คณะกรรมาธิการติดตามงบฯ สภาผู้แทนฯ คุ้ย พบ อบจ.ทั่วประเทศหมกเม็ดเงินกู้ ชี้ แค่ออมสินพบยอดหนี้ 1.4 หมื่นล้าน พร้อมชง อบจ.ร้อยเอ็ดโมเดล เป็นแนวแก้ไข หลังพบเงื่อนงำทุจริตกว่า 400 ล้าน เผยส่งหนังสือถึงทุกแบงก์ขอยอดกู้ตีแสกหน้าคลัง
นายสุทธิชัย จรูญเนตร ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย และนายพงษ์ศักดิ์ เรือนเงิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงภายหลัง กมธ.ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของกลุ่มเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ร้องเรียนกรณีการกู้เงินของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2553 โดยมีการกู้เงินจากธนาคารออมสิน 410 ล้านบาท ซึ่งพบข้อมูลว่า 1. นายก อบจ.ร้อยเอ็ดเสนอขออนุมัติเงินกู้ก่อนที่สภา อบจ.จะมีมติเห็นชอบ โดยได้เสนอขอกู้กับ
ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด วันที่ 16 ส.ค. 2553 แต่กลับมาขออนุมัติจากที่ประชุมสภา อบจ.เพื่อมีมติในวันที่ 30 ส.ค. 2553
2. หลังผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดอนุมัติเงินกู้ 410 ล้านบาท ตามคำขอแต่ระบุให้กู้กับธนาคารกรุงไทย ปรากฏว่านายก
อบจ.ร้อยเอ็ดได้ไปทำนิติกรรมกู้เงินกับธนาคารออมสินแทน โดยอ้างเหตุผลว่ามีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าโดยไม่มีการขออนุมัติมติใหม่ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจะให้คำตอบในการประชุมนัดหน้า วันที่ 24 พ.ค. ว่าปฏิบัติถูกต้องตามข้อกฎหมายหรือไม่
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเป็นห่วงในประเด็นหนี้สาธารณะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ขอกู้จากสถาบันต่างๆ ซึ่งในภาพรวมพบว่า งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรอุดหนุนในแต่ละปีมีสัดส่วน 9-10 เท่า ของรายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ หาได้ แต่กลับปรากฏว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหนี้สินจำนวนมาก ที่ต้องผ่อนชำระยาวนาน ที่สำคัญในการเปลี่ยนผู้บริหารแต่ละครั้งจะมีการของบเพื่อไปก่อสร้างซื้อเครื่องจักรและอื่นๆ ในเชิงการใช้เงินสาธารณะเพื่อการหาเสียงเสียส่วนใหญ่ จากการตรวจสอบคร่าวๆ แค่ธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวมียอดกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในอนาคต หากไม่มีมาตรการออกมากำกับดูแลการบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้
ก็น่าเป็นห่วงว่าหนี้สาธารณะของประเทศที่จะสูงขึ้น จนเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพการเงินประเทศชาติ
นายสุทธิชัยกล่าวเสริมว่า ทั้งนี้ ทาง กมธ.จะนำกรณี อบจ.ร้อยเอ็ดมาเป็นต้นแบบในการศึกษา และดำเนินนโยบายด้านการบริหาร นิติบัญญัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารงบประมาณที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ต้องร่วมมือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมตรวจสอบวางมาตรการแก้ไขด้วย นอกจากนี้ ทางกรรมาธิการยังได้ทำหนังสือขอข้อมูลจากสถาบันการเงินต่างๆ ว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดบ้างขอกู้เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่เพื่อรวมตัวเลขยอดเงินกู้ ซึ่งน่าเป็นห่วงจะเป็นหนี้สาธารณะที่ประชาชนต้องมาแบกรับ แต่กระทรวงการคลังกลับให้เหตุผลระบุว่าไม่เป็นหนี้สาธารณะเพราะเป็นหนี้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกู้ยืมเงินจากธนาคารแต่ละแห่ง ทั้งที่ข้อเท็จจริง องค์กรเหล่านี้ต้องของบประมาณไปอุดหนุน และเมื่อไม่สามารถจ่ายหนี้ก็จะถูกนับรวมไปเป็นหนี้สาธารณะอยู่ดี จึงน่าหวั่นเกรงว่าที่สุดแล้วจะเป็นหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับวิกฤตหนี้ในยุโรปขณะนี้
โดยหลังจากทราบตัวเลขหนี้ทั้งระบบจะมีการเปรียบเทียบกับตัวเลขของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นว่าตรงกับที่รายงานกับต้นสังกัด ก่อนที่จะนำส่ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบการใช้งบว่าองค์กรเหล่านี้ส่อไปในทางมิชอบหรือไม่