้ อีกทั้งคนที่ไปซื้อลิขสิทธิ์มาก็ต้องรู้เงื่อนไขนี้ด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลในฐานะที่กำกับดูแลสื่อของรัฐจะประกาศนโยบายเรื่องนี้ด้วย
“เรื่องจอดำนั้น ขณะนี้ฟุตบอลยูโรก็จะหมดแล้ว ก็ต้องรับสภาพกัน และต้องรอดูด้วยว่าศาลแพ่งจะพิจารณาอย่างไร จะมีการปลดล็อกในนัดชิงชนะเลิศให้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่จะต้องแก้ปัญหาในครั้งหน้า กสทช.ก็จะเร่งออกเกณฑ์ เช่นเดียวกับรัฐบาลที่จะต้องไปประกาศนโยบายกับสื่อของรัฐต่อไป” น.ส.สุภิญญาระบุ
น.ส.สุภิญญาเปิดเผยด้วยว่า ในวันจันทร์ที่ 2 ก.ค.นี้ ทาง กสทช.จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการห้ามการบล็อกสัญญาณฟรีทีวี ขณะที่ระยะเวลาการทำร่างกฎหมายนั้น เนื่องจากมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่ทำประชาพิจารณ์ การประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมแล้วประมาณ 3-4 เดือน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะออกทันการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2014 ที่ประเทศบราซิลอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ในวันที่ 5 ก.ค. กสทช.จะเชิญทีวีพูล ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาชี้แจงเป็นหลักประกันว่า จะสามารถรับชมได้ทางฟรีทีวีได้ โดยที่ไม่มีการบล็อกสัญญาณ ขณะที่การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล ซึ่งบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไว้ล่วงหน้าแล้วนั้น ก็จะเชิญมาพูดคุยว่าจะมีแนวทางอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์จอดำอีก
น.ส.สุภิญญาระบุด้วยว่า สำหรับเรื่องลิขสิทธิ์ที่มีความกังวลกันว่า ในอนาคตอาจมีการแข่งขันกันแย่งซื้อลิขสิทธิ์สูง นายวรวัจน์จึงเสนอว่า ต่อไปถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นภัย ควรจะต้องรีบดูว่า กสทช.จะเข้าไปซื้อลิขสิทธิ์เองได้หรือไม่ แต่ตนเองก็ยังรับปากไม่ได้ เพราะต้องไปหารือกับคณะกรรมการ กสทช.ก่อน เช่น หากมีกรณีแย่งกันซื้อแล้วไปขายกล่องอย่างเดียว คนอื่นๆ ก็อาจจะไม่ได้ดู จะต้องมีการกำหนดหรือไม่ว่า หากเป็นเนื้อหาที่คนไทยควรได้ดู รัฐบาลกับ กสทช.จะร่วมกันซื้อเลยหรือไม่ หรือจะร่วมกันประมูลกับเอกชน ซึ่งมีหลายทางเลือก แต่ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีข้อสรุป เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ และอาจเกิดปัญหา คงต้องมีการหารือกันอีก
อย่างไรก็ตาม น.ส.สุภิญญายอมรับว่า สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นปีนี้ มีสาเหตุมาจากการแข่งขันของภาคธุรกิจที่รุนแรงขึ้น มีการรับชมฟรีทีวีผ่านทีวีดาวเทียม ซึ่งโมเดลธุรกิจไม่เหมือนกันและไม่มีกติกามาก่อน ส่งผลให้ธุรกิจเอกชนมีความแข็งแรงมากขึ้น และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เองก็ต้องการขึ้นตลาด ไม่เผื่อแผ่คนอื่นเพื่อให้ตัวเองขายกล่องได้ ถามว่าเป็นการแข่งขันหรือไม่ ก็เป็นการแข่งขัน แต่ถามว่าเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่ ก็ไม่เป็นธรรม ซึ่งเราก็ต้องออกฎเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
นอกจากนี้ น.ส.สุภิญญา ยังเปิดเผยด้วยว่า ได้มีการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการโฆษณาเกินจริงทางทีวีดาวเทียม โดยตนได้ขอร้องกับนายวรวัจน์ว่า ขณะนี้ กสทช.กำลังรับศึกหนักในเรื่องนี้ ซึ่งมีการขายยา อาหารเสริม เป็นจำนวนมาก แม้ กสทช.พยายามดำเนินการแก้ไขอยู่ ก็ยังแก้ไม่หมด ดังนั้น มาตรการที่จะแก้ไขปัญหานี้ คือ จะต้องไปขอความร่วมมือกับบริษัทไทคม เนื่องจากทีวีดาวเทียมเหล่านี้เป็นลูกค้าบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ดังนั้น จึงง่ายมากหากบริษัทไทยคมไปสร้างเงื่อนไขให้กับผู้ที่จะเช่ารายการว่า ต้องเคารพกฎหมาย สคบ. และองค์การอาหารและยา (อย.) ไม่ควรโฆษณาเกินจริง ตรงนี้จะช่วยได้เยอะ โดยได้ฝากให้นายวรวัจน์ไปหารือกับครม. และให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ในฐานะที่กำกับดูแลบริษัทไทยคม ให้ช่วยไปประสานให้