นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนชื่อดังให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ ชี้ฟรีทีวีเป็นทรัพยากรชาติ รัฐ ให้ประชาชนดูฟรี แกรมมี่ถือเป็นคนเช่าเวลา ไม่มีอำนาจบล็อกสัญญาณบอลยูโรให้จานอื่นจอดำ แถมฐานคนดูหายไปเป็นล้าน จะหลอกล่อสปอนเซอร์ว่าคนดูเยอะกว่าเดิมเป็นไปไม่ได้ ชี้ถ้า กสทช.ปรับเล็กปรับน้อย “ทรู” ก็คุมใครไม่ได้ ซัด “นที” ดักดานมัวตีความระบบอนาล็อก พอขึ้นดาวเทียมกลับบอกไม่ฟรี แนะต้องปรับตัว-แก้กฎหมายรองรับระบบดิจิตอล
วันนี้ (17 มิ.ย.) นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และอดีตผู้บริหารบริษัท แปซิฟิคฯ ให้สัมภาษณ์ใน เซกชันไทยโพสต์แทบลอยด์ ของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ถึงกรณีที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2012 ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 ได้ทำการบล็อกสัญญาณถ่ายทอดให้เฉพาะผู้ชมที่ใช้เสาอากาศก้างปลาระบบอนาล็อก และผู้ที่ติดตั้งกล่องจีเอ็มเอ็ม แซทเท่านั้น ทำให้ผู้ชมที่ติดตั้งจานดาวเทียมแพลตฟอร์มอื่นๆ กว่าสิบล้านครัวเรือน รวมทั้งสมาชิกโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกทรูวิชั่นส์ ไม่สามารถรับชมได้ นั้น เห็นว่า เป็นบทเรียนกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ที่จะต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี มิฉะนั้นจะอยู่ในภาวะไร้อำนาจ
ในตอนต้น นายสมเกียรติ อธิบายว่า ฟรีทีวีเป็นทีวีที่รัฐมอบความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรของประชาชน ทรัพยากรของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อเอาคลื่นความถี่ไปโดยจ่ายค่าสัมปทาน เอาไปทำธุรกิจโฆษณาต้องออกอากาศฟรี ไม่ว่าจะส่งโดยเสาอากาศภาคพื้นดินที่เรี่ยไปตามผิวโลก หรือทีวีภาคพื้นดิน (Terrestrial TV) ซึ่งประชาชนติดตั้งเสาอากาศเพื่อรับชม คนที่ทำทีวีจะต้องทำให้ประชาชนดูฟรีได้ หากคนที่ดึงสัญญาณฟรีไปใส่ระบบอื่นที่ไม่ได้ใช้ความถี่ เช่น เคเบิล สายไฟเบอร์ออปติก หรือส่งขึ้นช่องสัญญาณดาวเทียมและรับชมด้วยจานรับสัญญาณดาวเทียม เมื่อต้นทางใช้ความถี่ฟรี เพราะฉะนั้นปลายทางใครจะเอาไปทำอะไร เอาไปอัดแผ่นไปแจกคนนั้นคนนี้ หรือจะส่งดาวเทียมลงหลังคาบ้าน จะผ่านทรูวิชั่นส์ หรือจะผ่านเคเบิลต่างจังหวัด อะไรก็ตามที่อยู่ในช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส ต้องฟรีหมด
“รัฐบังคับแล้วว่าให้ประชาชนดูฟรี ไม่อย่างนั้นไม่ให้ส่งสัญญาณ เพราะฉะนั้นช่องฟรีทีวีเหล่านี้ก็จะต้องส่งสัญญาณตามปกติ ส่วนสัญญาณตัวเองจะไปเข้าที่ไหนอย่างไรก็ช่างมัน จะไปโผล่ที่แอลเอหรือว่าจะไปโผล่ที่บรูไน โผล่ต่างจังหวัดด้วยคนอื่นเอาสัญญาณผ่านระบบของเขาเช่น เคเบิลหรือดาวเทียมก็ไม่ต้องไปสนใจ เพราะหน้าที่ของช่อง 3, 5, 9 หน้าที่คือว่า ไม่ต้องไปสนใจอะไร ก็ออกอากาศตามปกติ ส่วนคนจะเอาสัญญาณนี้ไปโผล่ที่ไหนอย่างไรจะไปห้ามไม่ได้ ต้องดูกันแบบฟรีหมด เรื่องมันน่าจะจบตรงนี้เพราะฉะนั้นเวลาที่ทรูวิชั่นส์ มีช่อง 3, 5, 7, 9 คือ ของฟรี เขาไม่ได้คิดเงิน ทรูไปดึงสัญญาณเอามาลงระบบไฟเบอร์ออปติกสายใยแก้วของตัวเองกับจานดาวเทียม ส่วนที่เสียเงินก็ดูช่องอื่นๆ ไป เพราะฉะนั้นช่องเหล่านี้ฟรีหมด เป็นหน้าที่ของช่อง 3, 5, 9 ที่จะต้องปล่อยให้ฟรี แกรมมี่ไม่มีสิทธิ์อะไรเลย แกรมมี่ไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรมาจากยุโรป เสร็จแล้วก็มาเอาออกอากาศที่ช่อง 3, 5, 9 ซึ่งเป็นฟรีทีวี เพราะอะไรที่โผล่บนจอช่องเหล่านี้ไม่มีใครไปลบให้มันมืดเป็นบางช่วงบางคราวได้ ยกเว้นรายการนั้นถูกแบน” นายสมเกียรติกล่าว
• “แกรมมี่” ควรถูกตำหนิเรื่องเอาเปรียบ ชี้แค่คนเช่าเวลา ไม่มีสิทธิ์มาปิดกั้น
นายสมเกียรติ กล่าวเสริมว่า แกรมมี่ไม่มีสิทธิ์ไปบอกทรูว่ารายการฟุตบอลยูโรที่โผล่ช่องฟรีทีวีออกอากาศไม่ได้ ต้องเอาเงินไปจ่ายแกรมมี่ จึงจะให้ดูได้ เพราะแกรมมี่ไม่ได้รับสัมปทานจากรัฐ ถ้าได้รับก็ต้องฟรีเช่นกัน ส่วนแกรมมี่ถ้าได้สัญญาณฟุตบอลยูโรมาผ่านดาวเทียมแล้วก็จะขายสัญญาณนี้ไปยังเคเบิลช่องต่างๆ ไม่ใช่ผ่านฟรีทีวี เป็นเรื่องของแกรมมี่ที่สามารถทำได้ ซึ่งจะทำกับทรูก็ได้ เช่น การเอาสัญญาณฟุตบอลยูโรแต่ละนัดมาใส่ในช่องทรูสปอร์ต แต่ถ้าทรูไม่ยอมซื้อฟุตบอลยูโรมาออกทรูสปอร์ตก็ไม่มีปัญหา แต่แกรมมี่นำสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรออกทางช่อง 3, 5, 9 ดังนั้นต้องออกอากาศตามปกติ ฉะนั้นทรูไม่ได้ทำผิดอะไร และไม่ควรถูกปรับจากที่ไหน เพราะว่าไปเอาของผิดกฎหมายมาออกอากาศไม่ได้ แต่แกรมมี่ควรจะถูกลงโทษ โดยการตำหนิในเรื่องความเอาเปรียบ ทั้งๆ ที่กฎหมายไม่ได้เอื้ออำนวยให้ โดยการไปบังคับให้ทรูต้องทำจอดำ ช่อง 3, 5, 9 ก็ต้องรับผิดชอบว่ารับสัมปทานมาแล้วมาปล่อยให้แกรมมี่มาทำให้จอดำได้อย่างไร
“นี่เราพูดในเชิงกฎหมายกับรัฐธรรมนูญ เอารัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้งเลย คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งกระจายเสียงและแพร่ภาพและกิจการโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ คลื่นความถี่ทุกคลื่นที่คุณใช้ตั้งแต่ส่งเสียงออกวิทยุ ส่งภาพออกโทรทัศน์ หรือคลื่นมือถือ ว.ที่เราใช้ เหล่านี้ต้องเอาสัมปทานมาทั้งนั้น เป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นประชาชนมีสิทธิ์ที่จะได้ดูฟรีจากช่อง 3, 5, 9 ไม่ว่าจะดูจากเสาอากาศบนหลังคาบ้านตัวเอง หรือจะดูผ่านจานดาวเทียมบนหลังคาบ้านตัวเอง ซึ่งจานดาวเทียมเป็นเครื่องมือในการรับสัญญาณจากช่อง 3, 5, 9 ที่ส่งในระบบความถี่เดิม เรื่องมันง่ายๆแค่นี้ มันน่าจะจบไปนานแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ กสทช.จะต้องทำก็คือบังคับให้ช่อง 3, 5, 9 ออกอากาศ ห้ามใครมาปิด คนเช่าเวลาไม่มีสิทธิ์มาปิด แกรมมี่คือผู้เช่าเวลา ก็ต้องบังคับให้ออกอากาศตามปกติ แล้วใครเอาช่องเหล่านี้ไปดูจะเอาไปขายไม่ได้ เอาไปดูฟรีได้” นายสมเกียรติกล่าว
• ชี้สังคมหลงประเด็น มองแค่มวย “แกรมมี่-ทรู” ยันมีกฎหมาย-รธน.รองรับ
นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า สังคมไปพุ่งเป้าที่ทรูกับแกรมมี่ โดยที่ปัญหาจริงๆ กลับอยู่ที่ช่อง 3, 5, 9 เพราะได้สัมปทานมาซึ่งออกอากาศฟรี จ่ายเงินให้รัฐแล้ว โดยช่อง 3 จ่ายผ่าน อสมท และช่อง 9 อสมท ไปจ่ายให้รัฐ ส่วนช่อง 5 เป็นของกองทัพบก กสทช.กลับหลงประเด็นไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องตลกที่บอกว่าปกป้องผู้บริโภคแกรมมี่จู่ๆ มาจัดการโดยช่อง 3, 5, 9 ไม่อนุมัติไม่ได้ เพราะฉะนั้นแกรมมี่ทำไม่ได้ แต่แกรมมี่เป็นคนทำ แล้วช่อง 3, 5, 9 สมยอม ทรูก็นึกว่าตัวเองผิด ซึ่งถ้าตนเป็นผู้บริหารทรูหรือเป็นที่ปรึกษาทรู ก็จะบอกว่าเราไม่เกี่ยว เราไม่ได้ทำอะไรผิดในระยะแบบนี้ กสทช.น่าจะใช้วิธีเจรจาและอธิบายให้มันผ่านไป ไม่ต้องไปปรับเพราะเป็นเรื่องตลก ส่วนการที่ กสทช.อ้างว่าแกรมมี่ใช้ช่องกฎหมาย ก่อนที่ระเบียบว่าด้วยการให้ฟรีทีวีต้องสามารถรับชมได้ผ่านทุกแพลตฟอร์มจะมีผลบังคับใช้เดือน ก.ย.นี้ เห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มีมาแล้วตั้งแต่ปี 2550 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีอยู่แล้วว่าคลื่นความถี่เป็นของรัฐ ของประชาชนให้สัมปทานไป เพราะฉะนั้นเอาไปใช้เพื่อออกอากาศฟรี ถ้าเอาไปใช้เพื่อออกอากาศแล้วคิดเงินก็จะอยู่ในระบบที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ ก็คืออยู่ในกลุ่มเคเบิล ดาวเทียม ซึ่งคนละแบบ เพราะฉะนั้นช่อง 3, 5, 7, 9, 11, TPBS เป็นช่องฟรีเสมอไป
“ได้พบคุณนที (พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กสทช.) ที่ออกรายการด้วยกัน ก็พูดว่าต่อไปนี้จะวางกฎเกณฑ์ว่าต้องบังคับให้ทุกคนเอาช่อง 3, 5, 9 ออกโดยให้ดูฟรี คือต้องบังคับเคเบิล บังคับทรู บังคับระบบดาวเทียมที่บอกรับเป็นสมาชิก ว่าต้องบังคับให้เอาช่องเหล่านี้แถมไปด้วย ที่จริงไม่ต้องบังคับเขาก็ชอบอยู่แล้ว เพราะเหมือนกับโบนัส และโลกปัจจุบันนี้เขาเลิกใช้เสาอากาศกันเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นชาวบ้านต่างจังหวัดที่ยังพอดูสัญญาณเหล่านี้ได้ ยิ่งในเมืองที่มีตึกสูงมันใช้เสาไม่ได้แล้ว ความถี่ที่กระจายออกไปชนตึกตรงไหนมันก็เด้งออกไม่มีวันเข้ามา เสาอากาศ ในเมืองใหญ่ทั่วประเทศใช้เสาอากาศไม่ได้ พอออกต่างจังหวัดก็พบว่าเสาอากาศใช้ได้ แต่สัญญาณไม่ค่อยดี ต้องหันให้ตรง ช่อง 3 กับช่อง 9 ส่งสัญญาณไปที่เสาอากาศที่หนองแขมนะ เพราะว่าส่งจากกรุงเทพฯ ไม่ได้ ก็ต้องใช้คลื่นไมโครเวฟไปที่หนองแขม ซึ่งเสาสูงและก็ส่งออกไปเป็นช่วงๆ 50-60 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นเสาอากาศเป็นสิ่งล้าสมัย การส่งสัญญาณด้วยคลื่นความถี่ยังทำอยู่ เพราะเขารับสัมปทานไป แต่ทุกช่องเดี๋ยวนี้เขาใช้ดาวเทียมกันหมดแล้ว โดยส่งสัญญาณขึ้นดาวเทียมแล้วไปส่งที่ศูนย์แพร่ภาพในสถานีย่อยต่างจังหวัด มันต้องเห็นใจประชาชน เขาเลิกใช้เสาอากาศกันแล้ว” นายสมเกียรติกล่าว
• ซัด “นที” ดักดาน ตีความฟรีทีวีคืออนาล็อก
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนยังกล่าวถึงบทบาทของ กสทช. ในยุคที่เทคโนโลยีระบบออกอากาศโทรทัศน์เปลี่ยนผ่านอยู่นั้น โดยกล่าวว่า กสทช.อยู่ในระหว่างที่จะเปลี่ยนจากอนาล็อกเป็นดิจิตอลในเวลาอันใกล้นี้ตามที่ กสทช.วางแผนแม่บทไว้ ในที่สุดแล้ว 4-5 ข้างหน้าจะต้องเป็นดิจิตอลหมด ก็ไม่ต้องมีเสาอากาศแบบทุกวันนี้ ซึ่งในอเมริกาได้ออกอากาศระบบดิจิตอลมานานแล้ว และเป็นข้อตกลงในระบบอาเซียนด้วย คนดูจะต้องเข้าใจว่าอันไหนที่จะได้ดูฟรี อันไหนที่จะต้องจ่ายเงิน แต่ พ.อ.นทีกลับไปตีความเรื่องทีวีภาคพื้นดินระบบอนาล็อก พอเป็นดิจิตอลส่งดาวเทียมแล้วบอกไม่ฟรี ซึ่งตนเห็นว่ายังถือว่าเป็นฟรีทีวี ต้นทางคืออนาล็อกเพราะถูกบังคับด้วยสัมปทาน ในขณะที่แต่ละสถานีใช้อุปกรณ์ออกอากาศระบบดิจิตอลหมดแล้ว ทั้งนี้ พ.อ.นทีเคยกล่าวว่าเป็นสุญญากาศมา 15 ปี เพราะฉะนั้น กสทช.เพิ่งเกิด กรรมการก็เพิ่งเข้ามา แล้วแผนแม่บทก็เพิ่งเสร็จ เมื่อมันยังไม่พร้อมก็ควรจะใช้วิธีอธิบายและอะลุ้มอล่วยระหว่างภาคผู้ประกอบการ แทนที่จะเป็นการปรับเงินแก่ทรูซึ่งเป็นวิธีที่เชยและไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร
ส่วนการที่ กสทช.อ้างว่ากรณีที่สั่งปรับทรูวิชั่นส์วันละ 2 หมื่นบาท เพราะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งทางปกครองนั้น นายสมเกียรติกล่าวว่าเป็นการตีความที่ผิด คำสั่งทางปกครองก็คือสัญญากับประชาชนว่าจะมีฟุตบอลยูโรดู คือโฆษณาไว้ ทรูฯ ประชาสัมพันธ์กับสมาชิกว่าจะได้ดูฟรี ที่จริงก็ต้องประชาสัมพันธ์อย่างนั้น เพราะมันจะผ่านช่อง 3, 5, 9 กสทช.ตีความว่าเมื่อประชาสัมพันธ์แบบนี้แล้วไม่มี จึงต้องปรับวันละ 2 หมื่น เป็นคำสั่งทางปกครอง แต่กฎหมายกลับคนละฉบับกับ พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ ซึ่งจะรู้ว่าข้อบกพร่องคือ กสทช.เพิ่งเกิด เพราะฉะนั้นก็ควรจะใช้วิธีคุยกัน เรียกมาประชุมแล้วก็อะลุ้มอล่วยกัน ตักเตือนกัน ซึ่งเห็นว่า กสทช.ก็เตือนแกรมมี่ไปว่า ถ้าทำตัวแบบนี้ไม่เห็นแก่ผู้บริโภค เวลามาขอสัมปทานก็จะเสียคะแนน
“แกรมมี่เป็นองค์กรธุรกิจ เขาหาเงิน ไม่ใช่สื่อสารมวลชนที่จะทำผลประโยชน์ให้กับประชาชนทุกคนทั้งจนและรวย เขาลงทุนชนะคนอื่นมาในเมืองไทยก็ต้องมาหากำไรที่นี่ ทุกวิถีทาง แต่ กสทช.ก็ต้องกันไม่ให้แกรมมี่หากำไรจากคลื่นความถี่ของประชาชนที่ผ่านช่อง 3, 5, 9 แกรมมี่ไม่มีอำนาจสั่ง 3, 5, 9 ให้ทำจอดำหรือไปบังคับทรูฯ ให้ทำจอดำ ถ้าแกรมมี่ก็ไม่เลือกออกอากาศช่อง 3, 5, 9 ก็ขายสัญญาณตรงไปยังเคเบิล แต่แกรมมี่เลือกที่จะเล่นทุกอย่าง เขาเองก็ทำเคเบิล ต้องการดูเยอะๆ ขายกล่องขายจานดาวเทียม คนดูซื้อกล่องก็ได้ดูฟุตบอล น่าจะพอแค่นั้น แต่หากำไรช่องทางที่สองคือ เอามาออกช่อง 3, 5, 9 เพราะขายโฆษณาได้เยอะกว่า นาทีละหลายแสน ถ้าขืนขายเฉพาะดาวเทียมของตัวเอง หรือไปขายให้เคเบิลต่างจังหวัดก็คงได้ไม่กี่ตังค์ ที่มันเป็นกอบเป็นกำคือในช่องฟรีทีวี เพราะโฆษณามันสูง ฐานคนดูทั่วประเทศ แล้วจ่ายค่าเช่าเวลา ฉะนั้นแกรมมี่ก็จะเอาเงินทุกทาง ซึ่งก็ไม่มีใครว่านะ แต่ไม่ต้องไปยุ่งกับทรูฯ เพราะทรูฯ ไม่เกี่ยว” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติยังกล่าวว่า ถ้า กสทช.วุ่นวายอย่างนี้ คุมใครก็ไม่ได้ ใช้วิธีปรับเล็กปรับน้อย ทรูฯ ก็คงจะจ่ายได้เพราะวันละ 2 หมื่น มันกระจอก ส่วนแกรมมี่ก็คงไม่ได้อะไรมากจากงานนี้ แต่ว่ามันไม่คุ้มกับชื่อเสียงที่ตัวเองกำลังจะเริ่มสร้าง แทนที่จะแสดงให้เห็นว่าใจถึง แล้วก็ไปทำสัญญาระยะยาวกับยุโรป เป็นพรีเมียร์ลีก บุนเดสลีกา ไปประมูลสู้กับทรูฯ ทำสงครามแข่งกันเอาเงินให้ฝรั่งไป ยิ่งมีคนดูมากโฆษณาก็ยิ่งพอใจมาก แล้วจะไปทำให้จอดำทำไม มาลบฐานคนดูจากทรูฯ 1 ล้านครัวเรือน คูณ 5 ก็ได้ บ้านละ 5 คน คนดู 5 ล้าน จู่ๆ ก็ทำตัวเลขนี้หายไป ไปถามเอซีนีลเส็นที่ทำเรตติงคนดู ก็หายไปชัดๆ เลยว่า 1 ล้านครัวเรือน 5 ล้านคน เวลาจะไปขายโฆษณาคนดูหายไป 5 ล้านคน และอยู่ในฐานผู้มีรายได้ดีด้วย คนที่จะซื้อสินค้าหายไป 5 ล้านคน ฉะนั้นเวลาวิเคราะห์จริงๆ ตนคิดว่าเอซีนีลเส็นหรือ Marketing Manager ของทุกบริษัทที่ซื้อสื่อจะรู้ว่าฐานคนดูหายไป 5 ล้านคน ฉะนั้นเวลาลงโฆษณา แกรมมี่จะมาหลอกล่อว่าคนดูเยอะกว่าเดิม เป็นไปไม่ได้
• มองโลกในภาวะ “รัฐไร้อำนาจ” กสทช.ต้องปรับตัว-แก้กฎหมาย ไม่ใช่แค่จำกัดโฆษณา
นายสมเกียรติกล่าวว่า เทคโนโลยีโลกปัจจุบัน รัฐอยู่ในสภาวะไร้อำนาจมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารข้ามพรมแดนผ่านดาวเทียมมันทำได้เองตามใจ ไม่ต้องเกรงใจรัฐ รัฐไม่มีพรมแดนกั้น ในทางรัฐศาสตร์หรือทางทฤษฎีสื่อสารก็จะบอกว่าขณะนี้โลกอยู่ในภาวะที่รัฐไร้อำนาจ หรือ Powerless State ซึ่งทุกวันนี้มีดาวเทียมอิสระมากมายทั้งทีวีขายของ ทีวีบันเทิง ทีวีการเมือง ในที่สุดก็ไม่ต้องขอสัมปทานเมืองไทย ไปเช่าช่องที่ไหนก็ได้โดย กสทช.คุมไม่ได้ เพราะไม่ใช่ดาวเทียมไทยคม แม้จะมีแผนแม่บทโทรคมนาคมก็บังคับใช้เฉพาะแผ่นดินไทย ส่วนคนอื่นไปใช้ช่องของชาติอื่นเพราะดาวเทียมเป็นของบริษัทเอกชน ทุกวันนี้ กสทช.ก็เล่าให้ตนฟังว่า เอกชนส่งโดยระบบเคเบิลใต้น้ำ บางรายก็ขอส่งผ่านไทยคมแล้วกระโดดไปที่ดาวเทียมดวงอื่นฉะนั้นในอนาคต กสทช.ต้องปรับตัวอย่างมาก
“ผมคิดว่าแผนที่เขาปรับอยู่ที่จะมีทีวีดิจิตอลนี่ถูกต้องแล้ว อนาล็อกนี่เลิกไปได้เลย พอมีช่องดิจิตอลก็จะให้คนมาอยู่ใต้ร่มเงาเดียวกัน เพราะมันจะมีช่องเป็นร้อยๆ ช่อง มันให้เหลือเฟือ ไม่ต้องออกไปใช้ต่างประเทศ กสทช.ก็จะได้ทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้คือได้ค่าใบอนุญาตใช้เทคโนโลยี หรือใช้คลื่นความถี่แบบส่งขึ้นดาวเทียม กับใบอนุญาตประกอบกิจการ สัมปทานที่ กสทช.จะได้ในอนาคต ทีวีดิจิตอลจะคิดเป็นเงินน้อยมาก ไม่เท่ากับที่ช่อง 3 ไปทุ่มแข่งประมูลแล้วชนะ ไม่ใช่แล้ว ต่อไปจะได้แค่ค่าใบอนุญาตกับค่าใช้ความถี่ส่งขึ้นดาวเทียมนิดหน่อยเป็นค่า service และถ้าจุกจิกมาปรับเขา เขาก็ส่งขึ้นดาวเทียมประเทศอื่นฉะนั้น กสทช.จะต้องปรับตัว ประชาชนปรับตัวไปนานแล้ว โดยเฉพาะพวกที่ทำช่องต่างๆ ของตัวเอง” นายสมเกียรติกล่าว
นอกจากนี้ นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า กสทช. โดยหลักก็ต้องปรับกฎหมายโดยไปแก้ที่ระเบียบหรือคำสั่ง ซึ่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุและทีวีมีอยู่ 3 แบบ คือแบบธุรกิจการค้า แบบของรัฐ และแบบของภาคประชาชน แต่แบ่งออกเป็นใช้ความถี่กับไม่ใช้ความถี่ ซึ่งก็คือเคเบิ้ล แต่ถ้าเขาไปใช้ดาวเทียมประเทศอื่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว ซึ่งเมื่อ 15 ปีที่แล้วร่างกฎหมายโดยไม่มั่นใจว่าอนาคตในทางเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร ใส่คำว่าโทรคมนาคมเข้าไปในรัฐธรรมนูญก็ใส่เข้าไปอย่างนั้น ขณะนี้อนาคตชัดเจนแล้วว่าจะเป็นแบบดิจิตอล และมีเสรีภาพมาก เพราะฉะนั้นทุกคนต้องปรับตัว และสื่อที่อยู่นอกกฎหมายไทยควรจะทำให้เป็นสื่อดีมีสาระ มีคุณธรรม ไม่อย่างนั้นก็ทำให้สังคมปั่นป่วน ตรงนี้ กสทช.จะคุมได้ ซึ่งต้องปรับตัวให้ทันกับสิ่งเหล่านี้ กฎหมายตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไม่ทัน กสทช.ก็ต้องปรับตัวในเรื่องคำสั่งระเบียบต่างๆ ไม่อย่างนั้นจะช้า บุคลากรก็ต้องทันสมัย ตีความระเบียบความกฎหมายให้มันทันสมัย