xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ดึงทีมแก้น้ำท่วมโชว์แผนออกทีวี “โกร่ง” ขอ 3.5 แสนล้านจัดการอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“ปู” ดึงทีมงานแก้วิกฤตน้ำ ออกรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” สร้างความมั่นใจ เผยเร่งวางแผนบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน ป้องกันน้ำท่วม “วีรพงษ์” คาดใช้งบฯ 3.5 แสนล้านบาทลงทุน พร้อมชงนายกฯ ดันเข้า ครม.อังคารหน้า เล็งใช้วิธีตั้งกองทุนแบบไทยเข้มแข็ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์แห่งประเทศไทย ประจำสัปดาห์นี้ ได้ปรับรูปแบบเป็นการสนทนาระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมกับทีมงานที่เกี่ยวกับแผนการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม ประกอบด้วย นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) นายกิจจา ผลภาษี อนุกรรมการวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน, นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อเล่าถึงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขวิกฤตน้ำของ กยน.

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ว่า มีจุดมุ่งหวัง เพื่อที่จะพลิกวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ให้เป็นโอกาส รื้อระบบการบริหารจัดการน้ำ และการป้องกันน้ำท่วมใหม่ทั้งหมด เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต

ด้าน นายวีรพงษ์กล่าวว่า ได้เริ่มทำความเข้าใจกับหลายประเทศ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุนยังอยู่ในประเทศ รวมถึงการหารายได้มาใช้ในการปฏิบัติงาน โครงการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด

นายวีรพงษ์กล่าวถึงวงเงินที่คาดว่าจะต้องใช้การการลงทุน ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน โดยอาจจะตั้งกองทุนแบบเดียวกับไทยเข้มแข็ง แต่อาจไม่เหมือนกันเพราะวัตถุประสงค์คนละเรื่อง

นายวีรพงษ์กล่าวว่า ตนมองไม่ใช่เฉพาะการบริหารจัดการน้ำ แต่มองเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนต่อไป สร้างอะไรต่ออะไรใหม่หมด เราอยู่ในฐานะที่ทำได้ แต่เราลืมที่จะทำไปหลายปี เที่ยวนี้น้ำมากระตุ้น

นายวีรพงษ์กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการเงินต่างๆ ให้นายกฯ นำเข้า ครม.วันอังคาร (27 ธ.ค.) นี้ เพื่อให้กฤษฎีกายกร่างกฎหมายต่างๆ ในเรื่องการเงินของประเทศ

“ปัจจุบันหนี้สาธารณะกว่าครึ่งไม่ใช่หนี้รัฐบาล เป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูฯที่มาแบกไว้ ขณะนี้ธปท.ก็มีฐานะมั่นคง ทุนสำรองมากมาย ก็ควรจะรับหนี้กลับคืนไป เมื่อรับกลับคืนไป ก็จะเหลือหนี้สาธารณะประมาณ 10% ของจีดีพี จากปัจจุบัน 40%กว่า”

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา กล่าวว่า การดำเนินการในฝ่าย กยน. พบปัญหา 3 ส่วนที่จะต้องให้ความสำคัญ พร้อมทั้งเตรียมการปรับปรุงในการบริหารัดการน้ำในอนาคต คือ 1.ความไม่พร้อมด้านวิศวกรรม การปรับปรุง ซ่อมแซมกลไกต่าง ๆ 2.ระบบเตือนภัยมีปัญหา ซึ่งประชาชนไม่รู้ข้อมูลอย่างชัดเจน และถูกต้องอย่างแท้จริง และ 3.ในช่วงของภัยและการเผชิญภัย ซึ่งในระบบพลเรือนยังอ่อนแอ อาทิ เมื่อเกิดเหตุสามารถระดมพลเพื่อจัดการได้อย่างทันท่วงที โดย 3 ข้อนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการปรับปรุงเพื่อรองรับการเกิดน้ำท่วมในอนาคต

“3 กลุ่มดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องจัดการบริหารอย่างดี ต้องเริ่มตั้งแต่เขื่อน หรือต้นน้ำว่า มีปริมาณเท่าไหร่ ไหลผ่านทางไหน และการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง กลยุทธในการจัดการน้ำ ประมาณการที่ดี สิ่งเหล่านี้จึงต้องทำควบคู่กันไป ตนมั่นใจหากทุกอย่างพร้อมก็จะสามารถบริหารน้ำรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต”

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้ ต้องทำให้ในหน้าฝนปีหน้า ไม่เกิดน้ำท่วมอีก หรือ ทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งเป็นแผนระยะสั้น รวมถึง แผนระยะยาว ที่จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง เหมือนกับครั้งนี้อีก รวมถึง ต้องดูแลไม่ให้ประชาชน ขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งที่จะมาถึงนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากการที่ได้เดินทางร่วมหารือกับผู้นำกลุ่มประเทศ ลุ่มน้ำโขงที่ประเทศพม่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการจับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ มาคุยด้วยเช่นกัน ซึ่งแต่ละชาติเห็นว่า การป้องกันน้ำท่วม จะต้องคำนึงถึงเพื่อนบ้านด้วย ไม่ใช่ว่า ป้องกันของประเทศตนเองเป็นอย่างดี แต่แม่น้ำสายเดียวกัน ไปกระทบเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวก็ได้มีการหารือในเวทีอาเซียนมาแล้ว และนายกรัฐมนตรี ก็มีแนวคิดที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากต่างประเทศ เข้ามาหารือ และเชิญตัวแทนประเทศในอาเซียนและลุ่มแม่น้ำโขง เข้ามาร่วมดำเนินการในการศึกษา และป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมร่วมกันด้วย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังแสดงความมั่นใจว่าแผนการดำเนินการด้านต่างๆ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) จะเสร็จทันภายในเดือนหน้าอย่างแน่นอน และจะทำให้ สามารถดำเนินการวางจุดฟลัดเวย์ แก้น้ำท่วมได้ รวมถึง จะยังทำให้นานาชาติ ซึ่งมีแผนที่จะเดินทางเยือนในปีหน้า ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึง สหรัฐอเมริกา และยุโรป มั่นใจในแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น