xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” หนุนส่งศาล รธน.หากแก้ รธน.3 หมวดหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ผู้นำฝ่ายค้าน หนุนส่งศาล รธน.ตรวจสอบร่าง รธน. ส่งกลับรัฐสภาพิจารณาอีกรอบ หากมีการแก้ไข 3 หมวดหลัก อ้างผลวิจัยคนไทยไม่อ่านคู่มือแก้ รธน.ก่อนลงมติ ด้าน “สามารถ” ยืนกรานให้อำนาจรัฐสภาตรวจสอบ เชื่อ ปชช.ติดตามข้อมูลรู้เรื่องดี

วันนี้ (10 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า ปัญหาการจัดทำรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดในสังคมค่อนข้างมาก และสภาได้มติไปแล้วว่าจะไม่มีการแก้ไข 3 หมวดหลัก แต่ล้วนเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้ การที่จะตรวจสอบว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะไม่ให้มีการละเมิดจึงเป็นกระบวนการสำคัญ โดยประเพณีปฏิบัติหน้าที่การวินิจฉัยควรจะเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ ตนมองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมถึงเปลี่ยนหลักการให้ประธานรัฐสภา และรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งความหมายคือถ้าประธานรัฐสภาเห็นว่าไม่มีประเด็นขัดแย้งเลยก็ส่งไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดทำประชามติ หากใช้ดุลพินิจอย่างนี้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็จบ ใครก็โต้แย้งไม่ได้ และประธานรัฐสภาก็ย้ำหลายครั้งว่าไม่มีความประสงค์ใช้อำนาจ ใช้ดุลพินิจนี้ ทำไมกรรมาธิการไม่ฟังเพื่อความสบายใจและลดความขัดแย้งเพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าประธานเป็นนักการเมืองแล้วให้อำนาจไปตกในมือศาลรัฐธรรมนูญ และแม้รัฐสภาจะวินิจฉัยให้ตกก็อาจมีปัญหาว่าประธานรัฐสภาอาจไม่เห็นด้วยก็ได้

“แม้กรรมาธิการเสียงข้างมากจะเลี่ยงว่าอำนาจอย่างนี้ไม่ได้อยู่ที่ใครเพราะกระบวนการยังไม่เกิด หรืออ้างว่าไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับไหนบอกให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ผมก็บอกได้ว่าไม่มีรัฐธรรมนูญไหนประธานรัฐสภา หรือรัฐสภาทำได้เช่นกัน ผมจึงเสนอว่าเมื่อทำเสร็จต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน ไม่ต่างกับการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องส่งไปให้โดยอัตโนมัติ”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ตนยังเสนอว่าก่อนที่จะมีการทำประชามติ จะต้องกลับมายังรัฐสภาก่อน เพื่อให้สมาชิกได้อภิปรายอีกครั้ง โดยยืนยันว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับให้เป็นอำนาจของรัฐสภา ถ้าเราจะมอบอำนาจให้คณะบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งสามารถจัดทำใหม่ได้ทั้งฉบับที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งแล้วให้ทำประชามติ โดยรัฐสภาไม่ได้นำมาพิจารณาอีกนั้นไม่เหมาะสม เพราะควรให้ผู้แทนปวงชนได้มีโอกาสพูดให้ประชาชนฟังเพื่อให้ทราบว่าสาระเนื้อหาที่ร่างมาใหม่เป็นอย่างไร เพื่อไตร่ตรองก่อนลงประชามติ โดยรัฐสภาไม่มีสิทธิ์แก้ไขเพิ่มเติมก็ได้ แค่ลงความเห็นว่าเห็นชอบหรือไม่เท่านั้น จากนั้นจึงนำไปสู่การทำประชามติ หรือจะให้สมาชิกอภิปรายทั่วไปเพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้ลงมติตนก็ยอมรับได้

“การใช้เวลาอันสั้นประชาชนจะมีโอกาสไตร่ตรองได้แค่ไหน แม้แต่ผลการวิจัยที่ผ่านมายังพบว่า แม้จะมีการพิมพ์คู่มือแจกทุกบ้าน มีประชาชนจำนวนน้อยมากที่อ่านอย่างจริงจัง หากให้เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาพิจารณาอีกครั้งจะเป็นโอกาสดีที่สุดและประชาชนจะรับรู้รับทราบประเด็นต่างๆ โดยมีการถ่ายทอดสดให้ข้อมูลไปถึงประชาชนได้มากที่สุด ถ้าต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และควรจะขยายเวลากระบวนการจัดทำประชามติจาก 60 วัน เป็น 90 วัน เพื่อให้มีความพร้อม”

นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการ ชี้แจงว่า กรรมาธิการได้ออกแบบกระบวนการแตกต่างจากกระบวนการของ ส.ส.ร ปี 40 ที่เดิมให้ส่งกลับมาให้รัฐสภาพิจารณาก่อนจะทำการลงประชามติ แต่ครั้งนี้จะส่งไปให้ประชาชนได้ลงประชามติเลย แต่ก่อนลงประชามติ ให้มีการตรวจสอบว่า ส.ส.ร.ทำอะไรต้องห้ามหรือไม่ และต้องยอมรับว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย จะเป็นคนลงมติว่าจะรับหรือไม่รับอยู่แล้ว

ส่วนระยะเวลาการทำประชามติ ยืนยันว่า 60 วันเหมาะสมแล้ว เพราะจัดให้ทำประชาพิจารณ์ทุกภูมิภาค และมี ส.ส.ร. ทุกจังหวัดที่จะขับเคลื่อนในทุกวงการวิชาชีพ และเชื่อว่าประชาชนมีส่วนติดตามอยู่แล้ว กระบวนการเรียนรู้ของประชาชนจะควบคู่ไปกับการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เชื่อว่าประชาชนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ จึงคิดว่าร่างที่เสนอมาเหมาะสมแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น