ครม.ตีกลับร่าง พ.ร.ฎ.ขอค่าตอบแทน กสทช. ขอเงินเกือบ 4 แสนต่อราย อ้างสูงเกิน ซัดประชาชนไม่รู้ทำงานอะไรบ้าง “ปลอดประสพ” นำทีมบอกหมั่นไส้จะมาเทียบชั้นฝ่ายบริหาร หวั่นเป็นบรรทัดฐานองค์กรอิสระอื่นขอค่าตอบแทบตามอำเภอใจ พร้อมเห็นชอบร่างกฎกระทรวง มท. แยกความผิดอาชญากรรมให้ ตร.สอบสวน
วันนี้ (5 มิ.ย.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ได้มีการตีกลับร่างพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับ การเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่ของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.... เนื่องจากเห็นว่าอัตราค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นรายเดือนที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน และเป็นค่าใช้จ่ายการปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่ ตามที่ กสทช.เสนอมาไม่เหมาะสม สูงเกินไป เพราะ กสทช.ขอค่าตอบแทนโดยกำหนดให้ประธานกรรมการมีค่าตอบแทนจำนวน 398,300 บาท รองประธานและกรรมการจำนวน 394,200 บาท โดยอ้างว่า กสทช.เป็นองค์กรอิสระที่พัฒนามาจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งก่อนหน้าที่ กทช.ก็ได้รับค่าตอบแทนในอัตรานี้ จึงเสนอมาในอัตราดังกล่าว
โดยที่ประชุม ครม.มีรัฐมนตรีหลายคนอภิปรายเรื่องนี้กันอย่างกว้างขว้าง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นอัตราที่สูงเกินไป มากกว่านายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ อีกทั้งเป็นการเสนอขอค่าตอบแทนสูงกว่าองค์กรอิสระอื่นๆ ปลัดกระทรวง ซึ่งถ้า ครม.เห็นชอบก็จะเป็นบรรทัดฐานที่จะเอาอย่างในการเสนอมาเท่าไหร่ก็ได้ และไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ซึ่งการขอแบบนี้เป็นการข้ามขั้นตอน เพราะ กสทช.ไม่ได้มีการเสนอกำหนดอัตราโครงสร้างค่าตอบแทนมาให้ ครม.พิจารณาด้วย
“วันนี้ กสทช.ทำอะไรไม่มีใครรู้ จะเอาค่าตอบแทนเดือนละ 3แสนกว่าบาท ในที่ประชุมครม. เช่น นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้ความเห็นว่า ไม่เห็นด้วย โดยฝากบอมาว่า ผู้นำองค์กรอิสระบางองค์กร บางตำแหน่ง เวลาไปงานต่างๆ พร้อมกับนายกรัฐมนตรี หรือนั่งเครื่องบินไปกลับนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับการดูแลปฏิบัติในระดับเดียวกับนายกรัฐมนตรี เห็นแล้วน่าหมั่นไส้ ทั้งนี้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอในที่ประชุม ครม.ว่าควรให้มีการกลับไปทบทวนใหม่ ไม่ควรเห็นชอบ ถึงจะอ้างเป็นประวัติศาสตร์อย่างไรก็ตามแต่ก็ไม่ควรเป็นอิสระจากประชาชน ที่ประชุม ครม.จึงเห็นควรให้มีการกลับไปศึกษาทบทวน โดยให้คณะกรรมการเงินเดือน สำนักคณะกรรมพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สภาพัฒน์) ไปศึกษาดูเรื่องอัตราตอบแทน ว่าจะให้ตามที่ กสทช.เสนอมาได้หรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมมีรัฐมนตรีบางคน เช่น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีรมว.คลัง เสนอความเห็นว่า องค์อิสระบางแห่งก็เป็นปกติที่จะต้องสูงกว่าฝ่ายบริหาร เช่น บอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ รมต.บางคนแย้งว่า ต้องดูเป็นส่วนๆ อย่างกรณีของแบงค์ชาติ ควรจะต้องมีการหลักเกณฑ์ให้ค่าตอบแทนอิสระที่ชัดเจน ไม่ใช่ให้ฝ่ายไหนเสนอ ควรใช้จุดนี้เริ่มศึกษาโครงสร้างค่าตอบแทนองค์กรอิสระต่างๆ โดยจัดเป็นกลุ่มเช่นกลุ่มองค์อิสระด้านการเงิน ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง” นายอนุสรณ์กล่าว
นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือกับนายอัชพร จารุจินดา เลขากฤษฎีกา ว่าองค์อิสระสามารถกำหนดค่าตอบแทนของตนได้หรือไม่ ซึ่งนายอัชพรกล่าวว่า ตอบไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายว่า ในเอกสารร่างพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่ของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ…มีความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พบว่า สำนักงบประมาณ และคณะกรรมพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ เห็นด้วยในหลักการ ขณะที่สภาพัฒน์มีข้อเสนอแนะ ว่าควรมีระบบการประเมินผลการทำงานของ กสทช. และแยกค่าจ่ายที่เบิกจ่ายจริงออกจากค่าตอบแทนแบบเหมาจ่าย
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจาก กทม. โดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งมีการกำหนดให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจมีหน้าที่สอบสวนความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการพนัน สถานบริการ อาวุธปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธ เนื่องจากมีสถิติการเกิดคดีสูง และอาจเกี่ยวพันกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งเป็นภารกิจหลักของตำรวจ ส่วนพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองมีหน้าที่สอบสวนความผิดตามที่กฎกระทรวง พ.ศ. 2554 กำหนด ยกเว้นความผิดกฎหมายว่าด้วยการพนัน สถานบริการ อาวุธปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธ นอกจากนั้นยังมีการยกเลิกการกำหนดควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนไว้ที่ทำการพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง กรณีจำเป็นต้องควบคุมตัวให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองมอบตัวผู้ต้องหาให้สถานีตำรวจในพื้นที่ทำการควบคุม