มติที่ประชุมร่วมรัฐสภาแก้ รธน.วาระ 2 โหวตผ่าน ม.291/14 และ 15 แล้ว “สุทัศน์” ติงควรให้นายกฯ ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญ แทนประธานรัฐสภา แนะตัดใช้ ม.150,151 บังคับใช้โดยอนุโลมร่วม หวั่นล่วงพระราชอำนาจ ด้านประธาน กมธ.ยันเป็นไปตามประเพณีเดิม
วันนี้ (11 พ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... ในมาตรา 291/14 ที่บัญญัติว่า เมื่อมีประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และนำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ทั้งนี้ สมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติส่วนใหญ่เห็นว่า ผู้ที่ควรนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ควรเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ประธานรัฐสภา ตามร่างที่ กมธ.เสียงข้างมากได้มีการระบุไว้ เนื่องจากที่ผ่านมานายกฯ จะเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายและรับสนองพระบรมราชโองการรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด รวมทั้งการเสนอแปรญัตติให้ตัดการนำมาตรา 150 และมาตรา 151 มาบังคับใช้โดยอนุโลม เพราะเห็นว่าจะเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หากมิได้เห็นชอบกฎหมายใดๆ และมิได้ลงพระปรมาภิไธย แต่นายกฯ สามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ได้ หากรัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมแล้ว
นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ที่ผ่านมาเราได้ให้อำนาจประธานรัฐสภาไว้มากแล้ว ตนจึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการด้วย เพราะเห็นว่าความสำคัญในการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งควรเป็นนายกฯ เพราะรัฐธรรมนูญหลายฉบับก็มีนายกฯ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตรงนี้มีข้อสงสัยว่าเดิมนายกฯ เคยพูดเสมอว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา แต่สุดท้ายก็เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาในฐานะของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นภาระความรับผิดชอบของนายกฯ โดยตรง แต่นายกฯ คงอยากจะหลีกเลี่ยงทั้งที่เป็นผู้เสนอกฎหมายเอง จึงได้เขียนในร่างให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแทน แม้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเคยให้ข้อสังเกตว่าการให้ประธานรัฐสภารับสนองพระบรมราชโองการน่าจะไม่เหมาะสม ควรให้เป็นหน้าที่ของนายกฯ มากกว่า
“หลักการของผู้ที่ต้องเป็นคนรับสนองพระบรมราชโองการ มี 3 เงื่อนไข คือ ผู้ลงนามต้องมีหน้าที่รับผิดชอบการนั้นๆ โดยตรง ผู้สนองพระบรมราชโองการต้องเป็นเจ้าของเรื่อง และสุดท้ายจะต้องไม่มีเรื่องหรืออาจพาดพิงเบื้องพระยุคลบาทได้ ด้วยเงื่อนไขทั้งหมดจึงน่าจะเป็นนายกฯ ที่ต้องเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เหมาะสมกว่าประธานรัฐสภา”
นายสุทัศน์ยังขอแปรญัตติตัดข้อความ “ให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และ 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”ออกด้วย เพราะหากไปดูมาตรา 150 ระบุว่ากรณีที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่สภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ส่วนมาตรา 151 ระบุว่า พ.ร.บ.ใดที่พระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้ให้ความเห็นชอบ และพระราชทานคืนลงมายังรัฐสภา หากรัฐสภามีมติยืนยันตามเดิม ให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระมหาษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกฯ นำ พ.ร.บ.นั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
“ทั้ง 2 มาตราเป็นเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จึงไม่น่าจะเหมาะสมในการนำมาใช้กับรัฐธรรรมนูญ เพราะศักดิ์ของกฎหมายไม่เท่ากัน และในมาตรา 151 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าหากพระมหากษัตริย์ไม่เห็นชอบและไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่รัฐสภาสามารถลงมติประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ได้ เสมือนพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น หากไม่ตัดข้อความดังกล่าวออก ก็เปรียบเหมือนให้นายกฯ สามารถโต้แย้งพระราชอำนาจได้ การที่คงไว้เป็นการไปก้าวล่วงของพระราชอำนาจ เรื่องนี้จึงอยากถามว่าเป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่จะให้คงไว้ตามร่างของ กมธ.เสียงข้างมาก” นายสุทัศน์กล่าว
นายสามารถ แก้วมีชัย ประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และให้นำมาตรา 150 มาใช้บังคับ และให้ประธานรัฐสภารับสนองพระบรมราชโองการ แต่กรณีมาตรา 151 หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือไม่พระราชทานคืนลงมายังรัฐสภาภายใน 90 วัน เราก็ให้รัฐสภาเป็นผู้ที่จะนำมาพิจารณาอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าที่ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะเหตุใด หากรัฐสภายืนยันด้วยเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาที่มี ก็ให้ประธานรัฐสภานำประกาศราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ต่อไป ซึ่งการที่สมาชิกเห็นว่าทำไมไม่ให้นายกฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น ที่ผ่านมาหากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงบางมาตรา นายกฯ ก็จะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านวาระ 3 ผู้ลงนามก็จะเป็นนายกฯ แต่หากเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น รัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ดังนั้น เราจึงขอยืนยันตามร่างของ กมธ.เสียงข้างมาก
จากนั้นที่ประชุมได้มีการลงมติในมาตรา 291/14 เห็นชอบตามร่างของ กมธ.เสียงข้างมากด้วยคะแนน 338 ต่อ 96 เสียง งดออกเสียง 9 และไม่ลงคะแนน 2 เสียง
ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 291/15 ที่บัญญัติว่า ส.ส.ร.สิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ส.ส.ร.มีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามมาตรา 291/8 วรรคสี่ ทั้งนี้ ภายใต้บังคับของมาตรา 291/8 วรรคสาม (2) ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 291/11 วรรคหนึ่ง (3) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ (4) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญตกไปตามมาตรา 291/11 วรรคหก หรือมาตรา 291/13 วรรคสี่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในมาตรานี้ไม่มีผู้สงวนคำแปรญัตติ และนายสามารถ แก้วมีชัย ประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้แจงเพียงสั้นๆ ว่า มาตรานี้เป็นเพียงเงื่อนไขของการสิ้นสุดลงของ ส.ส.ร.ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 เงื่อนไข โดย กมธ.เสียงข้างมากไม่ได้มีการแก้ไข ดังนั้นจึงขอยืนยันตามร่างเดิม จากนั้นประธานได้ให้ที่ประชุมลงมติมาตรา 291/15 ผลปรากฏว่า ที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนน 344 ต่อ 88 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง ตามร่างของ กมธ.เสียงข้างมาก