xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หมั่นไส้ กสทช. เงินเดือนสูงกว่า “นายกฯปู”ได้ไง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สัปดาห์ก่อน “ครม.ยิ่งลักษณ์” สั่งตีกลับ ร่างพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่ของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ….
 
 เนื่องจากเห็นว่า อัตราค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นรายเดือนที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน และเป็นค่าใช้จ่ายการปฏิบัติหน้าที่ต่างท้องที่เห็นว่า “กสทช.” เสนอมาไม่เหมาะสม สูงเกินไป

รัฐบาล เห็นว่า กสทช.ขอค่าตอบแทนโดยกำหนดให้ประธานกรรมการมีค่าตอบแทนจำนวน 398,300 บาท รองประธานและกรรมการ จำนวน 394,200 บาท

โดย ประธาน กสทช.คนปัจจุบันคือ “พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี” ในเอกสารเสนอ ครม. กสทช. ระบุว่าเป็นองค์กรอิสระที่พัฒนามาจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งก่อนหน้านี้ กทช.ก็ได้รับค่าตอบแทนในอัตรานี้ จึงเสนอมาในอัตราดังกล่าว

วันนั้น ครม.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นอัตราที่สูงเกินไป มากกว่านายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ หากดู เงินเดือน นายกรัฐมนตรี ของปี 2555 โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีเงินเดือน 125,590 บาท ขณะที่ รองนายกรัฐมนตรี มีเงินเดือน 119,920 บาท
 

รัฐมนตรีว่าการของทุกกระทรวง และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ 115,740 บาท รัฐมนตรีช่วยว่าการทุกกระทรวง113,560 บาท ประธานสภา 125,590 บาท ผู้นำฝ่ายค้าน 115,740 บาท ส.ส. ทั้งระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขต 500 คนได้เท่ากันคนละ 113,560 บาท ข้ามไปดูเงินเดืนอของ “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี มีเงินเดือน ปีละ 1,384,084 บาท เฉลี่ยเดือนละ 115,340 บาท

ครม.ยิ่งลักษณ์ วันนั้นหน้าดำคร่ำเครียดกับการเสนอขอค่าตอบแทน

ที่สูงกว่าองค์กรอิสระอื่นๆ

ในที่ประชุม สรุปว่า หากครม.เห็นชอบ ก็จะเป็นบรรทัดฐานที่จะเอาอย่างในการเสนอมาเท่าไหร่ก็ได้ และไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ซึ่งการขอแบบนี้เป็นการข้ามขั้นตอน เพราะ กสทช.ไม่ได้มีการเสนอกำหนดอัตราโครงสร้างค่าตอบแทนมาให้ ครม.พิจารณาด้วย

ถึงขั้น “นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งอกหักจากตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้กับ “ศันสนีย์ นาคพงศ์”สบถ!ขึ้นมาว่า “วันนี้ กสทช.ทำอะไรไม่มีใครรู้ จะเอาค่าตอบแทนเดือนละ 3 แสนกว่าบาท”ครม.หลายคนก็ยังเห็นว่า หากประธานกสทช. จะเทียบฐานะเงินเดือนของตัวเอง โดยอ้างอิงกับฐานเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ที่รวมกันแล้วได้รับเงินหนึ่งแสนกว่าบาทนั้น จะนำมาเทียบกันไม่ได้

“ประธานกสทช.ควรเทียบกับปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรี ไม่ใช่นำมาเทียบกับนายกฯ ตนหมั่นไส้มากหากเงินเดือนประธานกสทช.มีมากกว่านายกฯ”นายอนุสรณ์อ้างคำพูดของรัฐมนตรีคนหนึ่ง

ทำให้ มติครม.วันนั้น ขอให้มีการกลับไปศึกษาทบทวน โดยให้คณะกรรมการเงินเดือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สภาพัฒน์) ร่วมกันศึกษาดูเรื่องอัตราตอบแทนว่าจะให้ตามที่ กสทช.เสนอมาได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี “นายอัชพร จารุจินดา” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่สามารถให้ความเห็น กรณีองค์กรอิสระสามารถกำหนดค่าตอบแทนของตนได้หรือไม่

แต่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อื่นๆ เช่น สำนักงบประมาณและคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติเห็นด้วยในหลักการ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เห็นว่า ควรมีระบบการประเมินผลการทำงานของ กสทช. และแยกค่าใช้จ่ายที่เบิกจ่ายจริงออกจากค่าตอบแทนแบบเหมาจ่าย

เรื่องนี้ “นายฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ชี้แจงว่า

“ประธาน กสทช. รองประธาน กสทช. กสทช. ทุกท่านและสำนักงาน กสทช.ขอน้อมรับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช.ขอโอกาสที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีมีมติประการใด ก็ยินดีและพร้อมน้อมรับนำไปปฏิบัติต่อไป

อนึ่ง ประธาน กสทช. รองประธาน กสทช. และ กสทช.ทุกท่าน ล้วนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ตลอดจนการกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่มีมูลค่าในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาตินับแสนล้านบาทต่อปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ”

ไม่มีการตอบโต้!!!

แต่ย้ำว่า ค่าตอบแทนรายเดือนเ กสทช.หมาะสม แต่รัฐบาลจะพิจารณาอย่างไรก็ไม่ขัดข้อง

ย้อนกลับไปดู งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 จำนวน 3,518.90 ล้านบาท ที่ เลขาธิการ กสทช.แถลงไม่นานมานี้

มีการกำหนดการจัดตั้งงบประมาณเป็นแบบสมดุล หรือ ทำให้รายรับกับรายจ่ายพอดีกันภายใต้ 6 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย 1.การบริหารองค์กร จำนวน 481.79 ล้านบาท 2. งานด้านยุทธศาสตร์องค์กร จำนวน 1,275.64 ล้านบาท 3. งานด้านภูมิภาคและบูรณาการ จำนวน 131.71 ล้านบาท 4. กิจการโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียง (กสท) จำนวน 700.51 ล้านบาท 5. กิจการโทรคมนาคม (กทค.) จำนวน 768.52 ล้านบาท 6. งบจัดสรรเข้ากองทุน 75 ล้านบาท และงบกลางจำนวน 80 ล้านบาท

กสทช. จัดแบ่งเงินสำหรับลงทุนโครงการต่าง ๆ เพียง 895.34 ล้านบาท รวม 101 โครงการ ซึ่งในนี้เป็นโครงการใหม่ 89 โครงการ ใช้งบ 770.98 ล้านบาท และเป็นโครงการที่จะดำเนินงานในปี 2555 จำนวน 34 โครงการ ใช้งบ 372.20 ล้านบาท

ส่วนใหญ่หมดไปกับเรื่องการดำเนินงานของ กสทช.และสำนักงาน กสทช. จำนวน 2,392.56 ล้านบาท เช่น ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และค่าใช้จ่ายในการจัดการและบริหารองค์กร เป็นต้น

ขณะที่งบผูกพันข้ามปีมี 398.7 ล้านบาท รวม 55 โครงการ ส่วนใหญ่ใช้ไปกับเรื่องการจ้างที่ปรึกษา และพัฒนาระบบ เช่น จ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนและปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน กสทช.ปี 2555-2556 รวม 25 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างอาคารสำนักงานปี 2555-2556 รวม 75 ล้านบาท จ้างทำและพัฒนาระบบบริหารการเงินการบัญชีระบบการจัดการรายได้ 98 ล้านบาท และพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล 60 ล้านบาท

ระหว่างรอที่ปรึกษาออกแบบตึก กสทช.ได้อนุมัติงบผูกพันระหว่างปี 2554-2557 เพื่อให้ กสท เช่าอาคารสำนักงานเพื่อรองรับภารกิจของ กสท จำนวน 73.07 ล้านบาท ก่อนที่จะกลับมาทำงานยังอาคารที่สำนักงาน กสทช.จัดสร้างไว้ให้ เบื้องต้นแม้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เล็งสร้างอาณาจักรของ กสทช.ที่รวมทั้ง กทค. และ กสท บนพื้นที่ซอยอารีย์ (ที่ตั้งปัจจุบัน) หรืออาจบนพื้นที่ในแคราย บริเวณงามวงศ์วาน

ทั้งนี้ รายได้ที่ กสทช.ใช้ในการจัดสรรงบประมาณปี 2555 มาจากค่าใบอนุญาตในการประกอบกิจการโทร คมนาคม 2 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 1,456 ล้านบาท ค่าเลขหมายโทรศัพท์ จำนวน 103 ล้านเลขหมาย (1 เลขหมาย มีค่าธรรมเนียม 2 บาท) รวม 2,243 ล้านบาทต่อปี ค่าตอบแทนการใช้ความถี่ 112 ล้านบาท ใบอนุญาตวิทยุโทรคมนาคม 50 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอินเทอร์เน็ต 4 ล้านบาท และค่าตรวจสอบเครื่องวิทยุโทรคม 5 ล้านบาท โดยรายได้ทั้งหมดปีนี้เป็นรายได้จากกิจการด้านโทรคมนาคม ยังไม่มีรายได้จากกิจการโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียง
 

ซึ่งเป็นรายได้ที่เอกชนผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเก็บจากผู้บริโภคแล้วจ่ายให้ กสทช.เอาล่ะ...ที่กล่าวมาเป็นโครงการอภิมหาโปรเจคท์ กสทช. ผ่านการเห็นชอบแล้ว และงบประมาณ กสทช. ปี 2555 จะมีการพิจารณาทบทวนอีกครั้งในไตรมาส 3 หรือเดือน ก.ย. นี้ ว่าโครงการเดินหน้าและใช้งบตามเป้าหมายหรือไม่ ถ้าไม่! อาจได้เห็น กสทช.ส่งเงินเข้ากระทรวงการคลังเพราะใช้จ่ายไม่ทัน และอาจเปลี่ยนจากการตั้งงบประมาณแบบสมดุล เป็นงบประมาณไม่สมดุล.

กสทช.เชื่อว่า ทั้งนี้ ปี 2555 กสทช.คาดการณ์ว่าจะมีรายได้รวม 3,910 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากกิจการโทรคมอย่างเดียว เพราะกิจการกระจายเสียง-กิจการโทรทัศน์ยังไม่มีรายได้ โดยรายได้มาจาก 1.ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2%จำนวน 1,456 ล้านบาท

เห็นตัวเลขงบประมาณปี 2555 ที่กสทช.ได้รับจัดสรรถือว่าเป็นหน้าที่ กิจการ ที่เหมาะสมของกสทช.ที่จะต้องจับให้ได้ ไล่ให้ทันกับเทคโนโลยีสื่อสารของบ้านเรา

แต่ที่ ครม.ยิ่งลักษณ์ ถึงขั้น ถกเครียด กรณีที่ กสทช.ขออนุมัติเงินเดือนเกือบ 4 เเสนบาท

รัฐมนตรีที่พูดใน ครม.วันนั้นก็พูดชันเจนแล้วว่า “หมั่นไส้” เหมือนกับว่า กสทช.ได้ดีเกินหน้า

สรุปแล้ว เงินเดือน! จะมากกว่าครม.ชุดนี้ได้ยังไง.

กำลังโหลดความคิดเห็น