xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” แตก เสียงไม่พอโหวตคว่ำคำสั่งศาลฯ ทำญัตติตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประธานสภาฯ” ประกาศกลางที่ประชุมร่วมฯ ไม่ลงมติร่างแก้ไข รธน.วาระ 3 และ พ.ร.บ.ปรองดอง ท่ามกลางความไม่พอใจของ ส.ส.เพื่อไทยบางส่วน แต่ยังดันทุรังเสนอญัตติให้โหวตคำสั่งศาล รธน.ไม่มีผลผูกพันกับรัฐสภา ทั้งที่เป็นการประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ แต่สุดท้ายก็แพ้ภัยตัวเอง ทั้ง ส.ว.ในเครือข่ายและ ส.ส.รัฐบาลบางส่วนไม่เล่นด้วย กลัวติดคุก สุดท้ายผลโหวตได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ญัตติดังกล่าวต้องตกไป ขณะที่ ส.ส.เพื่อไทยหน้าจ๋อยพ่ายกลางสภา


ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า วันนี้ (12 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.45 น. มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีการพิจารณา คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ต่อจากการประชุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา และพิจารณากรอบเจรจาและข้อตกลงระหว่างประเทศ

หลังจากสมาชิกได้หารือเรื่องทั่วไปแล้ว นายสมศักดิ์ได้ชี้แจงการใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเรื่องการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ว่าได้ใช้ความรอบรอบพิจารณาอย่างถี่ถ้วน บทพื้นฐานประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และแนวทางการปรองดอง โดยตนตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ลงมติวาระ 3 ชัดเจน และจะไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ในสมัยประชุมนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทราบว่าคณะรัฐมนตรีมีมติแล้วให้ปิดสมัยประชุมในวันที่ 19 มิ.ย. วันนี้ตนมีเจตนาอยากให้พิจารณาข้อตกลงระหว่างประเทศในมาตรา 190 เพื่อไม่ให้ต้องมีการประชุมร่วมรัฐสภาอีกในสมัยประชุมนี้ การประชุม ส.ส.พรุ่งนี้ ถ้าเป็นไปได้ขอพิจารณาร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ฟอกเงิน และร่าง พ.ร.บ.ก่อการร้าย ถ้าจบแล้วก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องอื่นอีก รอไปจนปิดสมัยประชุม หลังจากนั้นค่อยว่ากัน เมื่อเราจะหันหน้ามาคุยกัน เรื่องปรองดอง เรื่องคำสั่งศาลัฐธรรมนูญ ถ้าจะให้ดีควรเริ่มต้นด้วยการจะไม่ให้มีการอภิปรายก็จะดี ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการสนองตอบจากฝ่ายค้าน และ ส.ว.บางส่วน โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แสดงความขอบคุณประธานที่ใช้ดุลพินิจเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปด้วยความเรียบร้อย พรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายค้านจะให้ความร่วมมือในการพิจารณาข้อตกลงระหว่างประเทศตามมาตรา 190

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ขอบคุณประธานที่ดำริเช่นนั้น และเห็นแก่บ้านเมือง เชื่อว่าทิศทางปรองดองมีโอกาสเป็นไปได้สูง เห็นด้วยถ้าจะเดินหน้ากรอบมาตรา 190 ตนก็จะขอถอนชื่อจากผู้ประสงค์จะอภิปราย และเชื่อว่าสมาชิกสวนใหญ่ก็เห็นด้วย

ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยกลับไม่เห็นด้วย และต้องการให้มีการอภิปรายในเรื่องนี้อีกต่อไป โดยนายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวแย้งว่า ประธานจะพิจารณาเพียงผู้เดียวไม่ได้ ควรให้สมาชิกมีส่วนร่วมแสดงความเห็นและประธานต้องรับฟังความเห็นของสมาชิกด้วย สิ่งที่ค้างในสภาจะมีความเห็นอย่างไร และหนังสือที่ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งมาถึงเลขาธิการสภา เพื่อให้แจ้งคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญต่อประธานสภา และมีหนังสือจากเลขาธิการสภา ส่งไปถึงประธาน ตนอ่านดูทั้งสองฉบับแล้วตกลงใครแจ้งใคร เป็นคำสั่งหรือคำขอ ดูเหมือนเป็นคำสั่งไปยังเลขาฯ สภา แต่ไม่ทราบตอนเลขาณส่งมาถึงประธานเป็นอย่างไร ดูตามตัวอักษรเป็นไปได้ทั้งคำขอ และคำสั่ง แต่เมื่อดูประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 264 และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากเกี่ยวกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยมีตุลาการสองท่านออกมาแสดงความเห็นว่าความจริงไม่สามารถสั่งยังประธานสภาได้ เลยต้องแจ้งไปยังเลขาธิการให้ไปแจ้งต่อประธานสภาอีกต่อหนึ่ง

ด้านนายสมศักดิ์ได้พยายามตัดบทหารือว่าควรยุติเรื่องนี้หรือไม่ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี หลังจากนั้นค่อยมาหารือกันใหม่ แต่นายพีรพันธุ์ยังไม่ยินยอม และยืนยันว่าเมื่อเรื่องยังคาอยู่ในสภาแบบนี้จะไม่ฟังสมาชิกเลย

ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ให้ข้อสังเกตว่า ความจริงยังไม่มีข้อยุติว่าความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญถูกหรือผิด ยังไม่มีใครชี้ขาดได้ ต้องยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่บางคนมีทัศนะความเห็นขัดแย้งต่อสถาบันตุลาการอย่างรุนแรง ซึ่งปกติฝ่ายนิติบัญญัติจะมีปัญหากับฝ่ายบริหารมากกว่า เพราะอำนาจแยกไม่ค่อยเด็ดขาดเพราะเป็นระบบรัฐสภาต้องใช้เสียงข้างมาก แต่ฝ่ายตุลาการจะชัดเจนเรื่องอำนาจ โดยฝ่ายสภานิติบัญญัติออกกฏหมาย ฝ่ายตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยใช้กฎหมาย ฉะนั้น คนจะตีความคือตุลาการ สภานิติบัญญัติอาจมีเจตนาเป็นอย่างนี้ แต่ตุลาการอาจจะเป็นอีกอย่าง ถือเป็นการแบ่งอำนาจในระบอบรัฐสภา เราไม่ควรขัดแย้งฝ่ายตุลาการถ้ายอมรับว่าอำนาจตุลาการเป็นฝ่ายวินิจฉัยกฎหมาย

“เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่ต้องยอมรับบทบาทของเขา เช่นที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้วินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ไป 4 ฉบับ ทางตุลาการมีความเห็นสองฉบับว่าไม่ขัดกฎหมาย จนบัดนี้ผมก็ยังไม่เห็นด้วยคือฉบับที่ 4 แต่ผมก็ยังเคารพอำนาจของท่าน ถ้าใช้แบบนี้ความขัดแย้งจะไม่มี ผิดถูกจะเป็นเรื่องที่จะชี้ต่อไปในอนาคต หากเกิดปัญหาอะไรตุลาการต้องรับผิดชอบ อำนาจแต่ละฝ่ายกำหนดบทบาทไว้ชัดเจนแล้ว การที่เราฟังและปฏิบัติตามไม่ได้เสียเกียรติศักดิ์ศรีอะไร ตรงข้ามถ้าเราไม่ทำหน้าที่ ไม่เคารพฝ่ายอื่นไม่ใช่วิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ผ่านมาผมยินดีที่หลายฝ่ายแสดงความเห็นและแตกฉานในมาตรา 68 และเป็นประโยชย์ที่จะร่วมกันพิจารณาในวันข้างหน้า วันนี้วิธีดีที่สุดคือเราเคารพอำนาจซึ่งกันและกัน ถ้าไม่ใช่อำนาจที่ผิดกฎหมาย” นายชวนกล่าว

นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี กล่าวว่า ตนได้เข้าชื่อขออภิปรายไว้ แต่ก็ยินดีจะไม่อภิปรายหากต้องการให้ยุติ หลังจากรู้สึกไม่สบายใจมาหลายวัน วันนี้เบาใจที่เห็นสมาชิกแสดงความเห็นรอมชอมกัน โดยเฉพาะหัวหน้าฝ่ายค้าน

หลังจากให้สมาชิกอภิปรายพอสมควร นายสมศักดิ์ได้สั่งปิดการอภิปราย แต่ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโลหะมุกดาธนพงษ์ ส.ว.มุกดาหาร กลับลุกขึ้นเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมที่ 31 ให้รัฐสภาลงมติว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภาหรือไม่ ทำให้ที่ประชุมมีการถกเถียงกันในเรื่องนี้กว่าชั่วโมง โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่สามารถเสนอญัตติในสมัยประชุมนิติบัญญัติได้ แต่อีกฝ่ายกลับเห็นว่าสามารถทำได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า วาระนี้เป็นวาระแจ้งเพื่อทราบ การจะไปลงมติเรื่องใดๆ จะกระทำไม่ได้ เพราะสมาชิกได้อภิปรายมากแล้วและมีบันทึกรายงานการประชุม สามารถส่งรายงานไปยังศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่หากจะมีมติของสภาต้องพิจารณาว่าสภามีอำนาจพิจารณาญัตติอย่างนี้หรือไม่ หากอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนคำสั่งก็ควรไปใช้สิทธิยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัย และหากมีการเสนอญัตติก็มีปัญหาที่จะต้องตอบว่าญัตตินี้จะให้สภามีมติอะไร เพราะสมัยประชุมนิติบัญญัติไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาญัตติใดๆ เป็นเรื่องของกระทู้ถาม และกฎหมายตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในฐานะที่รัฐสภาเป็นองค์กร หากอยากให้เป็นความเห็นขององค์กรก็ต้องใช้เสียงของสภา ตนเคารพที่การพิจารณาญัตติจะกระทำในสมัยนิติบัญญัติไม่ได้ แต่หากสภามีมติให้นำเรื่องอื่นมาพิจารณาในสมัยนิติบัญญัติได้ต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าคำสั่งของศาลผิดหรือถูก แต่แสดงเจตนารมย์ว่าไม่มีความผูกพันต่อรัฐสภา ก็ควรนำรัฐธรรมนูญมาตรา 127 ในการนำเรื่องอื่นมาพิจารณาในสมัยประชุมนิติบัญญัติก่อนได้

ฝ่ายนายสมศักดิ์กล่าวว่า มีผู้เสนอญัตติและมีผู้รับรองถูกต้องก็จะใช้มาตรา 127 วรรค 4 ที่ได้มีการให้ยกเว้นเอาไว้ แต่นายอภิสิทธิ์ทักท้วงว่า หากจะพิจารณาอะไรนอกเหนือที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ต้องทำเป็นหนังสือยกเว้นข้อบังคับล่วงหน้าตามข้อบังคับของสภา อยากรู้ว่าเหตุใดต้องอนุญาตให้พิจารณาญัตติเรื่องนี้ อยากถามว่ารัฐสภามีอำนาจในการพิจารณาเรื่องทำนองนี้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดขอบเขตของการประชุมร่วมกันของรัฐสภาไว้อย่างชัดเจนแล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวไม่เห็นด้วยต่อการเสนอญัตติคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญผูกพันรัฐสภาหรือไม่ เพราะถือว่าผิดข้อบังคับการประชุม เป็นการญัตตินอกวาระการประชุมไม่มีการนัดหมายมาก่อน นอกจากนี้ยังเป็นสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ซึ่งพิจารณาได้เฉพาะเรื่องกฎหมาย และเรื่องดังกล่าวเป็นญัตติไม่สามารถพิจารณาได้ในสมัยนี้ อีกทั้งการประชุมรัฐสภาในสมัยนี้พิจารณาได้ 16 เรื่องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 การเสนอญัตติลงมติไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งชะลอของศาลจึงทำไม่ได้ในสมัยการประชุมนี้

นายจุรินทร์กล่าวว่า ประธานสภาฯเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. และตามกฎกระทรวง อาศัย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น เมื่อเลขาธิการฯ และประธานรัฐสภา ได้รับคำสั่งของศาลแล้วต้องปฏิบัติตามในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และหากไม่ทำตามอาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และหากมีการลงมติไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาล พวกตนจะไม่ลงมติใดๆ พร้อมเดินออกจากห้องประชุม เพราะไม่ต้องการเป็นเครื่องมือโดยใช้มติดังกล่าว นำไปสู่นัดประชุมในครั้งหน้าต่อไปในการแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 เพราะผลที่ตามมานายกฯต้องนำกฎหมายที่มีมลทินขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน

ขณะที่ นายตวง อันทไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เมื่อประธานได้วินิจฉัยถูกต้องแล้วทำไมต้องสร้างเงื่อนไขปมปัญหาใหม่ขึ้นมา ทั้งๆ ที่ไม่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีประโยชน์ต่อรัฐสภา และประชาชน ที่ท่านประกาศเมื่อเช้าถือว่ามองเห็นว่าเป็นเส้นทางที่ทุกคนเคารพและเชื่อศาล เชื่อในกฎหมาย แต่หากท่านยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าอาศัยรัฐธรรมนูญมาตราใดให้ปฏิเสธคำสั่งนั้นได้ ก็ไม่อาจเดินต่อไปได้ เพราะอาจจะเป็นปัญหาต่ออนาคต

นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาฯ กล่าวว่า สมัยการประชุมนิติบัญญัติสามารถพิจารณาญัตติไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้รัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ดังนั้นตนจึงเห็นด้วยกับการลงมติดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องกับคำสั่งชะลอการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากนั้นนายสมศักดิ์ได้ตัดสินใจขอมติสมาชิก ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.บางส่วนรวมถึง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลได้เดินออกจากห้องประชุมไป ทำให้ที่ประชุมมีสมาชิกบางตา จึงทำให้นายสมศักดิ์ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการขออนุญาตไปทำธุระส่วนตัว 5 นาที เพื่อเปิดโอกาสให้วิปรัฐบาลตามตัว ส.ส.มาลงมติ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเช็กองค์ประชุม มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมเพียง 323 คน ผลปรากฏว่า มีผู้เห็นด้วย 318 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 งดออกเสียง 2 ถือว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 322 เสียง ถือว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยต่อญัตติดังกล่าว ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนแสดงสีหน้าผิดหวัง ซึ่งตรงข้ามกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์พากันส่งเสียงดีใจ












กำลังโหลดความคิดเห็น