“เทพไท” เรียกร้อง “สมศักดิ์” ไม่ควรให้สมาชิกอภิปรายคำสั่งศาล รธน. เหตุคำสั่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขณะที่สมาชิกที่อภิปรายล้วนใช้ความรู้สึกส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย จะมีการใส่ร้าย ดิสเครดิตศาล รธน.จนก่อให้เกิดปัญหาสร้างความแตกแยกระหว่างองค์กร เชื่อ “สมศักดิ์” คงเร่งโหวตแก้ รธน.วาระ 3 แน่ตามคำสั่งนายใหญ่ ซึ่งจะมีปัญหาตามมาแน่ แนะนายกฯ-ประธานรัฐสภา-อัยการสูงสุด ควรเข้ามาแก้วิกฤต มั่นใจรัฐบาลปรับ ครม. ปลาย ก.ค. รองรับศพ 111 ก่อนเปิดสมัยประชุมเพื่อหนีถูกซักฟอก
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 8 มิ.ย.ว่า น่าจับตามองว่าในการประชุมวันพรุ่งนี้จะมีการให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 หรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าประธานรัฐสภาสภาไม่ควรที่จะนำเข้ามาหารือในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีเหตุผล 5 ข้อ คือ
1. คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าชอบด้วยกฎหมายและสามารถเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ชัดเจนว่าผูกพันต่อทุกองค์กร 2. ความเห็นของสมาชิกรัฐสภาล้วนแล้วแต่เป็นความเห็นด้านการเมืองทั้งสิ้น เป็นความรู้สึก และความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ถ้าคนที่ไม่รู้กฎหมายมาอภิปรายก็จะเป็นปัญหา 3. หากการอภิปรายเป็นไปคนละทิศคนละทางระหว่างผู้ที่คัดค้าน สนับสนุน จะเกิดความแตกแยกในที่ประชุม เพราะที่ผ่านมาเห็นชัดว่าสภาเกิดความวุ่นวายเพราะต้นเหตุมาจากผู้ที่ทำหน้าที่ประธาน แม้จะเปิดให้อภิปรายก็ไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ในการที่จะไปดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อคำสั่งศาลได้
4. แม้ว่ามีการอภิปรายและลงมติ หากประธานจะหยิบเอามติเสียงข้างมากของที่ประชุมดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ใช่ความถูกต้องเสมอไป และไม่ใช่ข้อยุติในเรื่องนี้ และ 5. การเปิดในเวทีรัฐสภาเป็นการเปิดให้สมาชิกที่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ใส่ร้าย พาดพิง หรือดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์กรอิสระ เพราะมีกระแสข่าวว่ามีคนจองกฐินถล่มศาล ซึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย เพราะคู่กรณีอย่างศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถมาชี้แจงได้ ซึ่งไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ถูกกล่าวหา จึงไม่ควรนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม หากประธานจะตัดสินใจอย่างไรเป็นสิทธิ และต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง ไม่อย่างนั้นจะมาอ้างมติสภาปฏิเสธผลการรับผิดชอบอีก ดังนั้น ไม่ควรเอามติหรือสถาบันรัฐสภาไปเกี่ยวข้อง เพราะเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กร
นายเทพไทกล่าวว่า ตนคิดว่าการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงลงมติวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประธานรัฐสภาฯ คงจะเร่งรีบให้มีการลงมติวาระ 3 โดยเร็ว โดยดูจากความเคลื่อนไหวและปัจจัยรอบด้านที่ทำให้ประธานรัฐสภาฯ ตัดสินใจ คือ มีความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายสภามายังประธานสภา ว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญไม่ผูกมัดต่อรัฐสภา ดังนั้นก็มีความเห็นว่าสามารถเรียกประชุมได้ ส่วนบรรยากาศการชุมนุมกลุ่มที่คัดค้านอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็มีมติชัดเจนว่าจะไม่ชุมนุมคัดค้าน เพราะเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยแล้ว และเป็นเรื่องที่สภาต้องรับผิดชอบความเสี่ยงที่ตัวเองกระทำ น่าจะเป็นเหตุผลว่าเมื่อกลุ่มต่อต้านไม่ออกมาก็สามารถเดินหน้าโดยเร็วได้ และยังเป็นความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐ อำนาจรัฐ และการเปลี่ยนแปลงบทบาทสิทธิทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณในอนาคต
“หากจะชะลอออกไปจะเกิดความเสียหาย ซึ่งการขยายสมัยประชุมอย่างไม่มีกำหนด ก็เป้าหมายต้องการผลักดันแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องหลัก ทั้งหมดเป็นเหตุผลพอที่ประธานสภาสามารถผลักดันให้มีการลงมติโดยเร็วได้ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้คนที่จะปลดล็อกและแก้ปัญหาความขัดแย้งได้น่าจะมี 3 ส่วน คือ นายกรัฐมนตรี ที่จะแก้วิกฤตบ้านเมือง หากเห็นว่ายังมีปัญหาอีกเยอะในสังคม ก็เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมีมติ ครม.มีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม
นอกจากนี้ก็ยังมีตัวประธานรัฐสภาเอง หากไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ก็ควรงดเว้นไม่ให้มีการเรียกประชุมสภาต่อไป จนกว่าจะมี พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุม เพื่อแก้ปัญหาความหวาดระแวงในสังคม และสุดท้ายตัวอัยการสูงสุด (อสส.) ที่วิพากษ์วิจารณ์ ตามมาตรา 68 เป็นบทบาทของ อสส. หรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือทั้งสององค์กร ซึ่งเมื่อวานนี้ (6 มิ.ย.) ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้มาแถลงบทบาทหน้าที่และเหตุผลตามมาตรา 68 อย่างชัดเจน เหลือแต่ อสส.ที่ยังคลุมเครืออยู่ ดังนั้น อยากเรียกร้อง อสส.ได้แสดงความชัดเจนในเรื่องนี้โดยอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายการเมือง
นายเทพไทยังกล่าวถึงกรณีกระแสข่าวการปรับ ครม. จากการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เชิญหลายฝ่ายไปรับประทานอาหารเที่ยง พร้อมกับมีกระแสข่าวจะมีการปรับ ครม.ปลายเดือน ก.ค.นี้ว่า ข้อมูลทั้งหมดสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เราเคยพูดมาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะมีการปรับ ครม.ค่อนข้างแน่นอน เพราะสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ถูกปลดล็อกทางการเมืองไปแล้ว จะมีตัวจริงเข้ามาทำหน้าที่แทนนอมินีที่มารักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 1 ปี และจะต้องปรับก่อนเปิดสมัยประชุมสภาสามัญทั่วไปวันที่ 1 ส.ค. เพราะในสมัยประชุมสามัญทั่วไปฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ จึงเป็นโอกาสดีที่นายกฯ จะหนีการอภิปราย โดยพยายามเลี่ยงโดยปรับรัฐมนตรีที่มีผลงานไม่เข้าตา และมีประเด็นที่จะถูกอภิปรายออกได้ จึงเป็นไปได้ว่าจะมีการปรับ ครม.ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้