xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึก “เพื่อไทย” ถอย ไม่โหวต รธน.วาระ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
รายงานการเมือง

มูลเหตุที่แท้จริงซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และ ครม.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถอยร่นไม่กล้าเดินหน้าโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการรักษาชีวิตตัวเอง โดยเฉพาะต้องไม่ให้ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีเสี่ยงตาย

ทางการเมือง เพื่อไทยอาจมีภาพดูดีขึ้นมาบ้าง หากคนซึ่งไม่ได้ติดตามเบื้องหลังที่แท้จริงว่าทำไม เพื่อไทย ถึงไม่เดินหน้าโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ทั้งในการประชุมรัฐสภาเมื่อ 12 มิถุนายนรวมถึงในวันที่ 19 มิถุนายนซึ่งจะเป็นการประชุมรัฐสภานัดสุดท้าย หากเพื่อไทยจะเอาจริงก็ทำได้ เว้นแต่เอาไม่จริงอย่างที่คนเขาวิจารณ์กันตอนนี้

มองกันว่า เหตุที่ญัตติเสนอให้รัฐสภาโหวตไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นดันเกิดล้มไม่เป็นท่าในการโหวตเมื่อ 12 มิ.ย. 2555 เพราะคะแนนเสียงขาดไปแค่ 5 เสียง คือ 318 เสียงจากที่ต้องได้ 323 เสียง

เพราะเพื่อไทยไม่มีการประสานและคุมเข้มเสียง ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงการขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอย่างจริงจัง ทั้งที่หากดูจากเสียงเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรกมีเสียงเห็นชอบถึง 399 เสียง ขนาดรอบนี้ ส.ส.ภูมิใจไทยกลุ่มสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่เป็นฝายค้านยังมาร่วมโหวตให้ฝ่ายเพื่อไทยเสียงก็ยังไม่ถึง

สอดรับกับข่าวที่ปรากฏก่อนหน้านี้ว่า จริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่ ส.ส.เพื่อไทยโดยเฉพาะ ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรี แต่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลหลายคนรวมถึงพวก ส.ว.ที่อยู่กับฝ่ายเพื่อไทย หลายคนต่างไม่อยากเสี่ยง ไปโหวตหักดิบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงจะมีปัญหาข้อกฎหมายตามมาอีก หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของรัฐสภาดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วคนที่ไปโหวตดังกล่าว ทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่เมื่อเพื่อไทยเดินหน้ามาไกลมากแล้ว เล่นใช้เวทีรัฐสภาเปิดฉากถล่มศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนักหน่วงจนได้ใจคนเสื้อแดงและแนวร่วมจำนวนมากที่ไม่พอใจศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

หากเพื่อไทยถอยร่นหมด ทั้งการที่ไม่อยากมีมติคัดค้านคำสั่งศาลรธน.และมติโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ขืนทำไม่มีชั้นเชิงเช่นนั้น มีหวังแนวร่วมมวลชนฝั่งตัวเองเอาตาย ก็เลยต้องเล่นบทบาทลุยต่อจะขอโหวตคว่ำคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าเสียงดันขาดไป 5 เสียง

เรื่องนี้ก็เลยยุติลงไปโดยปริยาย แม้เพื่อไทยจะเสียหน้า แต่ก็อ้างได้ว่าเป็นอุบัติเหตุคาดไม่ถึง ทำอะไรก็ไม่ได้แล้ว เรื่องก็จบกันไป จากนี้ก็ไปรอลุ้นคดีกันที่ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมาทำให้พวกเสื้อแดงจำนวนมากโดยเฉพาะกองเชียร์ที่หนุนให้เพื่อไทย แตกหักกับศาลรัฐธรรมนูญเลยผิดหวังไปตามๆ กัน

เสื้อแดงบางสายจึงมีการส่งเสียงสะท้อนออกมาจำนวนมากโดยเฉพาะผ่านเครือข่ายสื่อออนไลน์เสื้อแดง ที่มองว่ารอบนี้เพื่อไทยเล่นสองหน้า ภายนอกทำเป็นขึงขังต้องหักกับศาลรัฐธรรมนูญให้เด็ดขาดแต่ใจจริงแล้วก็คือ หวั่นจะโดนศาลรัฐธรรมนูญจัดการหากไปโหวตค้านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และเกรงจะมีปัญหาเรื่องการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ จึงไม่ยอมทั้งโหวตรัฐธรรมนูญ วาระ 3 และโหวตสวนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

เสื้อแดงส่วนนี้เลยมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเล่นการเมืองแบบเอาตัวรอดของเพื่อไทย ไม่กล้าแตกหักกับศาลรัฐธรรมนูญทั้งที่มวลชนตัวเองหนุนเต็มกำลังให้ดับเครื่องชน แต่เพื่อไทย-ครม.-ทักษิณ ชินวัตร กลับสั่งถอย

จากปัจจัยสำคัญก็คือหวั่นเกรง ยิ่งลักษณ์จะพารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยตายหมู่

เพราะหากรัฐสภาโหวตเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 แม้ต่อให้เป็นวันที่ 19 มิถุนายน 2555 แล้วขั้นตอนต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดไต่สวนคดี 5 ก.ค.และ 6 ก.ค. 2555 แต่ก็ไม่มีหลักประกันได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเสร็จเมื่อใดและไม่รู้ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร แต่เมื่อถึงกำหนด 20 วัน นายกฯ ก็ต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ แบบเลี่ยงไม่ได้

ความเสี่ยงจึงอยู่ที่ตรงนี้ จุดที่แกนนำรัฐบาลอย่างเฉลิม อยู่บำรุง และทีมยุทธศาสตร์การเมืองของพรรคเพื่อไทยเช่น สมชาย วงศ์สวัสดิ์-นพดล ปัทมะ-สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เรียกว่า “แดนประหาร” หรือ Killing Zone

ที่มีการขยายความถึงเรื่องแดนประหารจากเฉลิม ที่วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้กลางที่ประชุมครม.เมื่อ 12 มิ.ย. 2555 ไว้ตอนหนึ่งซึ่งคณะรัฐมนตรีกำลังหารือถึงเรื่องการออกพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 19 มิถุนายน 2555 ว่า

“ถ้าเราโหวตวันนี้ก็แพ้วันนี้เลย ถ้าเราเดินต่อไปก็จะเป็นการผลักนายกฯ เข้าสู่คิลลิ่งโซนทันที เพราะเมื่อส่งเรื่องขึ้นไป แล้ว ถ้าไม่ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองขององคมนตรี ร่างก็จะแช่อยู่อย่างนั้น แล้วหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะมีทั้งทั้งม็อบเชิญ ม็อบรับจ้าง ทั้งแขกมีบัตรหรือไม่มีบัตร จะมากันหมด”

การยกเหตุผลเรื่องหวั่นเกรงจะมีปัญหาข้อกฎหมายตามมากับตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ของแกนนำพรรคเพื่อไทย-ทีมยุทธศาสตร์ของพรรค ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่ควรโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 คงมีแค่ทีมยุทธศาสตร์ของพรรคเพียงสองคนเท่านั้นที่เห็นแย้งคือเห็นว่าควรต้องโหวตได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง-พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย

จะพบได้อย่างหนึ่งว่า แกนนำพรรค-ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ต่างเชื่อไปแล้วว่า คำร้องนี้จะนำไปสู่การยุบพรรค ทั้งที่ยังไม่ได้มีวี่แววอะไรให้ต้องหวาดกลัวถึงเพียงนั้น แต่ฝ่ายเพื่อไทยก็พยายามจะหาวิธีป้องกันทุกรูปแบบ

ดูได้จาก ที่เฉลิม อยู่บำรุงยกเหตุผลเรื่องไม่ควรโหวตวาระ 3 มาอธิบายในที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยเมื่อ 11 มิถุนายน 2555 ซึ่งก็เป็นการวิเคราะห์เรื่องนี้เหมือนเช่นเดียวกับที่พูดในที่ประชุมครม.แต่เฉลิมพยายามบอกว่า หากคำร้องนี้จะขยายผลไปจนถึงการยุบพรรคเพื่อไทยจริง ก็ต้องรักษารัฐบาลเอาไว้ ไม่ใช่ไปตายหมู่กันหมด

“ถ้าทำแบบนั้นนายกฯ ก็อาจเดือดร้อน ต้องผ่อนหนักผ่อนเบา หากกระแสลมยังแรงก็ยังไม่ต้องจำเป็นต้องฝืน ถ้ารีบเร่งมีหวังได้ไปด้วยกันทั้งหมด ทั้ง ส.ส. และรัฐมนตรีด้วย เพราะหากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ บอกการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ผิดมาตรา 68 จริง เราอาจเสีย ส.ส. ที่ร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ แต่รัฐบาลยังอยู่ เราก็ยังมีอำนาจรัฐที่พอสู้ได้ แต่ถ้าจะโหวตวาระ 3 เลย มีโอกาสจะไปกันหมดทั้ง ส.ส.และรัฐบาล”

อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงแล้ว หากว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดซึ่งมีร่างของคณะรัฐมนตรีด้วย เกิดขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จริงรัฐมนตรีซึ่งร่วมประชุมเห็นชอบร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวก็ไปด้วยทั้งหมด ไม่ใช่แค่ ส.ส.เพื่อไทยที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรธน.เท่านั้น

แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะตัดสินแบบไหน อาจยกคำร้องทั้งหมดก็ได้ หรือเพราะรัฐบาลจะกลัวใคร? มากเกินไปหรือเปล่า?
กำลังโหลดความคิดเห็น