xs
xsm
sm
md
lg

“กยน.”วงแตกแยกทางรัฐบาล ขืนยื้อไปมีหวังเสียคนตอนแก่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดูท่าจะไม่ดีเหมือนอย่างภาพลักษณ์ที่พยายามวาดขึ้นมาให้คนไทยใจชื้นแล้ว
“คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” หรือ กยน. ที่ระดม “กูรู” ทั่วฟ้าเมืองไทยมาเข้าร่วมบูรณาการจัดการปัญหาน้ำ เพื่อไม่ให้สายน้ำย้อนกลับถล่มซ้ำรอย “มหาอุทกภัย” เหมือนปีก่อน
กระแสข่าวล่าสุด ปรากฎว่า กยน. “วงแตก” ซะแล้ว
หลังตั้งวงประชุมกันไปได้ไม่กี่หน เรื่องของเรื่องก็มาจาก “ฝ่ายการเมือง” และ “ฝ่ายนักวิชาการ” คุยกันคนละภาษา ฝ่ายหนึ่งตั้งเป้าวางแผนหางบประมาณมหาศาลเตรียมการไว้รื้อระบบบริหารจัดการน้ำ แต่อีกฝ่ายก็มองว่ายังไม่มีแผนงานที่เป็นรูปธรรมออกมา แต่กลับกันเงินก้อนโตไว้คอยท่า ที่สำคัญไม่มีข้อเสนอของนักวิชาการอยู่ในแผนงานนั้นอีกต่างหาก
เอาชื่อ กยน.มาบังหน้า เพื่อสร้างภาพตบตาซื้อเวลาให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์
เริ่มมีการขุดปัญหาออกมาประจานกันเองให้ประชาชนภายนอกได้รับรู้ เรื่องนี้ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อย่างแน่นอน เหตุเพราะ กยน.ถือเป็นกรรมการระดับประเทศที่รัฐบาลไปทาบทามนักวิชาการที่มีต้นทุนทางสังคมสูงมาร่วมงานด้วยทั้งสิ้น
ไล่ตั้งแต่ “สุเมธ ตันติเวชกุล - สมิทธ ธรรมสโรช - ปราโมทย์ ไม้กลัด - กิจจา ผลภาษี - ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา – อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” แต่งานใหญ่ระดับชาติต้องมาเสียเรื่องเพราะ“อีโก้” ของแต่ละคนโดยไม่จำเป็น
เป็นที่มาของข่าวลือหนาหูว่า บรรดากรรมการจะทยอยลาออก ไขก๊อกให้รู้แล้วรู้รอด
และยิ่งหนักขึ้นไปอีกเมื่อ “กิจจา ผลภาษี” หนึ่งใน กยน.ออกโรงฉะกันเองแบบไม่ไว้หน้าหลังมีข่าวหลายคนจะขอลาออก ตราหน้าว่าเป็นพวก “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” ขณะที่ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ก็มองขำๆว่าเป็นเพียง “ช่องว่างระหว่างวัย”
น่าสนใจไปกว่านั้นคือ อาการ “น้อยใจ” ของ “สมิทธ ธรรมสโรช” อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เจ้าของฉายา “มิสเตอร์เตือนภัย” ที่ออกมาสับการทำงานของ กยน.เละเทะ โดยเฉพาะเรื่องการลงรายละเอียดในแผนงาน
ยิ่งไปกว่านั้นที่ประชุมยังไม่เปิดใจรับฟังคำเตือนของ “สมิทธ” ที่ว่าปีนี้จะมีน้ำมากจากปรากฏการณ์ลานิญญา ทำให้มีปริมานฝนตกไม่น้อยไปกว่าปี 2554 แต่ยังไม่มีแผนงานที่จะพร่องน้ำจากเขื่อนหรือการระบายน้ำลงทะเลเลย ทำให้เกรงว่าจะซ้ำรอยมหันตภัย “น้องน้ำ” เฉกเช่นปีก่อน
รวมทั้งประเด็นใหม่อย่างปรากฏการณ์ “พายุสุริยะ” ที่อ้างอิงจากรายงานของ “องค์การนาซ่า”ว่าอาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.55 ตรงกับช่วงที่ปฏิทินชาวมายันระบุว่า โลกจะแตกพอดิบพอดี
ก็เป็นการประเมินสถานการณ์ในรูปแบบ “เลวร้ายที่สุด” ตามสไตล์ของ “สมิทธ” นั่นเอง
และก็เป็นอีกครั้งที่ผู้คนหรือแม้แต่กรรมการ กยน.ด้วยกันเองจะมองว่า “สมิทธ” อาจคิดมากเกินไป เหตุอาจเป็นเพราะถือข้อมูลคนละชุด อ่านตำราคนละเล่ม โดยเฉพาะเมื่อใน กยน.ยังมี “อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” ซึ่งเป็นคณะทำงานของรัฐบาลปักหลักสู้ “น้องน้ำ” ประจำอยู่ในศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) มาโดยตลอดร่วมอยู่ด้วย
เป็นที่ทราบกันดีอีกว่า “อานนท์” ถือเป็นนักวิชาการที่มองโลกในแง่ดี จนทำให้ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป แต่การประเมินเช่นนั้นกลับเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ฟัง โดยเฉพาะนักการเมือง เพราะเหมือนเป็นความหวังว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายเกินจะรับมือไหว
จึงเป็นที่มาว่าเหตุใดน้ำหนักคำพูดของ “อานนท์” จึงดังกว่า “สมิทธ” ในที่ประชุม
คนหนึ่งมองโลกในแง่ร้าย คนหนึ่งก็มองโลกแง่ดีเกินไป
ทั้งหลายทั้งปวงผู้ตัดสินใจจะแก้หรือไม่แก้ปัญหาคือ “รัฐบาล” ก็อยู่ที่ว่าจะเลือกฟังน้ำคำที่รื่นหู หรือคำเตือนที่สุดโต่ง แต่กระตุ้นให้เกิดการเตรียมพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะนับจากจากสถานการณ์ “มหาอุทกภัย” ปีก่อนเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ก็ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีแผนเตรียมความพร้อมใดๆออกมา แม้กระทั่งการขุดลอกคลองในพื้นที่ กทม.ก็ยังเหมือนเกี่ยงงานความรับผิดชอบกันอยู่ โบ้ยกันไปมาระหว่างรัฐบาลกับ กทม.
จนไม่อยากนึกถึงโครงการฟลัดเวย์ทั้งระบบที่ยังเป็นแค่ตัวหนังสืออยู่ในกระดาษ และยิ่งมีความผิดปกติของฤดูกาล เกิดฝนตกในช่วงเดือน ม.ค.ให้เห็น พร้อมๆกับตัวเลขแดงแจ๋ฟ้องปริมาณน้ำเหนือเขื่อนที่ยังอยู่ในระดับเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แทบทุกเขื่อน โดยเฉพาะที่เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์
ยิ่งน่าหวั่นใจว่า การทำงานของรัฐบาลจะ “เอาอยู่” หรือไม่
หากรัฐบาลทำงานลอยชาย ไม่เตรียมการแก้ไขสถานการณ์ ก็น่าห่วงว่าความเสียหายจะหนักหนาสาหัสกว่าที่ผ่านมา และไม่เพียงแต่รัฐบาลจะ “เสียรังวัด” ซ้ำซาก บรรดาเต้ยเรื่องทางน้ำที่กวักมือเรียกมาช่วยงานใน กยน.ผู้ทรงคุณวุฒิ 25 คนกับที่ปรึกษาก็คงต้องหาปี๊บมาคลุมหัวไปด้วย
เพราะแม้แต่ “สุเมธ ตันติเวชกุล” เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ต้องมนต์ “พ่อมดดูไบ” ก็เริ่มออกอาการไม่อยากร่วมสังฆกรรมด้วย เหมือนกลัวว่าจะเอาชื่อเสียงที่สั่งสมมาทั้งชีวิตมาโยนทิ้งไปกับ กยน. เห็นได้จากระยะหลังมานี้ไม่เข้าร่วมประชุม
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน กยน.วันนี้จึงไม่เพียงประจานความล้มเหลวของรัฐบาล แต่เป็นการย้ำให้เห็นว่ายังคงมี “ธงนำ” ในการแสวงหาผลประโยชน์ มากกว่าความจริงใจในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
ผู้เฒ่าหลายคนที่เสียสละเวลามาทำงานเพื่อชาติ คงเริ่มไม่อยากเกลือกลั้ว จนต้องเสียผู้เสียคนไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น