xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” โยน “วรวัจน์” คุยปิดสภา ปัดสวะแก้ รธน.ปรองดอง “ซูจี” - ยันยังไม่ให้มะกันใช้อู่ตะเภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ โยน “วรวัจน์” ถกวันปิดสภา ยันไม่ขัดฝ่ายค้านแต่ต้องดูมีอะไรเร่งด่วนหรือไม่ โบ้ยวิปรัฐคุยสภาแก้รัฐธรรมนูญ-ปรองดอง อ้างต้องหาทางออกร่วมกัน เผย ปธ.เสธ.ทหารมะกัน พบคุยแลกเปลี่ยนด้านกองทัพ ระบุยังไม่ตัดสินใจให้ใช้อู่ตะเภา ไม่พูด “เต็งเส่ง” ฉุน อ้างเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมเชิญ “อองซาน” มาแค่ใช้ไทยประชุม บอกรัฐดูแลแค่ความปลอดภัย

วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่การออกพระราชกฤษฎีการปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติทั่วไปว่า เวลานี้ได้มอบหมายให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ในฐานะเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานงานเรื่องการสภาฯไปหารือถึงวันและเวลาที่เหมาะสมในการปิดสมัยประชุมสภาฯ และต้องหารือร่วมกับทางวิปรัฐบาลด้วย ผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านระบุว่าควรปิดสมัยประชุมสภาฯ เพื่อลดดีกรีความขัดแย้ง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จริงๆ เราไม่ติด แต่ต้องดูว่าในสภาฯมีอะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วนค้างอยู่และจะพร้อมเมื่อไร โดยตามขั้นตอนจะต้องมีการสรุปออกมา ซึ่งต้องมีความเห็นชอบจากทางด้านวิปรัฐบาลด้วย

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยหรือไม่ที่ควรจะให้ปิดสมัยการประชุมสภาฯได้แล้วเพื่อให้ ส.ส.ลงพื้นที่พบปะประชาชนบ้าง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่างที่เรียนได้มอบหมายให้ไปคุย เพราะเราเองไม่รู้ว่าเนื้อหาข้างในมีอะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วนบ้าง ขึ้นอยู่กับทางสภาฯและหากสภาฯ ยืนยันไม่มีอะไรเราก็ปิดได้

เมื่อถามว่า เรื่องการพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งตอนนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อันนี้ขอให้เป็นเรื่องของสภาฯและทางวิปรัฐบาลที่จะหารือกันดีกว่า เมื่อถามว่าในฐานะที่รัฐบาลเป็นฝ่ายยื่นร่างรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในส่วนนี้ก็เช่นกันได้มอบให้นายวรวัจน์ศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอยู่

นายกรัฐมนตรียังให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าพบของ พล.อ.มาร์ติน อี.เดมป์ซีย์ (Martin E.Dempsey) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐอเมริกาว่า เป็นความร่วมมือที่เขามาเยี่ยมและการแลกเปลี่ยนด้านกองทัพพร้อมทั้งความร่วมมืออื่นๆ ที่เขาอาจมาช่วยในกรณีที่มีอุบัติภัยต่างๆ โดยในรายละเอียดทั้งสองฝ่ายจะคุยกันตามหลักเป็นการเยี่ยมตามวาระปกติที่มาร่วมประชุมกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายกังวลการเปิดพื้นที่ให้สหรัฐฯ เข้ามาใช้สถานที่อู่ตะเภา อาจแอบแฝงเรื่องทางการทหารเข้ามาด้วย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แน่นอนเราต้องคำนึงถึงความมั่นคง โดยทั้งหมดจะให้ทางกองทัพทำงานร่วมกันก่อน ในความร่วมมือต้องดูรายละเอียด ก่อนที่จะตัดสินใจ ยังไม่มีอย่างนั้นเป็นการเยี่ยมตามปกติ เมื่อถามว่า ไม่มีเรื่องการสอดแนมใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวปฏิเสธว่าไม่มี ตรงนี้ไม่อยากพูดเดี๋ยวจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ขอเรียนว่าเป็นการเยี่ยมตามวาระปกติ ยังไม่มีการตัดสินใจอะไรในเรื่องนั้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของรัฐบาลต่อการเดินหน้าพระราชบัญญัติปรองดองว่า ในส่วนของรัฐบาลคงให้ความร่วมมือกับทุกส่วนที่จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบและดูและเรื่องความปลอดภัย แต่เนื้อหาทั้งหมดนี้ก็ต้องอยู่ในส่วนของสภาฯและวิปรัฐบาลที่จะร่วมกันตัดสินใจ เราเองคงจะเป็นฝ่ายกำหนดทั้งหมดไม่ได้ เพราะอย่างที่เรียนอำนาจของแต่ละส่วนนั้นแยกออกจากกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะเป็นผู้นำประเทศคิดว่าเรื่องนี้ควรจะชะลอไว้ก่อนหรือไม่ รอให้สถานการณ์ความปรองดองในประเทศดีกว่านี้ก่อน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อันนี้ต้องบอกว่าเราต้องคุยกันว่าอะไรที่จะทำให้บรรยากาศที่จะนำไปสู่ความปรองดอง ต้องกลับมาถามคำถามนี้ มีวิธีไหน อย่างน้อยเราอยากเห็นมีทางออกที่เสนอด้วย คือไม่อยากเห็นแค่ทางที่บอกทำไม่ได้แล้วก็หยุด เพราะเกิดไม่มีทางออก อย่างที่เรียนเราไม่รู้จะเดินหน้าประเทศไปอย่างไร ถ้าถามคือกลับมาคุยและร่วมหาทางออกด้วยกัน แต่จะหาทางออกวิธีไหนมันคงต้องคุยกัน แต่ไม่ใช่บอกว่าไม่อยากให้มีเลย ถ้าไม่มีเลยแล้วเราจะทำงานกันอย่างไร เราจะเดินหน้าประเทศได้อย่างไร

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เลื่อนเดินทางเยือนไทย ซึ่งอาจเกิดจากความไม่พอใจการเคลื่อนไหวของนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดีว่า เรื่องนี้ขอยังไม่ตอบ เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จริงๆ เราเองจะมีการหารือกันตามปกติอยู่แล้ว ทั้งนี้ ขอเรียนว่านางอองซาน ซูจี ที่มาเยือนไทยนั้นมาในนามแขกของ world economic forum ซึ่งมาใช้สถานที่ในประเทศไทยในการประชุม การกำหนดเนื้อหาทางผู้จัดเป็นผู้ดำเนินการ รัฐบาลไทยคงทำได้เฉพาะการดูแลความปลอดภัยให้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันความสัมพันธ์ไทย-พม่ายังปกติดีใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องไปคุย ต้องไปหารือ เพราะเรื่องการเดินทางมาไทย ทางพม่าอาจจะติดกำหนดการ คงต้องไปสอบถาม ยืนยันรัฐบาลเองต้องร่วมกันสร้างความสัมพันธ์กับทางด้านประเทศในกลุ่มอาเซียนเช่นเดิม





กำลังโหลดความคิดเห็น