xs
xsm
sm
md
lg

เร่งจ่ายเยียวยาซื้อใจ สยบกระแสคนเสื้อแดงถูกหลอกทั้งแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงมหาดไทย แจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2555
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กระแสคนเสื้อแดงถูกหลอกทั้งแผ่นดินกำลังร้อนแรง มวลชนเริ่มแตกเป็นเสี่ยง เป็นเงื่อนไขเร่งให้รัฐบาลรีบรวบรัดจ่ายเงินเยียวยาซื้อใจคนรักทักษิณโดยไม่รอผลสรุปตัวเลขเม็ดเงินชดใช้ที่เหมาะสมตามหลักสากลของ คปอ. ทั้งยังเมินไม่มีกฎหมายรองรับ

การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่รัฐบาลลงทุนถ่ายทอดสดพิธีการดังกล่าว โดยไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องกระทำเช่นนั้น ไม่อาจมองเป็นอื่นนอกจากความต้องการลดกระแสความไม่พอใจของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ขยายวงเพิ่มขึ้น หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วิดีโอลิงก์เข้ามาในงานครบรอบ 2 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยขอให้คนเสื้อแดงลืมอดีตเดินหน้าปรองดองโดยไม่สืบสาวความจริงและเอาคนกระทำผิดมาลงโทษตามเสียงเรียกร้องของมวลชน

กระทั่งกลายเป็นกระแสคนเสื้อแดงถูกหลอกทั้งแผ่นดิน เป็นคนพายเรือส่งทักษิณถึงฝั่งแล้วถูกถีบหัวส่ง แกนนำแดงบางคนที่ยังถูกจองจำอยู่ในคุกอย่าง สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถึงขั้น “ขากถุย” ปรองดองล่วงหน้าก่อนงานรำลึกครบรอบ 2 ปีเสียอีก

การเร่งจ่ายเงินเยียวยาที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 เป็นการเยียวยานำร่อง เหมือนการตัดบางส่วนมาจ่ายสยบกระแสไม่พอใจเสียก่อน พร้อมกับสมอ้างว่านี่เป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาล ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ก็ยอมรับว่า การจ่ายเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบโดยรวมทั้งหมดนั้นยังมีรายละเอียดอีกจำนวนมาก แต่งบกลางที่รัฐบาลจัดสรรไว้เพื่อการนี้ 2,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้ผู้เสียชีวิตจำนวน 102 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 2,000 รายน่าจะเพียงพอ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยรายชื่อและตัวเลขผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-2553 ในกลุ่มแรก แบ่งเป็น เสียชีวิต 44 ราย, ทุพพลภาพ 6 ราย, บาดเจ็บสาหัส 56 ราย, บาดเจ็บไม่สาหัส 177 ราย, บาดเจ็บเล็กน้อย 239 ราย รวมผู้ได้รับเงินเยียวยารอบแรก 522 ราย วงเงิน 579 ล้านบาท

อาการรีบแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลถูกตั้งข้อกังขาจากพวกเดียวกันเองและฝ่ายตรงข้าม ทั้งเรื่องตัวเลขเยียวยาชดใช้ที่สูงโด่งถึง 7.75 ล้านบาทในรายที่เสียชีวิต โดยไม่มีหลักเกณฑ์อ้างอิงถึงความเหมาะสมว่ามากไปน้อยไปอย่างไร รวมทั้งคำถามถึงการจ่ายเงินของรัฐที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่นับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่รับไม่ได้กับการเอาเงินภาษีมาจ่ายให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองตามแรงปลุกเร้า กระทั่งเกิดความสูญเสียตามมา

ฝ่ายที่เห็นว่าการจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้ไม่ได้ยึดหลักการ รัฐบาลคิดเองเออเองนั้น ไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมานั่นเอง

นพ.รณชัย คงสกนธ์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความรุนแรง พูดชัดว่า ตัวเลขการจ่าย 7.75 ล้านบาท คอป.ไม่ได้เป็นผู้เสนอตัวเลข คอป.แค่เสนอให้ยึดหลักสากลเท่านั้น คอป.ยังถามถึงความเหมาะสมเลย และเงินเยียวยาจิตใจ 3 ล้านบาท ในต่างประเทศไม่มีตรงนี้

ตัวเลขตามที่ คอป.ศึกษาตามหลักวิชาการและสากลจะตกประมาณ 3.2 ล้านบาท ซึ่งประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2555 คอป.จะสรุปการจัดทำตัวเลขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมตามหลักสากลออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยจะไม่ทำเป็นรายงานเสนอรัฐบาลแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา คอป.จัดทำรายงานเสนอรัฐบาล 2 ฉบับแล้วแต่ไม่ได้รับการสนองใดๆ และสิ่งที่ ปคอป.กระทำต่อรายงานของ คอป.คือ “ปคอป.เอาเนื้อของเราไปปรับเสริมแต่งให้เป็นตัวเลข 7.75 ล้านบาท”

รายงานของ คอป.ที่มี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน มีสภาพไม่ต่างไปจากสถาบันพระปกเกล้าที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลหยิบฉวยเอารายงานการศึกษาไปใช้เป็นข้ออ้างบังหน้า ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ หรืออาจต่างรู้จุดประสงค์แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังก็ตาม ดังนั้น การที่ คอป.ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเลขเยียวยา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คอป.มีข้อเสนอให้มีการจ่ายเยียวยาเพียงแต่ไม่ได้เสนอตัวเลขไปด้วย ซึ่งรูปการณ์อาจไม่ต่างไปจากสถาบันพระปกเกล้า ที่ออกมาแก้ตัวหลังถูกโจมตีอย่างหนักจากข้อเสนอล้มคดี คตส. และนิรโทษกรรม เพื่อความปรองดอง

ประเด็นการจ่ายเงินเยียวยาโดยไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาเพื่อเตรียมร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะที่ วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายที่หลายรัฐบาลเรียกใช้ ก็ตั้งคำถามในทำนองเดียวกันว่า การจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้มีกฎหมายรองรับหรือไม่เช่นกัน แม้ว่าทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ จะมั่นใจว่าสามารถทำได้โดยเทียบเคียงกับการจ่ายเงินชดเชยน้ำท่วม และอิงหลักมนุษยธรรมในสภาวการณ์ที่กำลังสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมจึงต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินเยียวยาเป็นแต่เพียงการชดใช้ค่าเสียหาย ไม่ได้ตัดสิทธิการฟ้องคดีอาญาแต่อย่างใด ดังนั้น ถึงแม้รัฐบาลจะจ่ายเงินเพื่อซื้อใจ เพื่อปิดปาก ให้เลิกแล้วต่อกัน อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด และไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงที่แสดงท่าทีไม่ยอมเลิกราก็ยังคงมีอยู่ไม่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น