“นายกฯ” นั่งหัวโต๊ะเรียกประชุมทีมงาน กยน.ถึงแผนบริหารจัดน้ำ ทั้งระยะสั้น-ยาว เพื่อนำความเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลฯ พรุ่งนี้ “ปีติพงศ์” ยันพื้นที่ฟลัดเวย์ 2 ล้านไร่ เสร็จทัน “พ.ค.-มิ.ย.” เน้นพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจ ต้องไม่เกิดน้ำท่วมซ้ำ ส่วนรายละเอียดอื่น รอแจงหลังเข้าเฝ้าฯ แล้ว
วันนี้ (23 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิจจา ผลภาษี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ระยะยาว กล่าวว่า การประชุม กยน.ในวันนี้เป็นเพียงการประชุมกรรมกลุ่มย่อย มีประมาณ 10 คน อาทิ นายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ประธาน (กยอ.) นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ กยน.นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา คณะกรรมการ กยน.แผนระยะสั้น และกรรรมการ กยน.บางส่วน อาทิ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายรอยล จิตรดอน ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้อำนวยการโครงการปิดทองหลังพระ และนายอำพล กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
โดยมีการหารือกันในหลักการเรื่องที่จะต้องนำความเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีรายละเอียดจำนวนมาก อาทิ เรื่องแผนการบริหารจัดการน้ำ เรื่องผลการลงทำงานในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้ไปสั่งการว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยจะมีการกราบบังคมทูลฯ เผื่อว่าพระองค์ท่านมีพระราชดำริเพิ่มเติม ซึ่งในพื้นที่ภาคกลางจะมีการหาแนวทางนำน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด โดยเป็นการดำเนินการตามแนวทางพระราชดำริอยู่แล้ว ส่วนเรื่องฟลัดเวย์จะมีการกำหนดให้น้ำออกไปทางฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกตามคลองเดิมอยู่แล้วนั้น หากน้ำมากในระยะเร่งด่วนนั้นก็จะใช้พื้นที่ธรรมชาติที่น้ำขังอยู่แล้วรองรับน้ำไปก่อน สำหรับในระยะยาวกรมชลประทาน จะกำหนดพื้นที่ว่าจะเอาน้ำออกไปทางฟลัดเวย์ได้อย่างไร ซึ่งแนวทางที่วางไว้จะอยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีประชาชนบุกรุกพื้นที่แก้มลิงนั้น ต้องให้ทางจังหวัด หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาทางออกเรื่องนี้
ด้าน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา คณะกรรมการ กยน.แผนระยะสั้น กล่าวภายหลังการประชุม ว่า มารายงานนายกรัฐมนตรี ว่า ในส่วนของคณะกรรมการ กยน.ทั้ง 2 ชุด ได้ดำเนินการเรื่องอะไรไปบ้าง ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนั้น จะเน้นในเรื่องการเร่งรัดโครงการต่างๆ ที่มีความสำคัญ ประกอบด้วย การจัดลำดับความสำคัญของโครงการว่าโครงไหนที่จะทำเสร็จได้จริง เป็นโครงการเร่งด่วนที่จะสามารถทำได้ให้เสร็จก่อนที่น้ำจะมา คือประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย.เป็นอย่างช้า การดูเรื่องผังน้ำที่กำหนดไว้เดิมใช้ได้หรือไม่ เพียงใด ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาต้องคำนวณ ว่า จะมีปริมาณน้ำฝนเท่าไหร่ และจะมีการบริหารจัดการน้ำอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะผังน้ำเดิมที่กำหนดไว้ คือ ต้นน้ำจะอาศัยเขื่อน กลางน้ำอาศัยแก้มลิง และปลายน้ำ จะอาศัยการบริหารจัดการของ กทม.และพื้นที่โดยรอบ รวมถึงจะมาดูอีกครั้ง ว่า จะทำอย่างไรกับงบลงทุนที่รัฐบาลลงทุนไปทั้งหมด ซึ่งผ่านคณะกรรมการระยะสั้นแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท จะมีผลทำให้น้ำได้รับการผลักดันให้ออกไปจากพื้นที่ ที่จะท่วมได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำเรื่องแผนเรื่องการปรับปรุงเรื่องน้ำ และผลที่คาดว่าจะได้ในการลงทุน
ผู้สื่อข่าวถามว่า พื้นที่ที่น้ำไม่ควรจะท่วมมีที่ไหนบ้าง นายปีติพงศ์ กล่าวว่า เป็นพื้นที่หลักของชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ ไม่ได้เน้นเฉพาะอุตสาหกรรมอย่างเดียว รวมทั้งพื้นที่ดอนเมืองก็ไม่ควรจะท่วม หมู่บ้านบางหมู่บ้านที่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับ
เมื่อถามว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดตัวเงิน 3.5 แสนล้านบาท ว่า จะนำมาใช้อย่างไรบ้าง นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยกัน เพราะเบื้องต้นต้องมีการจัดว่าโครงการที่รับมา และโครงการเก่าๆ อันไหนสามารถทำได้จริงในช่วงระยะเวลานี้ อันไหนที่ต้องใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาทที่เป็นระยะยาว เพราะไม่อย่างนั้นการใช้เงินของประเทศจะมีความสับสน
ถามต่อว่า การจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะต้องเสร็จให้ทันเดือน พ.ค.-มิ.ย.นายปีติพงศ์ กล่าวว่า มี 4 โครงการ คือ 1.เรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ที่จะทำเป็นพื้นที่ทิ้งน้ำที่เก็บน้ำชั่วคราว ประมาณ 2 ล้านไร่ 2.การสร้างคันกั้นน้ำเพื่อไม่ให้เทศบาล หรือพื้นที่ที่มีความสำคัญได้รับผลกระทบ 3.การขุดคลองระบายน้ำ ปรับปรุงคู คลอง และอาคารบังคับน้ำ และ 4.พื้นที่ต้องทำฟลัดเวย์ คือ พื้นที่จะให้น้ำวิ่งไป ซึ่งพื้นที่ทำฟลัดเวย์จะเป็นพื้นที่ที่น้ำไหลผ่านอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้สามารถบังคับน้ำตามที่เราคิดได้
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการ กยน.กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำที่จะนำเข้าเฝ้าฯ ยังไม่เหมาะสมที่จะเปิดเผย ซึ่งจะมีการเปิดเผยอีกครั้งหลักจากเข้าเฝ้าฯ แล้ว