ผู้นำฝ่ายค้านแนะนายกรัฐมนตรีเอาใจใส่เรื่องของแพง หัดยอมรับความจริงมากกว่าโทษความรู้สึกชาวบ้าน ชี้นโยบายรัฐบาลล้มเหลว เตือน ก.พาณิชย์ตกแต่งราคาสินค้าหนีความจริงไม่พ้น มอบฝ่ายกฎหมาย ปชป.ดำเนินคดี “ประชา” ใช้หลักฐานเท็จกล่าวหาเลื่อนลอยให้คนอื่นเสียบบัตรแทน จี้ “สมศักดิ์” เอาจริงมากกว่าโบ้ยให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน
วันนี้ (3 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนแนะนำให้นายกรัฐมนตรีเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงอย่างจริงจัง และยอมรับความจริงแทนการปฏิเสธปัญหา โดยเห็นว่าการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงของรัฐบาลยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากตัวเลขราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์เองแม้ว่าจะมีการระบุตัวเลขที่ต่ำกว่าราคาในตลาด ก็ยังพบว่าในหมวดอาหารและพลังงานราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งในเรื่องราคาพลังงานไม่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม แต่เป็นเพราะนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งจะยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนซึ่งเคยใช้ไฟฟรี 9 ล้านครัวเรือน จะเหลือเพียงแค่ 4 ล้านครัวเรือน หลังจากรัฐบาลปรับเพดานการใช้ไฟฟรีลดลงจาก 90 หน่วย เหลือ 50 หน่วย อีกทั้งค่าเอฟทียังเพิ่มอีก 30 สตางค์ในวันที่ 15 พ.ค.ด้วย
“สิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับน้ำท่วม นายกรัฐมนตรีจึงควรแก้ปัญหาให้ถูกจุด เพราะการที่ระบุว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในไตรมาสที่สองนั้น ยังไม่มีสัญญาณใดบ่งบอกว่าจะเกิดขิ้น เนื่องจากในความเป็นจริง ภาระของประชาชนกำลังเพิ่มขึ้นทุกด้าน ทั้งค่าอาหาร ค่าโดยสาร และค่าครองชีพโดยรวม รัฐบาลจึงต้องพิจารณาตามความเป็นจริง อีกทั้งต้องทบทวนการใช้งบประมาณ 1,340 ล้านบาทในการทำร้านค้าถูกใจซึ่งประสบความล้มเหลว เพราะจากเป้าหมายที่กำหนดให้มีร้ายค้าดังกล่าว 1 หมื่นเแห่งทั่วประเทศ กับมีผู้ร่วมเข้าโครงการเพียง 500 รายและเปิดได้จริงเพียง 1 แห่งที่กระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลจึงควรทบทวนเรื่องนี้” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรยังเตือนไปยังกระทรวงพาณิชย์ที่พบปัญหาว่าอาจมีการตกแต่งตัวเลขราคาสินค้าที่ต่ำกว่าความจริงเพื่อให้ตัวเลขเงินเฟ้อลดลงกว่าความเป็นจริงว่า ไม่ว่าจะแต่งตัวเลขอย่างไร ก็หนีความจริงไม่พ้น เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อนโดยตรง จึงสับสนว่ารัฐบาลตั้งใจจะแก้ปัญหา หรือชวนคนทะเลาะในเรื่องของแพง ถ้ารัฐบาลยืนยันว่าไม่มีของแพงก็เสนอให้ยกเลิกทุกโครงการที่ออกมา จะได้ไม่เปลืองงบประมาณ แล้วบอกให้ประชาชนเปลี่ยนความรู้สึก แต่ถ้ารัฐบาลยังมีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาก็ต้องยอมรับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เพราะการปฏิเสธปัญหาจะทำให้แก้ปัญหาไม่ได้
ส่วนกรณีที่ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ. วิเคราะห์ว่าเงินเฟ้อและดอกเบี้ยจะลดลงในช่วงครึ่งปีหลังนั้น หากเป็นการตั้งเป้าหมายก็รับฟังได้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดอกเบี้ย เพราะเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่รัฐบาล อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์ทางเศรษฐกิจควรมีรูปธรรมที่ชัดเจนให้ประชาชนเห็นด้วย เพราะความจริงที่ปรากฏค้านกับสิ่งที่นายวีรพงษ์วิเคราะห์ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีต้องเอาใจใส่ในนโยบายที่รัฐบาลอยู่ในวิสัยจะแก้ไขได้ ต้องดูผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะเป็นประธานกรรมการนโยบายพลังงาน นั่งหัวโต๊ะในการประชุม ครม.การอนุมัติเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขึ้นค่าไฟ ลดการใช้ไฟฟรีจาก 90 หน่วยเป็น 50 หน่วย ก็ต้องรู้ว่าสิ่งเหล่านี้กระทบประชาชน ไม่ใช่อนุมัติไปแล้วค่อยมาบอกว่าเป็นห่วง และจะหามาตรการช่วยเหลือ นายกรัฐมนตรีต้องประเมินผลก่อนการอนุมัติเรื่องต่างๆ ว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร
อีกด้านหนึ่ง นายอภิสิทธิ์เปิดเผยว่า ได้มอบหมายฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินคดีกับนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่กล่าวหาว่าตนให้คนอื่นเสียบบัตรแทนในการลงมติวันที่ 14 มี.ค. 2555 เนื่องจากนายประชาใช้หลักฐานเท็จในการกล่าวหา และมีเจตนาที่จะสร้างความเสื่อมเสียให้กับตนด้วยการกล่าวหาที่เลื่อนลอย ทั้งนี้ ตนเข้าใจดีว่าเป็นนักการเมืองต้องตรวจสอบได้ โดยที่ผ่านมาพยายามจะไม่ฟ้องร้อง แต่กรณีนี้เป็นการกล่าวหาให้เข้าใจผิดโดยเจตนา จึงต้องใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย และไม่ต้องการให้เกิดบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด ว่าเมื่อเกิดปัญหาการทำผิดของฝ่ายหนึ่งจะใช้วิธีกล่าวหาคนอื่นที่ไม่ได้ทำความผิดเพื่อให้สังคมเกิดความสับสน เพราะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
“เป็นความพยายามที่จะเบี่ยงเบนประเด็นให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ว่าปัญหาเรื่องการเสียบบัตรแทนกันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ทั้งที่การเสียบบัตรแทนกันเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมร้ายแรงและผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลต่อกระบวนการตรากฎหมายให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาด้วย โดยในส่วนนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์กำลังพิจารณารวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงที่ปรากฏ รวมถึงคลิปที่มีภาพ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน เพื่อพิจารณาว่าจะส่งให้คณะกรรมการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ หรือยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ดำเนินการ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า จากคำสัมภาษณ์ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม ตนรู้สึกเป็นห่วง เนื่องจากไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องรุนแรง อย่างไรก็ตาม ยังมีความสับสนในการทำหน้าที่ เพราะหลายเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งกลับมาที่คณะกรรมการจริยธรรม โดยระบุว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ แต่ในส่วนของคณะกรรมการจริยธรรมเห็นว่าเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะตรวจสอบ ดังนั้นจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานที่ชัดเจนต่อไปด้วย นอกจากนี้ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายหรือรัฐธรรมนูญด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร