xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เปิดภาพอดีต “เหวง” ไล่ฐานทัพมะกัน แต่วันนี้กลับยืนข้างรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.เหวง โตจิราการ ร่วมขับไล่ฐานทัพอเมริกา ในปี 2518
“ปานเทพ” ย้ำมะกันใช้อู่ตะเภาทำนานาชาติระแวงไทย อาจตกเป็นเป้าโจมตีจากศัตรูของสหรัฐฯ พร้อมเผยภาพอดีต คนไทยทุกภาคส่วนสามัคคีกันขับไล่ฐานทัพอเมริกา “เหวง” ก็ร่วมด้วย แต่วันนี้กลับยืนข้างฝ่ายที่เชื้อเชิญสหรัฐฯ เข้ามา ด้าน “พิชาย” จี้ผู้นำเหล่าทัพแสดงจุดยืน อย่าจำนนต่อรัฐบาลจนลืมปกป้องอธิปไตย

วันที่ 25 มิ.ย. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

นายปานเทพกล่าวว่า ถ้าเราไม่แน่ใจชัดเจนว่าการที่สหรัฐฯ เข้ามาใช้อู่ตะเภา จะก่อผลร้ายให้ไทยต่อมาหรือไม่ต้องระวัง และที่อันตรายมากกว่า คือ นานาชาติจะมองเราอย่างไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ประกาศเองว่าต้องรุกคืบมายังภูมิภาคนี้ ซึ่งไทยไม่พร้อมที่จะรับความเสี่ยงของความขัดแย้ง

จากนั้นนายปานเทพได้แจกแจงข้อมูล ดังนี้

- เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีอเมริกา ประกาศว่า “เมื่อมาถึงวันที่จบสงคราม ผมได้กำหนดทิศทาง ความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อทำให้สถานภาพและพันธกิจของเราในการให้ความสำคัญสูง ลำดับแรกกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

- วันที่ 16 พฤศจิกายน 2554 นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ พร้อมกับประธานบริษัทเชฟรอน ได้เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกล่าวว่า “สหรัฐฯ จะเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยต่อไป และจะพยายามดึงภาคเอกชนและนักลงทุนสหรัฐฯ เข้ามาช่วยเหลืออุทกภัยไทย เช่น บริษัท โคคา-โคลา บริษัท เชฟรอน ฯลฯ และจะสนับสนุนรัฐบาลไทยในทุกด้านเพื่อเดินหน้าสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศ" มันสอดคล้องกับสิ่งที่โอบามาประกาศ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554

- วันที่ 1 มิถุนายน 2555 นายเลียน พาเนตตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอเมริกา ประกาศว่า “จะเคลื่อนย้ายกำลังทางเรือมาที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 60%”

- วันที่ 4 มิถุนายน 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีนบอกว่า “อเมริกาเข้ามาในภูมิภาคนี้ไม่ถูกเวลา” ฉะนั้นเราต้องตระหนักเลยว่าจีนกำลังเฝ้าอเมริกาอยู่ในขณะนี้ ถ้าเรามองไม่รอบด้าน เราก็จะถูกหวาดระแวงจากเพื่อนบ้านและศัตรูของสหรัฐฯทันที แล้วเราก็อาจตกเป็นเป้าของการโจมตี ไม่ว่าจะจากการก่อการร้าย การตอบโต้ทางเศรษฐกิจ สังคม จากนานาชาติ มันต้องชั่งน้ำหนักว่าอะไรคุ้มค่า อะไรคือความเสี่ยง

- วันที่ 1-3 มิถุนายน 2555 พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พูดคุยถึงเรื่องอู่ตะเภา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็โทร.มาหาตนและบอกว่าเจรจาเรื่องสาธารณภัย แต่ทำไมใช้ทหารมาเจรจา

- วันที่ 23 มิถุนายน 2555 หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ซึ่งข้อความเขียนว่า “สหรัฐฯ สนใจกองกำลังเรือในอันที่จะเข้าแวะท่าไทย และร่วมบินตรวจตาดูแลเส้นทางทางการค้า และการเคลื่อนไหวทางการทหาร”

นายปานเทพยังกล่าวต่อว่า ตนขอยกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เมื่อตอนที่อเมริกาใช้อู่ตะเภาเป็นฐานทัพ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ตอนอายุ 28 ปี เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ได้ไปทำข่าวที่อู่ตะเภา แต่อเมริกากลับไม่ให้เข้า นายสนธิจึงได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ลงเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2518 เพื่อเรียกร้องให้เปิดสัญญาระหว่างไทยกับอเมริกา

หลังจากนั้น 12 พฤษภาคม 2518 เกิดเหตุกรณีสหรัฐฯ จมเรือของเขมร 3 ลำที่น่านนํ้าไทย วันที่ 13 พฤษภาคม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกฯ ขณะนั้นแจ้งอุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยว่า “ไม่ยินยอมให้ใช้ดินแดนไทยตอบโต้กัมพูชา” แล้วคนไทยทุกภาคส่วนก็ช่วยกันขับไล่อเมริกา ทั้งฝ่ายค้าน หนังสือพิมพ์ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งในที่สุดปี 2519 สหรัฐฯ ก็ได้ถอนทหารออกไปจากประเทศไทย พร้อมทั้งเลิกใช้สนามบินอู่ตะเภา

ที่น่าสนใจเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2518 นพ.เหวง โตจิราการ ก็ได้ร่วมประท้วงไล่ฐานทัพอเมริกาด้วย แต่วันนี้กลับยืนข้างรัฐบาลที่กำลังเชิญอเมริกาเข้ามา เขายืนอยู่ได้อย่างไร ไม่ออกมาพูดถึงกรณีนี้เลย (จากภาพประกอบ) คนถือโทรโข่งคือ “เหวง โตจิราการ” ส่วนคนอยู่ด้านซ้ายมือมีหนวดเครา คือ “เทิดภูมิ ใจดี”

เมื่อถามถึงบทบาทของทหารที่มีต่อกรณีนี้ นายปานเทพกล่าวว่า ทหารยุคนี้ไม่ชอบความขัดแย้ง มองเหลือง-แดงเป็นปัญหาทั้งคู่ คำนิยามของทหารไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ น่าเป็นห่วงว่าจะสร้างความไม่มั่นคงหนักกว่าเดิม ไม่ใช่ต้องเลือกข้างจีนหรืออเมริกา แต่ไทยต้องไม่ใช่สมรภูมิรบของมหาอำนาจ ถ้าเราวางยุทธวิธีผิดแล้วตกเป็นสมรภูมิรบ จะมีต้นทุนที่สูงมาก

วิธีที่ดีที่สุด ตนขอแนะนำ ในเมื่อเป็นเรื่องมนุษยธรรม ภัยพิบัติ ทำไมไม่เป็นสหประชาชาติ หรือประชาคมอาเซียนเข้ามาร่วมมือกัน แบบนี้ถึงจะเป็นความร่วมมือที่น่าไว้วางใจและเป็นประโยชน์จริง

นายพิชายกล่าวว่า อเมริกาไม่มีคำว่ามนุษยธรรมหรอก เขาทำเพื่อประโยช์ตัวเองล้วนๆ เราไม่ควรดึงอเมริกาเข้ามา ส่วนกองทัพยุคนี้คงมองเรื่องอื่นมากกว่าอธิปไตยของตัวเอง ที่จริงกองทัพน่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าไม่ออกมาค้านก็ตีความได้ว่า กองทัพจำนนกับรัฐบาล แล้วก็ลืมหน้าที่ของตัวเองในการรักษาอธิปไตย คนในกองทัพมากมายที่มีข้อมูล อยากให้ไปบอกกับผบ.ทร. และ ผบ.ทบ. ให้ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนในเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องทำตามรัฐบาล
จดหมายเปิดผนึกของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ถึงรมว.กลาโหม ให้เปิดสัญญาระ​หว่างไทยกับอเมริกา
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ (ผู้ร่วมรายการ)
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (ผู้ร่วมรายการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น