เอเอฟพี - กรีซจะจัดเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 17 มิถุนายน ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์ หลังจากไม่มีพรรคใดสามารถตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลให้สถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปทรุดลง ด้วยความหวาดผวาว่าเอเธนส์คงหนีไม่พ้นที่จะต้องถอยออกจากการใช้สกุลเงินยูโร ถึงแม้ “ออลลองด์” ผู้นำใหม่ฝรั่งเศสประสานเสียงกับ “แมร์เคิล” ของเยอรมนีหาทางแก้ไขเต็มที่ก็ตาม ขณะเดียวกัน นายใหญ่ไอเอ็มเอฟชี้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เอเธนส์จะต้องอำลายูโรโซนเช่นกัน
สำนักข่าวเอเอ็นเอที่ควบคุมโดยทางการกรีซ รายงานในวันพุธ (16) ว่า ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก็คือ ปานาจิโอติส ปิกรัมเมนอส จะเข้ารับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ และจัดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้ง ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม มีผลออกมาในลักษณะที่ไม่มีกลุ่มใดคุมเสียงข้างมากได้ โดยที่พวกพรรคที่ร่วมในรัฐบาลเดิม ต่างพากันถูกลงโทษและได้คะแนนลดลงฮวบฮาบ อันชี้ชัดว่าชาวกรีซส่วนใหญ่คัดค้านมาตรการรัดเข็มขัดที่เอเธนส์ยอมรับเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือก้อนโตจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่พวกพรรคซึ่งต่อต้านมาตรการเหล่านี้ แม้ได้เสียงเพิ่มขึ้น ทว่าก็ยังไม่เพียงพอที่จะรวบรวมกันจัดตั้งรัฐบาลอยู่ดี
ในวันพุธ (16) ประธานาธิบดีคาโรลอส ปาปูลิอัส จึงนัดผู้นำพรรคต่างๆ หารือเพื่อตั้งรัฐบาลรักษาการที่จะบริหารงานจนถึงการเลือกตั้งใหม่
อย่างไรก็ดี ความที่ไม่มีหลักประกันว่า การเลือกตั้งในวันที่ 17 เดือนนี้จะทำให้กรีซได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง อนาคตของเอเธนส์ในยูโรโซนจึงยังไร้ความแน่นอนเช่นเดิม
รายงานข่าวที่ว่า มีการแห่ถอนเงินออกไปประมาณ 700 ล้านยูโร (894 ล้านดอลลาร์) จากธนาคารต่างๆ ของกรีซเฉพาะในวันจันทร์ (14) วันเดียว ทำให้ตลาดในยุโรปบังเกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น โดยที่พวกนักลงทุนหวั่นเกรงว่า กรีซจะออกไปจากยูโรโซนชนิดไม่เป็นระเบียบ และทำให้ทุกๆ ฝ่ายต้องเผชิญสถานการณ์อันสับสนอลหม่านไปหมด
ทั้งนี้ ในคำแถลงที่ออกมาเมื่อคืนวันอังคาร (15) ประธานาธิบดีปาปูลิอัส บอกว่า เขาได้รับรายงานจาก ผู้ว่าการธนาคารกลางของกรีซ จอร์จ โปรโวปูลอส ถึงการแห่ถอนเงินอย่างมากมายดังกล่าวข้างต้น โดยที่ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าวด้วยว่า ธนาคารต่างๆ ของกรีซ กำลังอยู่ใน “สถานการณ์ที่ยากลำบากมาก … ยังไม่มีอะไรให้ต้องแตกตื่นตระหนกกัน ทว่าก็มีความหวาดกลัวกันอยู่มากซึ่งจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นความแตกตื่นตระหนกก็ได้”
ในค่ำวันอังคารนั้นเอง เอเธนส์ได้รับการสนับสนุนเข้มแข็งจากนายกรัฐมนตรีอังเงลา แมร์เคิลของเยอรมนี และฟรังซัวส์ ออลลองด์ ที่พบกันครั้งแรกหลังจากฝ่ายหลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสหมาดๆ
ในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกันที่กรุงเบอร์ลิน แมร์เคิลยืนยันว่า ต้องการให้กรีซอยู่ในยูโรโซนต่อไป และสำทับว่า สองชาติมหาอำนาจแห่งยุโรปตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีและพร้อมช่วยเหลือเพื่อหาทางออกสำหรับวิกฤตยูโรโซน และยังพร้อม “ศึกษาความเป็นไปได้ของมาตรการการเติบโตเพิ่มเติมในกรีซ” หากเอเธนส์ต้องการ
ขณะเดียวกัน ออลลองด์ที่กำลังพยายามผลักดันให้ยุโรปใช้มาตรการการเพิ่มเติบโตแทนที่จะยึดมั่นมมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเหนียวแน่น บอกว่าพร้อมหารือทุกอย่างในการประชุมผู้นำอียูอย่างไม่เป็นทางการที่บรัสเซลส์วันที่ 23 นี้ ซึ่งรวมถึงประเด็นยูโรบอนด์ ที่อาจทำให้เกิดแรงเสียดทานกับเยอรมนี
ทว่า ทางด้านคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ กลับมองว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่กรีซจะต้องออกจากยูโรโซน
“ถ้าพันธสัญญาต่างๆ ด้านงบประมาณของประเทศ (กรีซ) ไม่ได้รับการยึดมั่น ก็จะต้องมีการทบทวนกันอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจหมายถึงการระดมเงินเพิ่มให้ หรือการขยายเวลาให้ หรือไม่ก็ต้องเป็นเรื่องกลไกในการถอนตัว (ออกจากการใช้เงินยูโร) ซึ่งในกรณีหลังนี้จะต้องทำให้เกิดการถอนตัวออกไปอย่างมีระบบระเบียบ
“มันจะต้องเป็นสิ่งที่มีราคาแพงลิบลิ่ว และจะสร้างความเสี่ยงใหญ่หลวง แต่ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่เราต้องพิจารณาในทางเทคนิค”
ลาการ์ดสำทับว่า กรีซดำเนินการปฏิรูปสำคัญและเสียสละมามากมาย จึงไม่สมควรละทิ้งกลางคันเพียงเพราะความไม่ลงรอยทางการเมือง
ทั้งนี้ ข้อมูลที่เปิดเผยเมื่อวันอังคารระบุว่า เศรษฐกิจกรีซติดลบ 6.2% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โหมกระพือการโจมตีว่า นโยบายรัดเข็มขัดไม่ได้ผล แต่รัฐควรหันมาส่งเสริมการเติบโตแทน
ข่าวความล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลของเอเธนส์ฉุดตลาดการเงินทั่วโลก ขณะที่นักวิเคราะห์และเทรดเดอร์มั่นใจมากขึ้นว่ากรีซจะต้องออกจากยูโรโซนไม่ว่าผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจะออกมาอย่างไรก็ตาม
ไมค์ แมกคัดเดน จากอินเตอร์แอกทีฟ อินเวสเตอร์ ทิ้งท้ายว่า กรีซกำลังสร้างปัญหาการแพร่เชื้อให้สมาชิกยูโรโซนที่อ่อนแอ เช่น สเปน และอิตาลี ขณะที่ยุโรปพบกับการต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดอย่างแพร่หลาย