ASTVผู้จัดการออนไลน์ - วงเสวนา “ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค กรณีจอดำฟุตบอลยูโร 2012” เครือข่ายผู้บริโภคฉะกลุ่มทุนใหญ่-ฟรีทีวี ใจแคบ จับประชาชนเป็นตัวประกัน แกรมมี่ทำขึงขังกำลังถกยูฟ่าหาทางออก แต่ไม่วายขู่อาจถูก “ปิดจอ” กันทั้งประเทศหากละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วน กสทช.บ้อท่าเสือกระดาษไร้เขี้ยวเล็บ
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2555 เวลา 13.30 น.ตัวแทนจาก กสทช., เครือข่ายผู้บริโภค, ตัวแทนจาก บ.จีเอ็มเอ็มแซท, สมาคมผู้ประกอบการเคเบิล, ตัวแทนจากฟรีทีวีทั้งช่อง 3, 5, 9 และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้เข้าร่วมงานเสวนา ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเอเชีย ในหัวข้อ ‘ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค : กรณีจอดำ ฟุตบอลยูโร 2012’ โดยบรรยากาศการเสวนาเป็นไปอย่างเข้มข้น ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่เพื่อหาทางออกจากกรณีที่ประชาชนเรียกร้องว่า ถูกละเมิดสิทธิ์ในการเข้าถึงคลื่นโทรคมนาคม เนื่องจากประชาชนที่ติดจานเดียวเทียม และเคเบิลอื่นๆ ที่มิได้มีกล่องรับสัญญาณของจีเอ็มเอ็มแซท ไม่สามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ได้
จอดำ-ใจดำ ลิดรอนสิทธิ์ประชาชนตาดำๆ
ประเด็นหลักที่น่าสนใจนั้น มีทั้งการตั้งข้อสังเกตจากสมาคมเคเบิลทีวีที่มองว่าเหตุการณ์จอดำที่เกิดขึ้นกับจานดาวเทียมที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะ 3, 5, 9 เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ทั้งหมดล้วนเป็นผู้ประกอบการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น หากจะมีการเรียกร้อง ก็ต้องไปดูว่าจานใบไหนบ้างที่ผิดกฎหมาย แล้วใครบ้างที่หลอกให้คนหลงกลไปติดตั้งจานแล้วดูไม่ได้ ทั้งเน้นให้ตรวจสอบไปที่เรื่องของการมีใบอนุญาตว่าเครือข่ายสัญญาณดาวเทียม หรือเคเบิลที่ดูไม่ได้นั้น อาจเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
แต่ประเด็นดังกล่าวก็ถูกคัดค้านและตั้งคำถามกลับได้อย่างน่าสนใจทั้งจากตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคและนายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม ที่เน้นย้ำถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน และการที่ฟรีทีวีต้องส่งสารไปให้ถึงมวลชนถึงประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยไม่อาจหยิบยกตัวแปร หรือข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีมาอ้าง เพราะสิทธิของประชาชนที่มีต่อคลื่นโทรคมนาคมสาธารณะนั้น ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเป็นรูปแบบใด สิทธิของประชาชนย่อมไม่อาจถูกลิดรอนหรือทำลาย สำคัญกว่านั้น ในเมื่อแกรมมี่ก็ไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.แล้ว การถ่ายทอดสัญญาณผ่านกล่อง จีเอ็มเอ็ม แซท ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายหรือไม่?
ดังความเห็นจาก นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ที่ตั้งคำถามต่อแกรมมี่และฟรีทีวีที่คาดว่าอาจมีส่วนรู้เห็นกับการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา
“วันนี้ทีวีดูไม่ได้ เปิดแล้วมีแต่สัญญาณวิทยุ ช่อง 3 ไปตกลงอะไรกับแกรมมี่เราก็ไม่ได้รับรู้ เราคุยกันเรื่องเหตุการณ์เฉพาะหน้าวันนี้ ยังมีหน้ามาบอกว่าต้องไปหาข้อเจรจาระยะยาว เป็นยังไงไม่รู้? ที่เราสนใจ คือ เรื่องระยะสั้น ที่เราสนใจคือ เรารับไม่ได้ที่ธุรกิจมาจับมือกัน กสทช. ต้องจัดการ 3, 5, 7, 9
“เราหวังว่าเราจะได้ดูฟุตบอลยูโร เราไม่ได้อยากดูรายการแกรมมี่ เราอยากดูฟรีทีวีเราต้องได้ดู หากไม่ได้ดูเราก็จะไปดูที่ข้อกฎหมายว่า แกรมมี่ และผู้เกี่ยวข้องมีการทำผิดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตราไหนบ้าง เราไม่ได้ขู่ แต่เราจะทำจริงๆ เราจะทำให้ฟรีทีวีดูได้ เราจะใช้มาตรการทางกฎหมาย ต่อจากนั้น เราจะติดตามต่อไปด้วย ว่าทำไมบริษัทที่มีธุรกิจหมื่นล้านไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่คนขายก๋วยเตี๋ยวชามละ 30 บาท ยังต้องเสียภาษี เราจะตามต่อไป โดยใช้ข้อกฏหมายมาขับเคลื่อน”
นอกจากนั้น นางบุญยืน ยังตั้งคำถามทั้งแกรมมี่ และ ประวิทย์ มาลีนนท์ ตัวแทนจากช่อง 3 ว่า รู้จักคำว่าสิทธิประชาชนหรือไม่? ทั้งย้ำว่า กำไรมหาศาลนั้น ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ทั้งฝากถึงฟรีทีวีกับยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่ด้วยว่า “การที่ฟรีทีวีไปร่วมมือกันกับแกรมมี่ ผู้บริโภคก็ถูกละเมิดสิทธิ์”
ส่วนนายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการผู้จัดการ ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้โต้แย้งนางบุญยืน ว่า “เราไม่รู้ เรารู้แค่ว่าแกรมมี่เขาได้ลิขสิทธิ์ แล้วเขาก็มาจ้างเราออกอากาศก็แค่นั้นเอง” คำตอบดังกล่าวทำให้นายประวิทย์ถูกถามกลับจากนางบุญยืน ว่า นายประวิทย์ คงไม่รู้เรื่องสิทธิของผู้บริโภคเลย
ในการเสวนาตอนหนึ่งนายประวิทย์ ได้แสดงความเห็นว่า จริงอยู่กีฬาที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นกีฬาของมนุษยชาตินั้น ไม่ว่าฟุตบอลยูโร โอลิมปิก หรือฟุตบอลโลก ทุกอย่างล้วนมีต้นทุน มีค่าใช้จ่าย ต้องมีคนไปซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งฟรีทีวีไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ายูฟ่าเขาต้องขายลิขสิทธิ์ และใครจะเป็นคนไปซื้อลิขสิทธิ์? ต้องมีค่าใช้จ่าย ใครจะเป็นคนไปซื้อ? ฟรีทีวีไม่มีปัญหา แต่เมื่อยูฟ่าต้องขาย เราก็ต้องซื้อ วันนี้แกรมมี่ขายกล่อง แล้วถ้าวันหน้าก็มีคนขายกล่องอย่างที่แกรมมี่ทำ เมื่อถึงตอนนั้นจะมีคนมองแกรมมี่อย่างนี้หรือเปล่า?
สำหรับความเห็นอีกด้านหนึ่ง นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในตัวแทนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าหนวดกุ้งกลายเป็นอดีตไปแล้ว แม้จะมีการใช้อยู่ในบางพื้นที่ก็ตาม แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีตึกสูงขึ้นบดบังคลื่น เราคงไม่อาจทำหนวดกุ้ง หรือก้างปลาสูงเป็นร้อยชั้นได้ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ แกรมมี่ได้กำไรมหาศาล ขายกล่องจีเอ็มเอ็มแซทได้ ขยายฐานลูกค้าได้ แต่อนาคตต้องการวางกรอบกติการ่วมกัน แม้จะมีการเข้ารหัสการรับสัญญาณถ่ายทอดดาวเทียม แต่ต้องไม่มีการปิดกั้นการเข้าสัญญาณฟรีทีวี
“ประเด็นหลักของปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องที่คนกลุ่มหนึ่งถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงคลื่นโทรคมนาคม ดังนั้น ต้องมาพูดคุยกันว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์จอดำในช่วงของฟุตบอลยูโร รวมถึงเพื่อไม่ให้เกิดจอดำในช่วงฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า หากแก้ไขไม่ทันในช่วงฟูตบอลยูโร ก็ต้องมาคุยปัญหานี้กันต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต”
ฝากถึงฟรีทีวี อย่าลากคนดูเป็นตัวประกัน
ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนาเสนอความเห็นว่าสำหรับการสื่อสารมวลชนนั้น สิ่งที่จะทำให้เท่าเทียมกันได้คือเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี แต่ตอนนี้เรากำลังเล่นเอาเถิดเอาล่อกับเศรษฐกิจและเทคโนโลยีโดยมีการเมืองมาแทรก ทั้งที่เมื่อมี กสทช. เกิดขึ้นมา เราก็ควรจะจบได้แล้ว ในโลกนี้ ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร แต่ทีวีในโลกนี้มีอยู่ 2 แบบเท่านั้น คือ แบบจ่ายเงิน และไม่จ่ายเงิน หรือแบบฟรีทีวี และแบบไม่จำกัดคลื่นความถี่
“ใน พ.ร.บ.กำกับวิทยุโทรทัศน์ฯ มาตรา 32 วรรค 2 พูดเรื่องการกีดกันการแข่งขันที่ระบุไว้ชัดเจน ช่อง 9 อสมท นี่หนักกว่าเพื่อนเลยนะครับ อสมท คือ องค์กรสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย นั่นหมายความว่าคุณต้องสามารถถ่ายทอด ต้องส่งสารไปถึงประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียม
“ฟรีทีวี คือ 3, 5, 7, 9 จะรับถ่ายทอดใครก็ตาม ต้องถ่ายทอดโดยไม่จำกัด ไม่สามารถนำเรื่องเทคโนโลยีมาเป็นข้ออ้าง เพราะสิทธิ์ของประชาชที่ต้องได้รับสารอย่างทั่วถึง หรือการที่ต้องส่งสารไปให้ถึงประชาชนนั้นไม่มีเรื่องของเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง แต่ถือเป็นสิทิ์ที่ประชาชนต้องได้รับอย่างเท่าเทียม
“ถ้าบอกว่าจะดู 3, 5, 7, 9 ต้องซื้อหนวดกุ้ง ก้างปลา แล้วทำไมต้องจำกัดสิทธิ์ ในเมื่อจานมันถูกกว่าก้างปลาแล้วทำไมต้องซื้อก้างปลา
“ถ้าเราไม่นำเรื่องของปรัชญาการสื่อสารมาใช้ เรื่องนี้จะไม่จบ ผมไม่พูดถึงทรู ไม่พูดถึงแกรมมี่ แต่ผมจะพูดถึงประเด็นว่า วันนี้เราจะอยู่กันอย่างไร? เมื่อ 3, 5, 7, 9 อยู่ภายใต้สัมปทานอะไรบางอย่าง เราเอาคนดูเป็นตัวประกัน แล้วเอาการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยีมาเป็นจำเลย”
ส่วนนายเดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการสายงาน Platform Strategy บ.จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด เผยในวงเสวนาว่า วันนี้ ( 14 มิ.ย.) แกรมมี่มีการคุยนอกรอบกับรัฐบาลโดยจะใช้จดหมายจากรัฐบาล เจรจากับยูฟ่า เพื่อบอกว่านี่ไม่ใช่ปัญหาทางธุรกิจแล้ว พรุ่งนี้น่าจะได้ทางออก ว่าข้อสรุปเรื่องจอดำจะหาทางออกอย่างไรบ้าง เราจะต้องเร่งเจรจา และหาข้อสรุปที่พึงพอใจกับทุกฝ่าย แต่ไม่ว่าผลสรุปจะเป็นอย่างไรก็ตาม ถ้าข้อเจรจากับยูฟ่าจะบรรลุข้อตกลง ถ้าเขาเห็นว่านี่เป็นปัญหาระดับชาติที่ยูฟ่าจะต้องร่วมแก้ไข เราก็คงจะได้ดูภายใต้กรอบกติกา
“แต่ถ้ายูฟ่าบอกว่า นี่เป็นปัญหาภายในของเราเองที่ต้องแก้ไข ถ้าหากเปิด ละเมิดลิขสิทธิ์ เราก็อาจไม่ได้ดูกันทั้งประเทศ แต่ผมเชื่อว่าเราจะพยายามไม่ให้เกิดขึ้น” ทั้งเผยว่าในการพูดคุยกับรัฐบาลวันนี้ รัฐบาลได้ขอดูสัญญาที่แกรมมี่ทำไว้กับยูฟ่า ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความลับ แต่เมื่อรัฐบาลต้องการ แกรมมี่ก็จะให้ดูสัญญาฉบับดังกล่าว
“เรื่องปัญหาลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศนั้น หากยูฟ่ามองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เราก็อาจถูกปิดจอ ไม่ให้มีการออกอากาศ”
ทางออกชั่วคราว ทำอย่างไร ให้ ‘จอไม่ดำ’
ในช่วงท้ายของการเสวนา นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ตัวแทนจาก กสทช. ได้สรุปประเด็นการเจรจาและหาทางออกสำหรับผู้บริโภคที่ถูกลิดรอนสิทธิ์ ทั้งยอมรับว่ากรณีลูกค้าของทรู วิชั่นส์ ที่ต้องประสบปัญหาจอดำนั้น ยังมองหาทางออกลำบากเพราะทรูเป็นจานดาวเทียมที่ให้ลูกค้าจ่ายเงินรายเดือน แต่สำหรับจานดาวเทียมและเคเบิลอื่นๆ หรือจานดำที่ลูกค้าไม่ได้จ่ายรายเดือน แต่เขาดูจานดำเหล่านั้นเสมือนดูฟรีทีวีนั้น แกรมมี่ต้องรับหน้าที่ไปพูดคุยกับยูฟ่าว่าจานดำเหล่านั้น เปรียบเสมือนเป็นฟรีทีวีของคนไทยไปแล้ว จะอธิบายให้ยูฟ่าเข้าใจได้หรือไม่
“แต่สำหรับลูกค้าทรูก็ต้องได้รับความคุ้มครอง ได้รับการเยียวยา เราพูดกันกว้างๆ ก่อน สำหรับกรณีทรูวิชั่นส์ ลำบาก แต่กรณีจานดำที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่ สำหรับประชาชนที่ดูไม่ได้ ต้องหาทางว่าทำอย่างไรจะดูได้ เพราะทีวีดาวเทียมก็เป็นช่องทางในการดูฟรีทีวีของคนไทยไปแล้ว เพราะเราช้าในเรื่องดิจิตอล ถ้าจีเอ็มเอ็มสามารถเจรจากับยูฟ่าได้ มุมที่ถูกประชาชนโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ กดดันก็จะเบาลงได้ เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอลยูโรแต่เป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสำคัญมากจนกลายเป็นวาระแห่งชาติ มันไม่ใช่แค่เรื่องจะได้ดูบอลหรือไม่ได้ดูบอล แต่มันเป็นเรื่องของสิทธิสาธารณะ
“ถ้าแก้ปัญหาลูกค้าทรูวิชั่นที่จอดำไม่ได้ ก็ลองแก้ปัญหาลูกค้าจานดำก่อน ซึ่งก็พอจะมีทางออก ส่วนลูกค้าของทรู วิชั่นส์เอง เราคงจะต้องคุยอย่างละเอียดว่า ทรูจะทำอย่างไรเพื่อเป็นการเยียวยาลูกค้าให้ลงตัว ทรู วิชั่นส์ในฐานะที่กสทช.กำกับได้แล้ว คงจะต้องดูในข้อกฏหมาย แต่วันนี้เราไม่ได้ดูกันแค่ข้อกฏหมาย วันนี้เราจะต้องหาทางออกที่ไปไกลกว่านั้น คือในเรื่องของการทำธุรกิจที่เป็นธรรม อยากให้ทุกฝ่ายหันเข้าสู่กติกา ทำอย่างไรจะยืนอยู่บทพื้นฐานของความเป็นธรรม ซึ่งในภาวะแบบนี้เราจะต้องเลือกที่จะปกป้องคนที่อ่อนแอที่สุดก่อน ซึ่งก็คือผู้บริโภค
“สำหรับแกรมมี่ ในฐานะที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากเรา แต่ในอนาคตแกรมมี่ก็ต้องมาขอใบอนุญาตจากเราอยู่แล้ว ดังนั้น แกรมมี่ก็ต้องมาพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณตั้งใจที่จะปกป้องผู้บริโภค เพราะมันมีผลต่อการพิจารณาใบอนุญาตในอนาคต
“ส่วนฟรีทีวี ยังไม่จบ มีภาระต้องคุยกันต่อ เพราะฟรีทีวีมีอุปสรรคคือจากเดิมดูแลโดย อสมท. แต่ต่อไปฟรีทีวีก็ต้องมาขอใบอนุญาตจากกสทช. ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ยังไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น วันนี้ฟรีทีวีก็คงต้องไปคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์ว่าฟรีทีวีก็มีแฟนคลับของตัวเอง มีแฟนละคร แฟนข่าว เพราะที่ผ่านมาเขาก็เป็นลูกค้าของเรา มวลชนส่วนใหญ่พึ่งพาฟรีทีวี อยากให้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เอาประชาชนของฟรีทีวีเป็นตัวตั้ง ส่วนทรูวิชั่นโดดเดี่ยวอยู่เพราะลูกค้าทรูวิชั่นเป็นลูกค้าระดับพรีเมียม จ่ายเงินมาตลอด นั่นก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง
“เราก็ต้องมาคุยกันโดยแยกเป็นกรณีคือเยียวยาลูกค้าทรูวิชั่นส์ กับการแก้ปัญหาภาพรวม แกรมมี่เองในฐานะตัวแทนลิขสิทธิ์ ก็ต้องเป็นตัวแทนคนไทยไปเจรจากับยูฟ่า เพราะแกรมมี่ก็ไปประมูลสิทธิ์มาเพื่อคนไทย แต่ตอนนี้มีคนไทยคนไทยส่วนใหญ่ที่ดูฟรีทีวีไม่ได้จากหนวดกุ้ง แกรมมี่ก็ต้องไปคุยกับยูฟ่า
ยักษ์ใหญ่ใจแคบ และ กสทช.ที่ยังเป็นเสือกระดาษ
ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา ยอมรับกับผู้สื่อข่าว “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ว่า กสทช.ยังไร้เขี้ยวเล็บที่จะจัดการกับผู้ที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างจริงจังในกรณีจอดำ แต่จะรีบวางกรอบกติกาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต
“มี กสทช.เกิดขึ้นแล้ว แต่เรายังทำอะไรไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญก็ระบุว่าเราต้องมีเครื่องมือ แล้วเครื่องมือยังไม่เสร็จ เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราก็เป็นเสือครึ่งตัว กฏหมายระบุว่าเราต้องมีระเบียบที่มาจากประชาพิจารณ์และผ่านราชกิจจานุเบกษา แต่ถ้ามีกติกาออกมาแล้วเรายังทำอะไรไม่ได้ นั่นก็หมายความว่าเราเป็นเสือกระดาษจริงๆ ถ้าให้เปรียบตอนนี้ก็เหมือนเราไม่มีเขี้ยว มีแต่เล็บ แต่ถ้ามีเขี้ยวแล้วยังกัดไม่ได้นี่ก็หมายความว่าเราเป็นเสือกระดาษของจริง
“ในส่วนของ กสทช.เราก็ต้องขออภัยผู้บริโภคที่เรื่องนี้เราตั้งหลักช้า นี่เป็นเวทีครั้งแรกที่เราเชิญทุกฝ่ายมาคุย เป็นเวทีสาธารณะ และสร้างสัญญาประชาคมขึ้นมา อย่างที่บอกว่ากฏหมายเรายังไม่พร้อม เราก็ยังทำอะไรแกรมมี่ไม่ได้ วันนี้ขอให้เขามาก็ขอกันดื้อๆ แล้วข้อสรุปเบื้องต้นที่ได้วันนี้ ก็คือ DTV เขาก็ยอมแล้วว่าแม้เขาจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แกรมมี่ แต่ถ้าแกรมมี่จะตัดสินใจยอมให้ PSI ซึ่งเป็นคู่แข่งของ DTV ฉายฟรีทีวีได้ DTV เขาก็ยอม เพื่อให้ประชาชนได้ดู ส่วน PSI ก็รับปากว่าจะปกป้องสัญญาณไม่ให้ออกไปนอกประเทศ
“ดังนั้น มองในมุมหนึ่งก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่เอกชนยอมจะปรับตัวกันเอง แต่ที่เป็นปัญหาก็คือรายใหญ่อย่างทรูกับแกรมมี่ ที่คงเป็นเรื่องยากที่จะให้เขาคุยกัน ดังนั้น ขึ้นอยู่กับ กสทช.แล้วว่าในอนาคตจะต้องออกกติกาที่เป็นธรรม เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่มีความยุติธรรมและไม่ผลักภาระให้กับผู้บริโภค เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอย่างไรเราต้องขออภัยที่กสทช. ยังทำอะไรได้ไม่เต็มที่ เขี้ยวเล็บเรายังไม่มี แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เราเปิดเวทีให้ผู้บริโภคได้มาเจรจากับผู้ประกอบการและเราก็หามาตรการในระยะสั้น คือแกรมมี่ต้องไปตัดสินใจแล้วก็รอฟังแกรมมี่อีกที”
.....
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้รับฟังเสวนาบางคนว่านอกจากประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงการดำเนินธุรกิจที่ขาดความเป็นธรรมของแกรมมี่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือในขณะที่ผู้ประกอบการดาวเทียมหรือเคเบิลรายเล็กยอมจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้แกรมมี่เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับชมฟรีทีวีได้ แต่ยักษ์ใหญ่อย่างทรูกลับไม่ยอมขยับหรือไม่คิดที่จะทำอะไรเพื่อลูกค้าของตนที่เสียเงินรายเดือนเว้นแต่มีโปรโมชันให้เพื่อเป็นการเยียวยาลูกค้าที่ไม่สามารถรับชมฟรีทีวีผ่านทรูฯได้
ดังนั้น นอกจากยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่แล้ว ยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ก็สมควรจะถูกตั้งคำถามจากสังคมเช่นกัน เพราะขณะที่เคเบิลค่ายเล็กๆ และดาวเทียมท้องถิ่นต่างยอมรับกติกาเรื่องลิขสิทธิ์และรู้มานานค่อนปีว่าจะถูกปิดกั้นสัญญาณ แต่เหตุใดทรูจึงกลับโฆษณาว่าลูกค้าของทรูจะสามารถรับชมฟุตบอลยูโรได้ เป็นไปได้หรือ ที่ทรูจะไม่รู้ว่าแกรมมี่และฟรีทีวีปิดล็อกสัญญาณ
ผู้บริโภคได้เรียกร้องสิทธิของตนอย่างเต็มที่ เพราะพวกเขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ที่วันดีคืนดีทีวีของพวกเขาก็ ‘จอดำ’ ส่วนฟรีทีวี และแกรมมี่ควรต้องแสดงความรับผิดชอบและขออภัยสังคมตามที่วงเสวนาเรียกร้องและตั้งคำถามไปหลายประการ
เหตุการณ์จอดำที่เกิดขึ้น ทั้งทรู และแกรมมี่ รวมถึงฟรีทีวี 3, 5, 9 จึงย่อมต้องถูกสังคมเอกซเรย์ถึงความโปร่งใส ไม่น้อยไปกว่ากัน
.....
ถ่ายภาพโดย : สันติ เต๊ะเปีย