“จตุพร” ยื่นหนังสือต่อศาล รธน.ให้ชี้แจงเหตุผลการยื่นขอถอนประกันคดีก่อการร้าย ยันไม่ได้ปราศรัยข่มขู่ ยุยงให้มวลชนไปคุกคาม โวยการวินิจฉัยให้พ้น ส.ส.ทั้งที่เป็นคู่กรณีกันในคดีอาญาไม่ถูกต้อง ท้าประธานศาลฯ แจ้งความหากคนขับรถถูกโทรศัพท์ขู่จริง ระบุหากไม่มีการชี้แจงจะไปยื่นขอความเมตตาต่ออธิบดีศาลอาญา และประธานศาลฎีกา ส่วนการดำเนินคดีต่อตุลาการจะขอหารือทีมกฎหมายก่อน
วันนี้ ( 26 มิ.ย.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.). พร้อมด้วย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย นายยศวริศ ชูกล่อม ที่ปรึกษารมช. มหาดไทย นายสมหวัง อัสราษี รองประธาน นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดง จำนวน กว่า 30 คน ได้เข้ายื่นหนังสือขอให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจง เรื่องการกระทำของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และคณะตุลาการฯในการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ในคดีก่อการร้าย เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.55 ผ่านนายนนท์นิพัทธ์ โพธิ์เดชธำรง ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง
ทั้งนี้ นายจตุพร กล่าวว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่าใช้อำนาจใดในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวตน เนื่องจากเห็นว่าอำนาจดังกล่าวเป็นของอัยการในฐานะเป็นโจทย์แห่งคดี ซึ่งการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้กระทบต่ออิสรภาพโดยไม่มีเหตุอันควร โดยในหนังสือที่ยื่นถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ้างอิงถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.บ. ศาลรัฐธรรมนูญ 2542 ว่าไม่มีข้อใดที่ให้อำนาจสำนักงานดำเนินการใดๆ โดยที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่รู้เห็นและเห็นชอบมอบหมาย ซึ่งการที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า คณะตุลาการไม่รู้เห็นหรือมอบหมายให้สำนักงานไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวตนเองนั้น จึงถือว่า คำร้องขอเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวตนเองนั้น เป็นคำร้องเถื่อน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ข้ออ้างในคำร้องขอเพิกถอนปล่อยตัวตนเองที่ระบุว่าขึ้นเวทีปราศรัย ที่บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. และ 7 มิ.ย. โดยมีถ้อยคำข่มขู่ ยุยง ปลุกปั่น ให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองไปคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตนขอยืนยันว่าการปราศรัยของตนไม่มีข้อความใดที่เป็นการคุกคามสิทธิส่วนบุคคลของตุลาการและครอบครัวแต่เป็นการแสดงความคิดเห็น ติชม โดยสุจริต ตามที่รัฐธรรมนูญ รับรอง โดยศาลรัฐธรรมนูญ สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่เหมือนศาลยุติธรรม ที่จะมีกฎหมายบัญญัติห้ามละเมิดอำนาจศาล ดังนั้น เจตนาของการไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวตนเองจึงไม่สุจริต อคติ ผิดกฎหมาย
“การที่อธิบดีศาลอาญา ระบุว่า แม้ไม่มีผู้ร้องให้ถอนประกันตัว ศาลอาญาก็มีสิทธิเรียกมาสอบสวนแต่ก่อนที่คำร้องของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จะไปถึงศาลอาญา ไม่เคยมีการเรียกผมไปสอบสวนเลย ซึ่งมีผู้พิพากษาที่ผมเคารพ บอกว่า แม้ศาลฯจะมีอำนาจแต่ก็มักไม่ค่อยปฏิบัติ ยกเว้นอัยการสูงสุดที่เป็นโจทก์ จะเป็นผู้ยื่นคำร้องฯกรณีนี้จึงเหมือนกับมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ที่มีผู้ร้อง 5 ราย มายื่นคำร้อง โดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด และอัยการวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีการกระทำใดที่ส่อว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องไว้พิจารณา ถือว่าจงใจขยายอาณาเขตอำนาจ เช่นเดียวกับสำนักงาน ที่พ.ร.บ.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ให้อำนาจ แต่กลับไปดำเนินการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งปล่อยชั่วคราวตผม ถือว่าเป็นการขยายอาณาเขตอำนาจเช่นกัน และที่ออกเอกสารแถลงว่า ของดให้ความเห็นกรณีนี้เพราะไม่อยากไปก้าวล่วงศาลอาญา แต่พฤติกรรมที่สำนักงานฯกระทำโดยที่กฎหมายไม่อนุญาต เท่ากับว่าเป็นการก้าวล่วงศาลอาญาไปแล้ว”นายจตุพร กล่าวพร้อมกับท้าทายนายวสันต์ ให้เปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาขุมขู่คนขับรถของนายวสันต์ และที่อ้างว่าตนใช้ถ้อยคำข่มขู่ โดยขอให้ระบุว่าเป็นถ้อยคำใด และให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับตนและผู้ที่ข่มขู่คนขับรถนายวสันต์ด้วย
นายจตุพร ยังทวงถามถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้พิพากษาในการปฏิบัติหน้าที่โดยเห็นว่าเนื่องจาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน รู้อยู่แล้วว่าเป็นคู่กรณีกับตน ในคดีที่มอบหมายให้เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญา ที่กองปราบปราม เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 53 แต่ก็ยังกลับวินิจฉัยให้ตนสิ้นสมาชิกสภาพการเป็นส.ส. ทั้งๆ ที่ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว
“วันที่วินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็นส.ส.ของผม นายวสันต์ ยังแจ้งให้ทราบว่า นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะคดีนี้ เพราะภรรยาของนายจรัญ เป็นคู่กรณีมีการฟ้องร้องกับผม นั่นขนาดภรรยา นายจรัญ ยังถอนตัว แล้วนี้ตุลาการเป็นคู่กรณี แต่กลับมีคำวินิจฉัยให้ผมสิ้นสมาชิกภาพ มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการอยู่ตรงไหน”นายจตุพร กล่าว
อย่างไรก็ตามหากสิ่งที่มอบถามศาลรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่มีการชี้แจงใด ๆ ออกมา ก็จะไปยื่นขอความเมตตาจากอธิบดีศาลอาญา ประธานศาลฎีกา และพิจารณาดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งหากที่สุดแล้ว ตนต้องถูกเพิกถอนการประกันตัว ตนก็จะเดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังเรือนจำ และจะอดข้าวตั้งแต่มื้อแรกเป็นต้นไป ถ้าอยากได้อิสระตนก็จะให้ อยากได้ชีวิตตนก็จะให้ แต่ไม่ต้องการให้ทำร้ายประเทศไทย หากจะเอาตนออกจากเรือนจำก็จะได้เพียงร่างที่ไร้วิญญาณเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเดินทางมายื่นหนังสือของนายจตุพรครั้งนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงที่มาให้กำลังใจนายจตุพรก็ได้มีการตะโกนให้กำลังใจนายจตุพร ว่า "จตุพร สู้ๆ ถ้าอดข้าวก็จะอดด้วย" ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล 50 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ทุ่งสองห้องอีก 20 นาย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลรัฐธรรมนูญอีก 20 นาย เพื่อ ที่คอยดูแลการเข้า –ออกและบริเวณโดยรอบศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวก่อนหน้านายจตุพรเดินทางมาถึง ว่า คงไม่มีตุลาการคนใดมารับหนังสือจากนายจตุพร แน่นอน เนื่องจาการยื่นหนังสือเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว เป็นเรื่องที่ทางสำนักงานฯเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกี่ยวข้องกับตุลาการแต่อย่างใด