รมว.กลาโหมเผยมะกันขอใช้อู่ตะเภาเข้า ครม.สัปดาห์หน้า ยันจีนไม่เคยแสดงความเป็นห่วง อ้างเป็นประโยชน์กับคนทั้งโลก ชี้ปมอู่ตะเภาเป็นเกมการเมือง เฉ่งเป็นพวกไม่รักชาติ ส่วนจะเข้าข่าย ม.190 หรือไม่อยู่ที่กฤษฎีกาจะพิจารณา
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ให้สัมภาษณ์"
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม แถลงถึงกรณีที่ ครม.ยังไม่พิจารณาเรื่องที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ขอให้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อศึกษาสภาพภูมิอากาศในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้นาซายังไม่ได้สอบถามอะไร ตนคาดว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า ส่วนสาเหตุที่ยังไม่นำเข้าการประชุม ครม.ครั้งที่ผ่านมา เพราะทุกหน่วยงานยังทำความเห็นไม่ครบทุกด้าน ซึ่งนาซาคงจะเข้าใจ ทั้งนี้ ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการวิจัย ไม่ใช่เรื่องทางทหาร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากทางนาซาเข้ามาเรื่องวิทยาศาสตร์จริงๆ
ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นหัวหน้าทีมทำงานร่วมกับนาซา ในส่วนของกระทรวงกลาโหมก็จะส่งคนไปร่วมทีมด้วย เพื่อดูแลด้านความมั่นคง เช่นการขึ้นไปตรวจสอบเครื่องบินที่จะมาสำรวจสภาพอากาศว่ามีอุปกรณ์อะไรบ้าง
พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า สำหรับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศจะดูแล โดยทางทางจีนไม่ได้สอบถามอะไร และไม่มีปัญหาอะไร รวมทั้งไม่ได้แสดงความห่วงอะไรเลย มีแต่คนไทยเท่านั้นที่ห่วงแทนจีน และจีนก็ไม่ได้มีการทำหนังสือขอคำชี้แจงอะไร หากมีเรื่องอะไรกระทบกับจีนทางจีนคงพูดไปแล้ว
“วันนี้ทางจีนก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาโต้ตอบอะไร อย่างที่ผมเคยชี้แจงไปแล้วว่าทางเขตบริหารพิเศษฮ่องกงก็อนุญาตให้นาซาเข้าไปดำเนินการเช่นกัน ทั้งที่ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน อีกทั้งทางประเทศกัมพูชาและสิงคโปร์ก็อนุญาตให้เครื่องบินทั้ง 3 ลำของนาซาขึ้นบินสำรวจเหนือน่านฟ้า เพื่อภารกิจทำการวิจัยในเรื่องนี้ เพราะเป็นประโยชน์ของทั้งโลก ไม่ใช่ของประเทศไทยหรือของน่าซา หรือเฉพาะภูมิภาคนี้”
ผู้สื่อข่าวถามว่า นาซาจะเข้าใจหรือไม่กรณีที่เกิดทักท้วงขึ้นในประเทศไทยอาจส่งผลให้การขอใช้พื้นที่อู่ตะเภาต้องหยุดชะงักลง พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า เขาคงฟังฝ่ายรัฐบาลชี้แจง และฝ่ายที่คัดค้าน ซึ่งเขาก็เข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยดี โดยเฉพาะเรื่องการเมืองในประเทศไทยว่าเป็นสถานการณ์หนึ่งในประเทศที่เข้าใจยาก ขนาดคนไทยยังเข้าใจยากเพราะมันเป็นเกมการเมืองไปหมดทุกอย่าง
เมื่อถามว่าโครงการดังกล่าวโครงการต่อเนื่องจากเมื่อปี ค.ศ. 2010 ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลตามที่นายปลอดประสพระบุหรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า นาซามีความร่วมมือกับไทยหลายโครงการ เช่น โครงการ GISTDA ไทยกับนาซาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมกัน ซึ่งเข้ามาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะความร่วมมือต่างๆ นั้นมีมากแล้ว แต่ไม่ถูกนำมาเป็นประเด็น แต่ครั้งนี้กลับนำมาเป็นประเด็น ซึ่งไม่ควรนำเรื่องนาซาไปเกี่ยวกันกับเรื่องวีซ่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการเข้าสหรัฐฯ ได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกันเลย
ส่วนที่มีความพยายามโยงเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นทางการเมืองนั้น พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ตนไม่อยากตอบโต้มาก หากตอบโต้ไปก็จะยืดยาว อย่าไปสนใจมาก เมื่อถามต่อว่าเพื่อความโปร่งใสทางสหรัฐฯ ควรจะชี้แจงเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า หากให้สหรัฐฯทำความเข้าใจกับคนไทยเราต้องอายเขา เพราะคนไทยทำความเข้าใจกันเองไม่ได้ ซึ่งในวันนี้เราบอกหมดเปลือกแล้ว และผู้สื่อข่าวก็รู้เท่ากับตน แต่ต้องถามว่าพอใจหรือไม่ ยังห่วงอะไรอีกก็บอกมา ตนจะรีบไปดูให้ อย่าไปนึกว่าและคาดว่า ควรรักประเทศชาติบ้าง
“หากทำแบบที่เป็นอยู่ ผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นการรักประเทศชาติ ต้องดูว่ามีขอบเขตแค่ไหน และควรแยกให้ออกว่าเรื่องวิจัยก็เป็นเรื่องของการวิจัย นำไปพันโน้นพันนี่มันไม่ถูก ผมอยู่ในกระทรวงความมั่นคงก็ดูแลเรื่องนี้อยู่ ผมจะไม่ให้เสีย ที่นำไปอ้างว่าจะเสียอธิปไตยนั้น ความจริงแล้วทางสหรัฐฯ เสียอธิปไตยมากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่ของเราสามารถขึ้นไปตรวจสอบเครื่องบินที่จะทำการสำรวจวิจัยได้ ดังนั้นอย่าไปคิดในทางที่ไม่ดี ส่วนเรื่องนี้จะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกฤษฎีกา ผมไม่สามารถพูดแทนได้ แต่หากอยู่ในช่วงปิดสมัยการประชุมของสภาฯ ถ้าหากมันช้าก็ต้องบอกนาซาให้เข้าใจและขอเลื่อนออกไป”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผบ.เหล่าทัพได้สอบถามเรื่องนี้อย่างไรบ้าง พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ผบ.เหล่าทัพไม่ได้ว่าอะไร เมื่อคุยกันแล้วและมองเรื่องความมั่นคงไม่มีอะไร ทุกคนก็เคลียร์โดยเฉพาะกองทัพเรือและกองทัพอากาศที่เกี่ยวข้องมากที่สุด เพราะกองทัพอากาศเกี่ยวข้องเรื่องอุปกรณ์ ส่วนกองทัพเรือเกี่ยวข้องเรื่องสถานที่ เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าจะไม่สร้างผลกระทบในภายภาคหน้า พล.อ.อ.สุกำพลย้อนถามว่า ต้องถามว่ากระทบแบบไหน ต้องคิดต่อด้วยว่าหากกระทบต่อกระทบตรงไหนในภายภาคหน้าต้องคิดด้วย อย่าถามลอยๆ มา ซึ่งไม่มีผลกระทบ เพราะเป็นเรื่องการทำวิจัยจริงๆ จะกระทบต่อเมื่อนาซาเข้ามาแล้วไม่ทำการวิจัยแล้วไปทำอย่างอื่น หากพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีเขาจะมาดูอะไรประเทศไทยเพราะเขารู้หมดแล้ว
ทั้งนี้ เรื่องนาซาและเรื่องการตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ หรือเอชเอดีอาร์ เป็นคนละเรื่องกัน โดยศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภัยพิบัติฯ ไทยไม่ได้ทำกับสหรัฐฯ เพียงแค่สองชาติ อย่างเช่นในช่วงที่เกิดสึนามิในไทยนั้นก็ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์ในการช่วยเหลือ รวมถึงช่วงน้ำท่วมด้วย วันนี้หากใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลาง หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ก็จะต้องมีศูนย์กลางในการกระจายความช่วยเหลือได้ทันที ทางจีนก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ แต่จะต้องมีกฎกติกาในการเข้ามาเหมือนกัน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน