ร่าง รธน.ผ่านวาระ 2 หลังลากยาวมา15 วัน กมธ.เสียงข้างมากชนะขาดทุกมาตรา วิป รบ.ขอหารือนัดวันลงมติวาระ 3 อีกครั้ง ซึ่งยังไม่ได้กำหนดวัน อ้างสมาชิกติดภารกิจ
การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. โดยมีการพิจารณาประเด็นที่มีสมาชิกรัฐสภาได้สงวนคำแปรญัตติในส่วนของการเพิ่มอนุมตรา ในส่วนของมาตรา 291 เพิ่มเติมจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการฯ ตั้งแต่อนุมาตราที่ 18 ถึงอนุมาตราที่ 26
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้หารือถึงกรณีที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยสงวนคำแปรญัตติโดยขอเพิ่มมาตรา 291/18 ถึง 291/26 จากร่างของกรรมาธิการฯ ที่มีมาตราย่อยเพียง 291/17 เท่านั้น จึงเสนอให้ที่ประชุมลงมติในส่วนที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยเสนอเพียง 1 ครั้ง หลังจากที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยได้อภิปรายแล้วเสร็จ แต่นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ทักท้วงว่า การลงมติที่ นพ.ชลน่านเสนอจะทำให้การประชุมเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่จะเกิดปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญขึ้น เพราะในมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ ปี 50 ระบุชัดเจนว่าการพิจารณาวาระที่ 2 จะต้องพิจารณาเรียงลำดับตามมาตรา ดังนั้น ที่ประชุมควรปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากถกเถียงกันนานกว่า 30 นาที ในที่สุด นพ.ชลน่าน เห็นตามที่นายธนาเสนอ ทำให้การประชุมกลับเข้าสู่วาระการพิจารณาในมาตรา 291/18
ทั้งนี้ สมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติหลายคน เสนอให้บัญญัติว่า มาตรา 291/18 การจัดทำร่าง รธน.ของ
ส.ส.ร.ต้องไม่มีผลกระทบต่อองค์กรอิสระและองค์กรตาม รธน.ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน รธน.2550
นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้มีการบัญญัติเนื้อความในมาตรา 291/18 ว่า การจัดทำร่าง รธน.ฉบับใหม่ของ ส.ส.ร. ต้องไม่จัดทำในลักษณะให้มีผลย้อนหลังไปลบล้างข้อกล่าวหาหรือลบล้างความผิดใดๆ ซึ่งองค์กรตุลาการหรือองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายได้ลงมติแล้วว่าบุคคลหรือคณะบุคคลนั้นมีความผิดตามการสืบสวนสอบสวนทุกๆ ข้อกล่าวหาหรือกล่าวโทษหรือได้มีการตัดสินคดีไปแล้ว
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.ชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย เสนอให้เพิ่มความว่า การจัดทำร่าง รธน.ฉบับใหม่ของ ส.ส.ร.ต้องไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550
ด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ประเด็นที่อภิปรายเป็นสาระที่เคยหารือกันมาแล้ว ตั้งแต่มาตรา 291/11 สำหรับประเด็นที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีข้อห้ามให้ ส.ส.ร.ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายหลังจากที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จนั้น ถือเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.ร.ที่จะเป็น
ผู้เขียนไว้เอง หากกรรมาธิการฯ ไปเขียนระบุไว้น่าจะไม่ชอบ ทั้งนี้ กรรมาธิการไม่เห็นด้วยกับคำแปรญัตติมาตรา 291/18 ที่สมาชิกได้เสนอเพิ่มเติม และเห็นว่าควรมีถึงเพียง มตรา 291/ 17 จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมากฯ ด้วยเสียง 448 ต่อ 99 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนายบุญยอด ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อยที่ได้สงวนความเห็นไว้ไม่ขออภิปรายในมาตรา 291/19 และมาตรา 291/20 ต่อ เนื่องจากแม้ว่าจะอภิปราย
อย่างไรผลการลงมติก็จะเป็นไปตามร่างของกรรมาธิการฯ อยู่ดี ซึ่งก็ปรากฏว่าที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่มีมติยืนตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมากทุกมาตรา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ส่วนมาตรา 5 ที่บัญญัติว่า ในวาระเริ่มแรกเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
รัฐธรรมนูญแห่งนี้ โดยให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 291/5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/5 และมาตรา 291/6 ของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เสนอให้บัญญัติเพิ่มเติมในกรณีที่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติจะต้องไม่ให้มีการจัดทำร่างใหม่ และห้ามมี ส.ส.ร.ชุดใหม่ ภายใน 5 ปี และหากจะมีการร่าง
รัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องมีการทำประชามติก่อนที่จะมีการยกร่าง เหมือนกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ ปี 50 และหากประชาชนมีประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน
นายวิรัช กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการทำประชามติก่อนว่าควรแก้ไขหรือไม่ ถ้าประชาชนไม่ให้มีการแก้ไขก็จบไม่ต้องมี ส.ส.ร. และยังเปิดทางให้มีการแก้ไขทุกมาตรา ยกเว้นหมวด
พระมหากษัตริย์ เท่ากับเป็นการทำใหม่ทั้งฉบับ ถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิง รัฐบาลเสียงข้างมากกำลังทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ด้าน นายสามารถชี้แจงว่า กรรมาธิการไม่มีการแก้ไขให้คงตามร่างเดิม ซึ่งแนวทางการทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเคยทำมาแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 34 และฉบับปี 39 ที่มีการแก้ไขมาตรา 211 จนมี ส.ส.ร.เกิดขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 40 ซึ่งขณะนี้ก็เดินตามแนวนั้น ส่วนที่เสนอให้ทำประชามติก่อนทำร่าง
รัฐธรรมนูญ ทั้งสองสภามีมติเห็นชอบร่วมกันแล้วว่าให้มี ส.ส.ร ทำทั้งฉบับ และเปิดโอกาสให้ตัวแทนประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อทำเสร็จค่อยไปถามประชาชนเพราะตระหนักดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันส่วนหนึ่งนำมาซึ่งความขัดแย้งทางสังคม โดยแนวทางการปรองดองของสถาบันที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ก็เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ให้ดำเนินการมี ส.ส.ร.ภายใน 90 วันนั้น ทาง กกต.ยืนยันว่าพร้อมและสามารถดำเนินการได้ จึงขอยืนยันตามร่างของกรรมาธิการ
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามร่างกรรมาธิการด้วยคะแนน 340 ต่อ 101 เสียง งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 2
ส่วนมาตรา 6 ที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยและสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติเพิ่มเติม อาทิ นายสุริยา ปันจอร์
ส.ว.สตูล นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง นายชรินทร์ หาญสืบสาย ส.ว.ตาก ที่สงวนคำแปรญัตติร่วมกัน กำหนดข้อห้ามไม่ให้ ส.ส.ร.ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.และ ส.ว. หลังการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่
ที่ประชุมมีมติยืนตามร่างเดิมของกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 348 ต่อ 95 เสียง งดออกเสียง 9
ทั้งนี้ก่อนการประชุมจะเสร็จสิ้น นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานการประชุมได้แจ้งให้ ส.ส. ส.ว.สามารถขอรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ได้ที่เจ้าหน้าที่เพื่อนำไปศึกษาก่อน ขณะที่การลงมติในวาระ 3 ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องเว้นไว้ 15 วัน จึงขอนัดลงมติวาระ 3 ในวันที่ 1 มิ.ย. โดยขอสงวน
วันที่ 30-31 พ.ค. ไว้สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามปกติ แต่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ท้วงติงว่าวันที่ 30-31 พ.ค.นี้ รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม และวันที่ 1 มิ.ย. วุฒิสภาติดภารกิจ จึงขอให้วิป 3 ฝ่ายได้หารือกันก่อนจะมีการเรียกประชุมเพื่อลงมติในวาระ 3 ซึ่ง
นายสมศักดิ์เห็นด้วยตามข้อเสนอและยังไม่กำหนดวันลงมติ พร้อมแจ้งว่าวันที่ 15 พ.ค.ของดประชุม และขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันพิจารณามา 15 วัน จากนั้นได้สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 16.40 น.