xs
xsm
sm
md
lg

จ่ายแล้วเยียวยา 7.75 ล้าน! มท.1 ถกเครียด “แม่เกด” ถอนฟ้องแพ่งก่อนรับตังค์ เชื่อไม่ขัด กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยงยุทธ” มอบเงินเยียวยา 524 ราย 44 ศพ ได้ 7.75 ล้านเต็มๆ เชื่อมติ ปคอป.จ่ายไม่ขัด ม.157 ไล่ช่างภาพเนชั่นไปตรวจร่างกายแล้วมายื่นใหม่ อ้าง “ปู” เมินมอบกลัวบินกลับมาไม่ทัน การันตีไม่มีเรียกคืนเงิน “วิเชียร” เผย “เมียร่มเกล้า” ไม่ปฏิเสธรับตังค์ ด้าน “แม่เกด” โผล่โวยโดนเรียกถกกล่อมเงื่อนไขถอนฟ้องแพ่งรัฐ แต่ไม่ถอนคดีอาญา แถมแย้มฟ้องเรียกค่าเสียหายรายตัวได้ด้วย ก่อนขึ้นเวทีรับเช็คเข้ากระเป๋า

วันนี้ (24 พ.ค.) เวลา 15.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีมอบเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางการเมืองตามหลักมนุษยธรรม โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ญาติผู้เสียชีวิต ญาติผู้ทุพพลภาพ และผู้ได้รับบาดเจ็บเข้าร่วมงาน

นายยงยุทธกล่าวในพิธีว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบ้านเมืองของเราต้องพบกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองหลายครั้ง เป็นผลทำให้ต้องมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สิน ตลอดจนได้รับผลกระทบในแง่มุมอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นสร้างความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นในประเทศ โดยได้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เพื่อดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จนมีผลมาเป็นการชดเชยเยียวยา และฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงของทุกฝ่าย

นายยงยุทธกล่าวด้วยว่า เชื่อว่าการเยียวยาครั้งนี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความปรองดองในชาติ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นโดยที่รัฐไม่สามารถป้องกันได้ รัฐบาลจึงมีหน้าที่เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลต้องดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชาติเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่ไม่อาจสร้างขึ้นได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย เพื่อให้ประเทศก้าวเดินต่อไป โดยไม่วกวนอยู่กับอดีตที่ล่วงเลยผ่านไป

“การจ่ายเงินเยียวยาเพื่อมนุษยธรรมในวันนี้ไม่สามารถลบล้างความสูญเสียทั้งหมดให้หายสิ้นไปได้ แต่อย่างน้อยจะสามารถทำให้ประคับประคองชีวิตครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ดำเนินชีวิตก้าวเดินต่อไปในวันข้างหน้าได้อย่างปกติสุข” นายยงยุทธกล่าว

จากนั้น นายยงยุทธได้เป็นผู้มอบเยียวยาให้แก่ผู้แทนผู้เสียชีวิต พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเมืองตามหลักมนุษยธรรม ก่อนที่จะให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เชื่อว่าการดำเนินการครั้งนี้จะไม่ขัดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ คณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ร่วมเป็นกรรมการ ปคอป.ก็มีมติฉันท์ว่า สิ่งที่ทำนี้สามารถทำได้ ส่วนที่บางฝ่ายคัดค้านการจ่ายเงินเยียวยาก็เป็นเพียงการมองต่างมุม เชื่อว่าไม่มีปัญหา และสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง หากใครเห็นว่าไม่ถูกต้องก็สามารถดำเนินการตามช่องทางที่มีอยู่ได้ สำหรับผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาในรอบต่อๆ ไปนั้นก็ต้องให้รวดเร็วที่สุด เพราะการเยียวยาถือว่าล่าช้ามานานมากแล้ว จากการเริ่มต้นในวันนี้ก็เชื่อว่าจะเร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีของครอบครัวอัคฮาดที่ยอมไม่ฟ้องคดีแพ่งต่อหน่วยงานรัฐ นายยงยุทธกล่าวว่า ก็เป็นเพียงการถอนฟ้องคดีแพ่งที่ไม่สามารถรับเงินซ้ำซ้อนกันในกระบวนการเยียวยาได้ ส่วนคดีอาญาก็ดำเนินการต่อไป ซึ่งทางครอบครัวอัคฮาดก็เข้าใจดี ทั้งนี้ไม่เห็นว่าเป็นปัญหาในการสื่อสารกับประชาชน เนื่องจากงานวันนี้ค่อนข้างใหญ่และไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ดังนั้นความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับกรณีช่างภาพสำนักข่าวเนชั่นที่ทุพพลภาพแต่กลับถูกระบุว่าบาดเจ็บสาหัสนั้นก็ได้แนะนำให้ไปพบแพทย์และตรวจอาการโดยละเอียดอีกครั้งแล้วจึงยื่นเรื่องกลับมาพิจารณา

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปลี่ยนกำหนดการไปปฏิบัติภารกิจที่ จ.เชียงใหม่ กะทันหัน และมอบให้นายยงยุทธเป็นผู้มอบเงินเยียวยาแทน นายยงยุทธกล่าวว่านายกฯ ไปปฏิบัติภารกิจที่ภาคเหนือแล้วกลับมาไม่ทัน หากรอให้เข้ามาที่ทำเนียบก็คงจะช้า ผู้ที่เสียหายก็จะคอยนาน ตนจึงทำหน้าที่แทน

ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่า หลายฝ่ายมองว่าการมอบเงินครั้งนี้ไม่น่าจะนำไปสู่ความปรองดองได้หากความจริงยังไม่ปรากฏ นายยงยุทธตอบว่า ส่วนหนึ่งต้องเป็นเรื่องของการเยียวยาให้ผู้ที่เดือดร้อนทุกข์ยากได้บรรเทาเบาบางความทุกข์ลงระดับหนึ่ง ส่วนการค้นหาความจริงก็ต้องดำเนินการต่อไป หากรอให้ค้นหาความจริงก่อนมาจ่ายเงิน ก็ไม่ทราบว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด เพราะกระบวนการในส่วนการตรวจสอบความจริงนั้นนาน ส่วนที่จ่ายเงินซึ่งสามารถทได้เร็วก็ทำก่อน ทั้งนี้ได้มีการตรวจสอบถูกต้องรอบคอบแล้ว คงไม่มีการมาเรียกเงินคืนภายหลังแน่นอน สำหรับผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ก็จะยื่นช่วยเหลือประกันตัวต่อไป หลังยื่นมาแล้ว 2 ครั้ง ก็หวังว่าศาลจะเข้าใจ ตอนนี้ก็มีประมาณ 50 กว่าคน

ขณะที่ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยืนยันว่า รัฐบาลได้จ่ายเงินเยียวยาตามที่ได้ประกาศไว้ และผู้ที่มีรายชื่อรับเงินเยียวยาในวันนี้ หากไม่ได้มารับสามารถไปรับได้ที่กระทรวงทุกวันไม่มีกำหนดระยะเวลา โดยนำหลักฐานมายื่นของรับเงิน เบื้องต้นผู้ที่มีรายชื่อยังไม่มีผู้ใดแสดงเจตจำนงว่าจะไม่รับเงิน รวมไปถึงกรณีของภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ส่วนการจ่ายเงินเยียวยารอบสองนั้นขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งรายชื่อมีจำนวนมาก จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ เมื่อเสร็จแล้วจะให้คณะกรรมการลงนามรับรอง ก็สามารถจะจ่ายเงินเยียวยาได้เลย แต่ตอบไม่ได้ว่าเมื่อใด

สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางการเมืองตามหลักมนุษยธรรมครั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เปิดรับลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม - 12 เมษายน 2555 มีผู้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาทั้งสิ้น 5,885 ราย และมีผู้ผ่านการตรวจสอบรับเงินเยียวยางวดแรกจำนวน 524 ราย แยกเป็น 5 ประเภท คือ ผู้เสียชีวิต จำนวน 44 ราย ผู้ทุพพลภาพ 6 ราย ผู้บาดเจ็บสาหัส 58 ราย ผู้บาดเจ็บ 177 ราย ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 239 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 577,663,079 บาท โดยผู้ได้รับเงินเยียวยา จะได้รับเป็น 2 ส่วน แบ่งเป็นเช็คเงินสดจำนวนหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และสั่งจ่ายจำนวนเงินที่เหลือในรูปแบบสลากออมสิน มีเพียงผู้เสียหายที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งจะได้รับเช็คเงินสดเต็มจำนวน 7,750,000 บาทในกรณีที่เสียชีวิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้าร่วมพิธีมอบเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางการเมืองนั้น นายยงยุทธพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี เช่น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังและความมั่นคงของมนุษย์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งและการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น และนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้พบและเจรจากับนางพะเยาว์ อัคฮาด และนายณัทพัช อัคฮาด มารดาและน้องชาย ของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามฯ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เพื่อให้ครอบครัวอัคฮาด ถอนฟ้องแพ่งและเรียกร้องค่าเสียหายในคดีของ น.ส.กมลเกดเสียชีวิต ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง แต่จากการสังเกตการณ์ภายนอกห้องพบว่า ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะนายยงยุทธมีท่าทีเคร่งเครียด บางช่วงยังได้ยกมือไหว้ในลักษณะขอร้องทางฝ่ายครอบครัวอัคฮาดอีกด้วย เมื่อเวลาผ่านไป 15 นาทีการเจรจาก็ได้ข้อยุติ และมีข้อตกลงว่า ครอบครัวอัคฮาดจะถอนฟ้องคดีแพ่งต่อรัฐ และไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ แต่ยังคงฟ้องร้องในคดีอาญาต่อไป อย่างไรก็ตาม หากครอบครัวอัคฮาดต้องการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายก็สามารถฟ้องเอาผิดเป็นรายบุคคลได้

ทั้งนี้ นายสมภาค นิลพันธ์ ผอ.ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประชาชนประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยภายหลังการหารือว่า ทางด้านนางพเยาว์และญาติผู้เสียชีวิตคนอื่นยินดีที่จะรับเงินเยียวยาในวันนี้ พร้อมทั้งยืนยันการถอนฟ้องแพ่งต่อหน่วยงานของรัฐ แต่ทั้งนี้หากทางผู้สูญเสียต้องการที่จะให้กระบวนการยุติธรรมค้นหาความจริงของเหตุการณ์ก็สามารถฟ้องร้องเป็นรายบุคคลได้ ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งทางรัฐบาลจะสนับสนุน

ส่วนบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.ได้มีญาติและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองกว่า 500 คน ทยอยเดินทาง เพื่อร่วมพิธีรับเงินเยียวยาจากเหตุความรุนแรงทางการเมือง ที่ตึกสันติไมตรี รวมไปถึงญาติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมถึงทุพพลภาพบางส่วนกว่า 100 รายที่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในการรับเงินงวดแรกครั้งนี้ มาร่วมงานด้วย โดยมีบางรายมีอาการไม่พอใจในการดำเนินงานด้านเอกสารของเจ้าหน้าที่รัฐจึงทำให้การรบเงินของตนล่าช้าออกไป และที่มาในวันนี้ต้องการความแน่ชัดว่าจะได้รับเงินเยียวยาอีกเมื่อใด

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถีได้เปิดให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากความรุนแรงทางการเมืองตามหลักมนุษยธรรมลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น.ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 524 ราย โดยเป็นผู้เสียชีวิต จำนวน 44 ราย ทุพพลภาพ 6 ราย บาดเจ็บสาหัส 58 ราย บาดเจ็บทั่วไป 177 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 239 ราย ทั้งนี้ ในรายชื่อผู้เสียชีวิต 44 รายดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง อาทิ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น และน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลที่เสียชีวิต
ส่วนขั้นตอนของการมาในวันนี้ ผู้ที่มีสิทธิจะต้องมาตรวจสอบรายชื่อที่ป้ายประกาศภายในเต็นท์ หากพบรายชื่อ ก็รับบัตรคิว เพื่อรอตรวจสอบรายชื่อจากระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อนำเอกสารไปที่อาคารอเนกประสงค์ หลังจากนั้นเมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วจะเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อรับมอบเงิน

ทั้งนี้มีรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. มีชายคนหนึ่งขับรถแท็กซี่สีชมพู ทะเบียน ทย 9522 ได้ขับรถแท็กซี่คันดังกล่าวเข้ามายังบริเวณจุดลงทะบียน และได้บีบแตรเสียงดัง แล้วไม่ยอมลงจากรถ จึงทำให้ผู้ที่มาลงทะเบียน กลุ่มคนเสื้อแดง และสื่อมวลชนพากันรุมล้อมรถเพื่อขอเข้าพูดคุย จากนั้นต่อมาจึงได้ทราบชื่อคือ นายพงศ์พิชาญ ธนาถิรพงศ์ ซึ่งกล่าวว่าการออกมากระทำเช่นนี้ต้องการที่จะแสดงสิทธิและเรียกร้องต้องการจะรับเงินเยียวยาในครั้งนี้ด้วย ผู้ที่มาลงทะเบียนได้พักรับประทานอาหารและเตรียมตัวขึ้นรถบัส จำนวน 15 คัน ที่มีจำแนกประเภทของผู้ที่จะรับเงินเยียวยาชัดเจน เช่น เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือทุพพลภาพ ที่ทางรัฐบาลจัดเตรียมไว้ เพื่อเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล














กำลังโหลดความคิดเห็น