สะเก็ดไฟ
การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยาวนานมาเป็นวันที่ 11 ตามใบสั่งทางไกล ที่กดปุ่มให้ครม.ขยายเวลาสมัยประชุมสภาออกไปโดยไม่มีกำหนด มีเรื่องที่น่าพิเคราะห์ด้วยกัน 5 ฝ่ายผ่านปรากฏการณ์นี้ คือ
การทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมของ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภา พรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาล และ สื่อมวลชน
เริ่มจากการทำหน้าที่ของ ประธานรัฐสภา“สมศักดิ์”หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ประธานตามที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แดกดันผ่านการเรียกขานระหว่างการอภิปราย และถึงขั้นน๊อตหลุดทนไม่ได้กับความเผด็จการรวบรัดตัดสินตามธงของรัฐบาลด้วการทำความเคารพในเชิงประชดว่า "ไฮ ฮิตเลอร์"
เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวเพราะเกิดขึ้นในช่วงดึกก่อนการลงมติมาตรา 291/6 แต่บ่งบอกพฤติกรรมตลอด 9 เดือนของ สมศักดิ์ เจ้าของวลี “อำนาจประธานถือเป็นที่สุดจะผิดจะถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” หรือ พูดภาษาชาวบ้านง่าย ๆ ว่า “ถึงกูผิด มึงก็ต้องฟังกู” นั่นแหละ
ดังนั้นสมญานาม "ไฮ ฮิตเลอร์" จึงอธิบายความเป็น “ค้อนปลอมตราดูไบ”ได้เป็นอย่างดี
ส่วน พล.อ.ธีรเดช ก็ต้องขอยืมคำของ รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงครามพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า "ท่านประธานไม่แข็ง" นอกจากไม่แข็งแล้วบางทียังกะเดียดไปทางหน่อมแน้ม ขาดดุลพินิจที่ดีในการตัดสินปัญหา จึงทำให้ทุกครั้งที่ พล.อ.ธีรเดช ขึ้นทำหน้าที่ จะเกิดความปั่นป่วนที่ยากต่อการควบคุมเพราะการประท้วงโดยไม่มีเหตุผลตลอดเวลา เรียกว่าเป็นนาทีทองของ จ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ไชยศีรษะ
สำหรับการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาก็เห็นได้ชัดเจนถึงการแบ่งขั้ว ฝ่ายหนึ่งเข้าข้างรัฐโดยไม่ต้องมีเหตุผลรองรับ พร้อมยกมือเป็นฝักถั่วไม่ต่างจากที่วุฒิสภายุคหนึ่งเคยได้รับฉายาว่า “สภาทาส”ในอดีต ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงความเข้มแข็งในการรักษาความถูกต้องอย่างสม่ำเสมอคือ “กลุ่ม 40 สว.” ที่ยังทำหน้าที่สมกบเงินเดือนจากภาษีประชาชน
การยืนหยัดต่อสู้ในฐานะเสียงข้างน้อยที่ต้องบอกว่า ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่แบบไฟท์บังคับไปโดยปริยายคู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านพรรคเดียวในขณะนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็น ภูมิใจไทย รักประเทศไทย รักษ์สันติ มิได้ทำหน้าที่ของตนในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล เพราะเป็นพรรครอร่วมรัฐบาลเท่านั้น
รัฐธรรมนูญที่กำลังจะคลอดออกมานั้น ไม่ต่างอะไรจาก รัฐธรรมนูญฮิตเลอร์ เพราะมีความเร่งรีบรวบอำนาจผ่านการใช้เสียงข้างมากที่ไม่ฟังเหตุผลเสียงข้างน้อยตามหลักการประชาธิปไตย ไม่แตกต่างจากการใช้เผด็จการรัฐสภาให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฮิตเลอร์
เมื่อเห็นชัดว่ามีสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากอยู่ในอารมณ์หื่นโหวตให้ข่มขืนรัฐธรรมนูญ ให้เอาลูกไปฆ่าแม่ แม้จะไม่ชอบธรรม ไม่ถูกกฎหมาย แต่ก็ยังเดินหน้าโดยไม่สนใจความชอบธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วจะให้เสียงข้างน้อยที่เขาไม่เห็นด้วย ส่งเจลหล่อลื่นให้ไอ้พวกหื่นลงแขกรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น คล่องขึ้น ก็คงเป็นไปไม่ได้
สำหรับฝ่ายรัฐบาลคนที่ต้องตำหนิอย่างรุนแรงคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หนูไม่รู้ ที่ไม่เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกติกาสูงสุดของบ้านเมือง ทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลและร่างที่พิจารณาก็เป็นของครม.ที่เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา
ท่าทีของ ยิ่งลักษณ์ สะท้อนชัดว่าไม่ใช่นักการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตยที่ต้องให้ความเคารพต่อกลไกรัฐสภา หากเป็นแค่ทายาทการเมืองที่ทำตามใบสั่งพี่ชายเท่านั้น ส่วนลูกสมุน ลิ่วล้อ ทั้งหลายไม่ต้องพูดถึง เดินหน้าหาธงที่ปักไว้ลูกเดียว
ที่ต้องตำหนิไม่แพ้กัน คือ การทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนในยามที่อุดมการณ์อ่อนแรง คุณภาพอ่อนล้า ก็ถือเป็นคราวเคราะห์ของประเทศ เพราะสื่อไม่ทำการบ้าน ขาดความเท่าทันต่อสถานการณ์ ไร้อุดมการณ์ที่จะต่อสู้เพื่อรักษาหลักการของบ้านเมือง ดำรงตนเป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์และบุรุษไปรษณีย์
ที่สำคัญคือให้พื้นที่กับสวะมากกว่าจะแหวกกอสวะสื่อสารให้ประชาชนเห็นว่าน้ำมันขุ่นหรือใส เขาจะได้ตัดสินใจว่าสมควรตัดมากินมาใช้หรือไม่
การขาดความมุ่งมั่นในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดกระทบโดยตรงกับโครงสร้างการบริหารประเทศ และสิทธิประชาชน ทำให้สื่อจำนวนไม่น้อยกลายเป์นแนวร่วมมุมกลับให้รัฐบาลย่ำยีรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจ เพียงเพราะอยากเลิกงานเร็ว เบื่อการยืดเยื้อ โดยไม่ดูเนื้อหาว่าที่เขาโต้แย้งกันนั้นฝ่ายใดมีเหตุผลทำเพื่อรักษาหลักการของบ้านเมือง
เลวร้ายกว่านั้นคือเนื้อหาที่จะกระทบเป็นวงกว้างต่อโครงสร้างประเทศนี้กลับได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนน้อยกว่าการประท้วงโหลยโท่ยของ “จ่าประสาท” จับประเด็น"ปากตลาด ปากหมา" มาสื่อสารเป็นประเด็นหลัก
ทำให้คุณค่าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับยามนี้ ไม่แตกต่างอะไรจากกระดาษเปื้อนหมึก