xs
xsm
sm
md
lg

“รอยล” เผยเครื่องมือวัดระดับน้ำ 40 ล.ติดตั้งเสร็จ ก.ค.นี้-กมธ.ศึกษาอุทกภัยห่วงนโยบายเร่งด่วนอืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (ภาพจากแฟ้ม)
วงสัมมนานโยบายเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย 2555 ผู้เชี่ยวชาญ สวทน. ชี้น้ำฝนปีนี้ 5 หมื่นล้าน ลบ.ม. แต่ถูกป่าซับไว้ 3 หมื่น ล. กักเก็บในเขื่อนและแก้มลิงบางส่วน ชี้รัฐบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ ลางน้ำ และปลายน้ำ “รอยล” เผยเครื่องมือวัดระดับน้ำ 140 ตัว มูลค่า 40 ล้านแล้วเสร็จ 1 ก.ค.นี้ เชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด กมธ.วิสามัญห่วงนโยบายเร่งด่วน 6 ข้อ แต่ทำได้แค่ 4 ข้อ ยังไม่ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ชี้ปัญหามาจากรัฐบาลพรรคการเมืองผสม

วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาอุทกภัย 2554 วุฒิสภา ที่มีนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา เป็นประธานได้จัดสัมมนาเรื่อง “ผ่าวิกฤตมหาอุทกภัย 2554 กับนโยบายเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย 2555 ของรัฐบาล” โดยนายวิชาญได้สรุปความเป็นมาและผลกระทบอุทกภัยปี 2554 ว่า ปัญหาอุทกภัยมี 3 ด้าน คือ 1. ธรรมชาติ 2. มนุษย์ และ 3. การบริหารจัดการ โดยการบริหารจัดการน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาอุทกภัยเป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากกฎหมายและระเบียบ และผลกระทบที่เกิดขึ้นมีด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม การศึกษา

นายสุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนปีนี้ 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ป่าซับน้ำไว้ 30,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนจัดเก็บ 5,000 ล้าน ลบ.ม. แก้มลิงรองรับน้ำ 5,000 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 10,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะต้องขุดลอกเส้นทางน้ำต่างๆ โดยการดำเนินการของรัฐบาลจะพิจารณาต้นน้ำที่เป็นพื้นที่ซับน้ำ กลางน้ำเป็นพื้นที่แก้มลิง และปลายน้ำเน้นการระบายน้ำ โดยแผนงานของรัฐบาลที่จะเลือกทำ คือ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดิน อ่างเก็บน้ำ ผังเมือง การเผชิญเหตุ พื้นที่เกษตรเก็บน้ำชั่วคราว ปรับปรุงลำน้ำสายหลัก ทำทางน้ำหลากหรือฟลัดเวย์ (Flood Way) พัฒนาคลังข้อมูลและศูนย์เตือนภัย กฎหมาย และติดตามความก้าวหน้าของหน่วยงาน โดย กบอ.ติดตามการทำงานของหน่วยงานต่างๆ รวมถึง กรุงเทพมหานคร การขุดลอกคู คลอง แม่น้ำ สันดอน เป็นต้น

ด้าน นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวว่า การป้องกันหรือกั้นน้ำโดยไม่ระบายคงเป็นไปไม่ได้ โดยกั้นน้ำเพียงอย่างเดียวจะเกิดปัญหาและเสียค่าใช้จ่ายมาก จึงควรใช้การระบายน้ำเป็นการจัดการน้ำ การปรับรูปแบบการบริหารจัดการน้ำ การคาดการณ์น้ำฝน น้ำท่าจะมีจุดสมดุลกันอย่างไร ใช้ข้อมูลแบบจำลองเพื่อการบริหารจัดการน้ำ แบ่งเป็นส่วนๆ จะดูน้ำเข้า น้ำออก การบริหารเชิงพื้นที่กับเวลาถ้าปริมาณน้ำเกินมากก็ต้องปล่อยน้ำออก เพราะการบริหารน้ำมากจะต้องเผื่อกรณีน้ำแล้งด้วย อย่างไรก็ตาม การติดตั้งเครื่องมือวัดระดับน้ำทั้งหมด 140 ตัว วงงบประมาณ 40 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งจะทำให้เชื่อมข้อมูลระดับน้ำในทุกเขื่อนได้รวดเร็วพร้อมกันหมด ส่งผลต่อการระบายและบริหารจัดการในเขื่อนได้ดี นอกจากนี้ข้อมูลต่างๆต่อไปจะมีการวิเคราะห์เป็นระบบดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ตนรู้สึกกังวลต่อการสะท้อนปัญหาถึงช่องว่างระหว่างผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติ ที่แสดงให้เห็นว่ายังมีช่องว่างสูงจนน่าตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น

พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยนั้นมาจากปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาการบริหารจัดการ และการให้ข้อมูลแก่ประชาชน ซึ่งก็รู้สึกแปลกใจที่การป้องกันบรรเทาสาธารณภัยได้มีการจัดทำแผนอยู่แล้วในการจัดการภัยพิบัติ แต่ไม่มีการใช้กลไกดังกล่าว มีเครื่องมืออุปกรณ์อยู่แล้ว แต่กลับไม่ใช้ แต่ไปใช้ ศปภ. กระทรวงไอซีที ซึ่งไม่มีบุคคลากรที่มีความชำนาญ นโยบายเร่งด่วน 6 ประการของรัฐบาล ดำเนินการแล้ว 4 ประการ ยังไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นการเพิ่มปัญหา เรามีโครงสร้างการจัดการกับภัยพิบัติอยู่แล้ว โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถเข้าประชาชนได้เร็วกว่า การสั่งการในรูปแบบคณะกรรมการที่จะมีความล่าช้าไม่ทันเหตุการณ์ แต่อาจปัญหาอำนาจการใช้งบประมาณ การแก้ไขจึงมาในรูปแบบคณะกรรมการที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาใหม่ และที่สำคัญปัญหาจากพรรคการเมืองหลายพรรค ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินโดยพรรคแกนนำจะต้องดูแลกระทรวงสำคัญ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงกลาโหม เพราะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 6 ประการ ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการแล้วเพียง 4 ประการเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น