“ยิ่งลักษณ์” เผยหลังประชุม กนอช.ห่วงสิ่งก่อสร้างยังไม่เสร็จเร็วตามหวัง รอถาม ครม.จะปรับแผนยังไง ยันเน้นระบายน้ำ ระบุตรวจสอบการใช้งบทุกวิธี ส่วนแผนใหญ่ได้ข้อสรุปจ่อเข้า ครม.แล้ว พร้อมสั่งผู้ว่าฯ นนท์สอบข้อเท็จจริงชาวบางบัวทองร้องเยียวยาเพิ่ม ขอดูก่อนใช้มาตรการเด็ดขาดหรือไม่ ด้าน “ปลอดประสพ” อนุมัติคัดบริษัทเก่งที่สุดในโลกจัดการน้ำไทย มั่นใจปีนี้เอาอยู่ แฉ กทม.บางจุดติดป้ายว่าทำแล้วแต่ยังไม่ได้ทำ
วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ว่า ภาพรวมเรื่องน้ำในปีนี้ สิ่งที่เป็นห่วง คือ สิ่งก่อสร้างที่ยังไม่เร็วตามที่คาดหวังไว้ เพราะบางส่วนเพิ่งเริ่มการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่งเสร็จและลงนามคำสัญญา แต่บางที่ก็เสร็จแล้ว ซึ่งเราก็ได้มีการปรับแผนในส่วนที่ช้าก็จะใช้แผนระยะชั่วคราว โดยจะรอผลของคณะรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ว่าจะมีการปรับแผนอย่างไร ผู้สื่อข่าวถามว่า จะให้ความสำคัญจุดไหนเป็นพิเศษ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ต้องดูในเรื่องของการระบายน้ำ เพราะว่าเราทำในเรื่องของการป้องกัน แต่เรื่องการระบายน้ำ ตั้งแต่เรื่องของการรักษาปริมาณน้ำในเขื่อน และการระบายลงคูคลองต่างๆ จะทำอย่างไรไม่ให้น้ำล้น เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ เรามีคณะกรรมการในการระบายน้ำที่จะสำรวจทั้งในส่วนของข้อมูล สถิติ ภาพถ่ายทางดาวเทียม และการทำแผนจำลองแบบ
เมื่อถามว่าจะมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราใช้ทั้งหมดทุกวิธี ตั้งแต่เรื่องระบบการรายงาน ซึ่งเราได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการรายงานภาพข่าวของจริง และการใช้จุดพิกัดในการตรวจสอบ และการให้คณะรัฐมนตรีลงไปตรวจเยี่ยม ซึ่งการตรวจแผนต่างๆ เราก็ทำอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ในส่วนของแผนใหญ่ก็ได้รับข้อสรุปจากคณะกรรมการ กนอช.แล้วเพื่อที่จะนำข้อสรุปเสนอคณะรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
เมื่อถามว่ากรณีที่ประชาชน จ.นนทบุรีออกมาปิดถนนเรียกร้องเรื่องเงินชดเชยเยียวยาอุทกภัยเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมว่า ได้สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดให้ลงไปตรวจสอบแล้ว ซึ่งต้องขอดูข้อเท็จจริง แน่นอนหากมีคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมหรือไม่โปร่งใสก็จะดำเนินการตามขั้นตอน เมื่อถามว่าจะมีมาตรการขั้นเด็ดขาดหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอดูตามรายละเอียดก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับเคส
ด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวว่า ที่เรากู้เงินจำนวน 350,000 ล้านบาทนั้น มีการใช้ไปแล้วบางส่วนซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ ส่วนหลักก็จะมีการดำเนินการ ซึ่งในที่ประชุมได้อนุมัติในหลักการทีโออาร์ ที่จะให้ได้บริษัทที่เก่งที่สุดในโลก มาช่วยกันคิดเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (12 มิ.ย.) โดยจะมีการเชิญบริษัททั่วโลกทั้งภายในและภายนอกประเทศ มาวางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ซึ่งต้องอยู่บนฐานที่สำคัญคือ ทำตามพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานไว้ในเรื่องน้ำ ในหลาย 10 ปีที่ผ่านมา และทำแผนงานที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้อนุมัติไว้ ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาวที่ครอบคลุมทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยรัฐบาลจะประกาศรับสมัครภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นให้เวลา 3 เดือนในการเสนอแผน และใช้เวลาอีก 1 เดือนในการคัดเลือก ซึ่งรัฐบาลตั้งใจว่าจะมีการพิจารณาทั้งหมด 3 บริษัท ซึ่งเชื่อว่าบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกน่าจะเป็นกลุ่มบริษัท ซึ่งจะมาในนามของรัฐบาล หรือบริษัทที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านโดยเฉพาะก็ได้ และหลังจากได้บริษัทแล้วจะใช้เวลาอีก 4-5 เดือนในการทำรายละเอียด และเริ่มการก่อสร้างได้ ทั้งนี้แม้ว่าการก่อสร้างจะไม่ได้เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่การแก้ไขเฉพาะหน้าทำเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงนักในระยะสั้น และในระยะยาวประเทศไทยจะได้ปลอดภัยที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายปลอดประสพกล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์ของบริษัทที่จะมาสมัครนั้น ต้องมีผลงานใน 10 ปีที่ผ่านมา 30,000 ล้านบาท และถ้าเป็นบริษัทร่วมทุนแต่ละบริษัทสามารถเอาผลงานที่เกิน 2,000 ล้านบาทเท่านั้นที่เอามารวมกัน ทำอย่างนี้เราจะได้บริษัทที่เก่งทั้งในและนอกประเทศมาร่วมกันทำงาน ทั้งนี้จะมีการประกาศทางสื่อและสถานทูตทุกแห่ง และจะรายชื่อบริษัทที่ทำเรื่องน้ำจากกรมชลประทานมาด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมโดยจะมีการคำนึงถึงน้ำท่วมและน้ำแล้งควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะใช้ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร
เมื่อถามว่า หมายความว่าระยะสั้นจะสามารถรับมือสถานการณ์กับน้ำได้ นายปลอดประสพกล่าวว่า ตนและสตาฟมั่นใจ เมื่อถามว่าจุดระบายน้ำที่ยังปัญหาในปีที่แล้วจะมีปัญหาซ้ำหรือไม่ นายปลอดประสพกล่าวว่า จุดระบายที่ตนเป็นห่วงที่สุด คือ คลองเล็กในพื้นที่ กทม.ที่มีการติดป้ายว่าทำ แต่ยังไม่ได้ทำ โดยอีก 2 สัปดาห์ตนจะลงไปตรวจ แต่ในคลองใหญ่ก็ทำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจมีปัญหาบางในการบุกรุก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาและครม.ก็มีมติแล้วว่าจะแก้ไข เพราะถ้าไม่ป้องกันการบุกรุก การระบายน้ำจะมีปัญหา แต่แก้ไขนี้จะเป็นการทำให้คนมีที่อยู่อย่างถาวร มีสุขภาพพลานามัยดี ไม่ใช่ไปรบราฆ่าฟันกับใคร
เมื่อถามว่า กทม.ทำการขุดลอกคูคลองไปถึงไหนแล้ว นายปลอดประสพกล่าวว่า ทำไปพอสมควร ถามต่อว่า น้ำทางภาคเหนือเริ่มเพิ่มขึ้นจะซ้ำในจุดที่ดำเนินการอยู่หรือไม่ นายปลอดประสบกล่าวว่า เรื่องนี้ตนพูดในที่ประชุมว่ามีอะไรผิดสังเกต เพราะพื้นที่ภาคใต้ไม่ควรที่จะท่วมและในจ.แพร่ก็ไม่ควรที่จะมีปัญหา ซึ่งตนเชื่อว่ามีปัญหาเรื่องผังเมือง ที่มีสิ่งก่อสร้างขวางลำน้ำ ซึ่งได้ขออนุญาตที่ประชุม กนอช. เพื่อให้ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ GISTDA ร่วมด้วยผู้แทนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไปทำแผนการวัดความสูงของระดับแผ่นดินทั้งประเทศไทย ซึ่งมีการทำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้ว แต่ครั้งนี้จะทำทั้งประเทศ รวมถึงได้ขอให้นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการ ผังเมืองของชาติ แก้ผังเมือง ไม่ใช่ต่างคนต่างสร้าง ซึ่งต้องแก้ที่ผังเมืองก่อน