xs
xsm
sm
md
lg

“ชวนนท์” สับ รบ.นายทุน ขึ้นค่าแรง 300 คนงานถูกเลิกจ้างพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชวนนท์” จี้รัฐเดินหน้า พ.ร.บ.การออมฯ หลัง “กิตติรัตน์” ส่งสัญญาณดองตั้งเลขาฯ กองทุน อ้างเป็นโครงการของ ปชป.จวก “บุญทรง” แก้ของแพงแบบขายผ้าเอาหน้ารอด บี้ออกแนวทางรับมือของแพงหลังหมดมาตรการของแพง งงมินิบัส บขส.ขึ้นค่าโดยสารสวนทางตรึงแอลพีจี ทำนายทุนได้ประโยชน์ แฉสัญญาณอันตรายค่าแรง 300 บาททำตัวเลขแรงงานถูกเลิกจ้างพุ่ง สับรัฐบาลนายทุน

วันนี้ (16 พ.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่รัฐบาลไม่สานต่อ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉยไม่ดำเนินการอะไร ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มรับสมัครผู้ที่จะเข้าใช้สิทธิใน พ.ร.บ.กองทุนฯ สำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิประกันตน คือ ชาวนา ชาวไร่ ซึ่งสมาชิกจะต้องจ่ายเงินสะสมการออมครั้งละ 50 บาท แต่ไม่เกินปีละ 13,200 บาท และรัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยฝากประจำ 12เดือนของ 5 ธนาคาร แต่รัฐบาลกลับละทิ้งไว้เฉยๆ และมีงบประมาณให้เพียง 225 ล้านบาท จากที่กำหนดไว้ 1 พันล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน และสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พยายามที่จะชะลอโครงการนี้ โดยอ้างว่าเป็นโครงการของพรรคประชาธิปัตย์ และมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวไม่ให้เป็นไปตามที่พรรคประชาธิปัตย์วางรากฐานไว้

นายชวนนท์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อไม่ต้องการให้งานเดินหน้าต่อไปได้ และมีความพยายามนำเรื่องนี้มาเป็นเรื่องการเมือง หากดำเนินการตามโครงการดังกล่าวผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชนในการรับบำนาญหลังอายุ 60 ปีจนสิ้นอายุขัย จำนวนที่ได้รับ 500-10,795 บาท หรือหากเสียชีวิต โดยที่ยังมีเงินอยู่ในกองทุนผู้ที่ได้รับประโยชน์จะได้รับเป็นเงินก้อน จึงอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในโครงการนี้โดยเร็วเพราะถือเป็นผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

นายชวนนท์แถลงถึงกรณีที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เรียกผู้ประกอบการเข้าพบเพื่อขอให้ตรึงราคาสินค้ากว่า 200 รายการว่า ตนอยากถามว่าการขอให้ตรึงราคาสินค้า 4เดือน และหลังจากนั้นก็จะพิจารณาตามราคาพลังงาน ทั้งๆ ที่รัฐบาลประกาศตรึงราคาพลังงานเพียงแค่ 3 เดือน ซึ่งหมายความว่าเมื่อครบระยะเวลาตรึงราคาสินค้า 4 เดือน ราคาพลังงานจะขึ้นไปดักหน้าราคาสินค้า การทำเช่นนี้ถือเป็นการทำงานในลักษณะขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ และอยากถามว่าเมื่อครบ 4 เดือนรัฐบาลจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าอย่างไร

นายชวนนท์กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นการที่รัฐบาลอนุมัติให้รถมินิบัส บขส.ขึ้นราคาค่าโดยสาร เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ขณะที่วันที่ 16 พ.ค.กลับมีนโยบายตรึงราคาแอลพีจีออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งทำให้เห็นว่าราคาสินค้าปลายทางสูงขึ้นแต่ต้นทุนกลับถูกลง อย่างนี้ใครได้ประโยชน์ เป็นรัฐบาลของประชาชน หรือรัฐบาลของนายทุนกันแน่ ส่วนกรณีที่นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาทกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าเพียง 0.25 เปอร์เซ็นต์ อยากถามว่าเป็นสินค้าอะไร ซึ่งวันนี้มีผู้ถูกเลิกจากจากนโยบายค่าแรง 300บาท เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 54 จำนวน 40 คน แต่ในเดือน ก.พ. 55 มีแรงงานถูกแรงจ้างถึง 7,903 คน หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงถึง 19,600 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจำนวนผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างปี 55 มีจำนวน 1.59 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 206 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ประกันตนที่ได้รับการชดเชยกรณีว่างงาน ปี 55 จำนวน 1.13 แสนคน เพิ่ม 38.63 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำมาจากสำนักงานเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน นี่ถือเป็นสัญญาณอันตรายรัฐบาลชุดนี้ และอยากให้นายยรรยงออกมาอธิบายให้ประชาชนได้รับทราบ


กำลังโหลดความคิดเห็น