เมื่อปี 2001 ซึ่งกรีซเข้าร่วมเป็นสมาชิกเงินสกุลยูโร ตลาดการเงินของโลก เพิ่งจะผ่านวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ติดๆ กันหลายระลอก นับตั้งแต่วิกฤติการณ์การเงินในเอเชีย หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 1997 วิกฤติการณ์การเงินรัสเซีย ในปี 1998 และวิกฤติฟองสบู่ดอทคอม ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2000
สถาบันการเงินขนาดใหญ่ ของตะวันตก รวมทั้งกองทุนทั้งหลาย ต้องหาตลาดใหม่ๆ ที่มีความมั่นคงปลอดภัย และให้ผลตอบแทนที่ดี กรีซ คือ คำตอบ เพราะว่า กรีซ เป็นสมาชิกสกุลเงินยูโร ซึ่งจะต้องมีวินัยทางการคลัง ที่สอดคล้องกับกติกาของกลุ่มยูโร โดยเฉพาะในเรื่องการขาดดุล การคลัง ที่ต้องไม่เกิน 3% ของจีดีพี ภาระหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ต้องอยู่ในสัดส่วนที่กำหนด
การเป็นสมาชิกสกุลเงินยูโร ของกรีซ จึงเป็นใบรับประกันชั้นดี ที่ทำให้สถาบันการเงินวางใจว่า กรีซ เป็นลูกหนี้ที่ไม่มีความเสี่ยง ธนาคารขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐฯ จึงเต็มใจให้กู้ ในรูปของการซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีซ
อีก 10 ปีให้หลัง ความจริงจึงปรากฎว่า รัฐบาลกรีซมีหนี้สินมหาศาลถึง 3 แสนล้านยูโร หรือ 140 % ของจีดีพี มีการขาดดุลการคลัง ถึง 13 % ของจีดีพี ตัวเลขเมื่อปี 2001 เป็นการแต่งบัญชี เพื่อจะได้เข้าเป็นสมาชิกเงินยูโรได้ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซ ก็ก่อตัวขึ้น และยิ่งนานวัน ก็ยิ่งมีความชัดเจนว่าจะเอาไม่อยู่
สองปีที่ผ่านมาของกลุ่มยูโรซึ่งมีเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นหัวเรือใหญ่ รวมทั้ง ไอเอ็มเอฟ อัดฉีดเงินก้อนใหญ่ให้กรีซ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ รวมแล้ว 2 แสนกว่าล้านยูโร เจ้าหนี้ซึ่งเป็นธนาคารเอกชน ยอมลดหนี้ให้เกือบ 80 % ทั้งยังลดดอกเบี้ย ยืดอายุหนี้ออกไป ซึ่งถือว่า เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่เจ้าหนี้ยอมร่วมแบกรับภาระร่วมกับลูกหนี้ ไม่บีบบังคับให้ชำระหนี้ โดยเจ้าหนี้ไม่ยอมเสียอะไรเลย เพราะครั้งนี้ ลูกหนี้คือรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่มีปัญญาชำระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปไล่เบี้ยเอากับใคร ต่างกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ลูกหนี้เป็นภาคเอกชน ไอเอ็มเอฟจึงบีบให้รัฐบาลของประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย รับภาระหนี้แทนภาคเอกชนได้
ในบรรดาเจ้าหนี้ของกรีซ ธนาคารฝรั่งเศเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด มีมูลค่าหนี้ 41.4 พันล้านยูโร รองลงมาคือ เยอรมนี 15.9 พันล้านยูโร อังกฤษ 9.4 พันล้านยูโร และสหรัฐฯ 6.2 พันล้านยูโร
เงินช่วยเหลือ 2 แสนกว่าล้านยูโร ที่กลุ่มประเทศสมาชิกยูโร ลงขันให้รัฐบาลกรีซนำไปชำระหนี้ที่ถึงกำหนด ไม่ใช่เงินให้ฟรี กรีซต้องใช้คืน และเพื่อเป็นหลักประกันว่า กรีซ จะมีความสามารถในการชำระคืนได้ กลุ่มสมาชิกยูโร จึงกำหนดเงื่อนไขว่า รัฐบาลกรีซต้องดำเนินโยบายรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่าย ขึ้นภาษี ขายรัฐวิสาหกิจ เพื่อที่จะได้มีรายได้มาใช้หนี้คืนในอนาคต
นโยบายรัดเข็มขัดนี้ เป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของกรีซ ซึ่งอ่อนแออยู่แล้ว สามเดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจหดตัวลงถึง 6 % มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก สวัสดิการที่ประชาชนเคยได้รับถูกตัดทิ้งหมด เป็นสาเหตุให้ เกิดการชุมนุมประท้วงของประชาชนอย่างต่อเนื่องในรอบสองปีที่ผ่านมา
การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไป เป็นการส่งสัญาณที่ชัดเจนจากชาวกรีซว่า ไม่ต้องการนโยบายรัดเข็มขัด เมื่อพรรคไซริชซา ซึ่งเป็นพรรคฝายซ้าย ที่ประกาศนโยบายต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดที่กลุ่มยูโรบังคับมให้กรีซทำตามแลกกับเงินช่วยเหลือได้รับชัยชนะ แต่เสียงไม่มากพอที่จะต้องรัฐบาลเองได้ และปฏิเสธที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสม ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ซึ่งคาดกันว่าพรรคไซริซซาจะชนะอีก และจะได้รับเสียงเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้
การคาดการณ์นี้ นำไปสู่ความวิตกว่า กรีซจะไม่ยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้กลุ่มยูโรโซน และไอเอ็มเอฟ อาจจะไม่ให้เงินช่วยเหลิออีก ทำให้กรีซต้องผิดนัดชำระหนี้ อยู่ในฐานะล้มละลายและต้องออกจากการเป็นสมาชิกเงินยูโร
การออกจากกลุ่มสมาชิกยูโร แม้จะทำให้กรีซต้องเดือนร้อนอย่างหนัก เพราะต้องหันกลับไปใช้เงินดรัคมา ที่เป็นสกุลเงินดั้งเดิม ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้ยูโร ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ และค่าของเงินที่อ่อนกว่ายูโรมาก ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพง ขณะเดียวกัน การผิดนัดชำระหนี้จะทำให้กรีซไม่สามารถกู้เงินได้อีกเลย แต่การออกจากยุโรก็มีผลดีคือทำให้กรีซมีอิสรภาพทางการเงิน สามารถใช้ค่าเงินเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาทางเศรษญฐกิจได้มากกว่าตอนที่ใช้เงินยูโร ซึ่งไม่สามารถทำอะไรได้เลย ต้องรอแต่เงินช่วยเหลืออย่างเดียว
ล่าสุด ที่ประชุมผู้นำยูโรอย่างไม่เป็นทางการ แสดงท่าทีว่า อยากให้กรีซเป็นสมาชิกยูโรต่อไป เพราะการออกจากยูโรของกรีซนั้น ทำความเสียหายให้กับกลุ่มยูโรมากกว่าความเสียหายที่จะเกิดกับกรีซเอง ทั้งในแง่ของศักดิ์ศรีและ การเป็นแบบอย่างให้ประเทศยูโรอื่นๆ ที่มีปัญหาหนี้สิน เช่น สเปน อิตาลี และโปรตุเกสทำตาม ซึ่งจะทำให้กลุ่มยูโรพังทลายลง
นาทีนี้ หลังจากแสดงท่าทีว่าพร้อมจะชักดาบ ไม่ชำระหนี้ และออกจากยูโรไปแก้ปัญหาเอง ก็ดูเหมือนว่า ลูกหนี้ที่มีหนี้ท่วมหัวอย่างกรีซจะมีอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้กลุ่มประเทศสมาชิกยูโร โดยเฉพาะเยอรมนีมากขึ้น เพราะกรีซไม่มีอะไรจะเสียมากไปกว่านี้อีกแล้ว