xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจ “ดร.โกร่ง” ทลายวังบางขุนพรหม ทุบคลังหลวงล้วงเงินออกมาใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีรพงษ์ รามางกูร
หลังจากส่งคนเข้าไปยึดกุมอำนาจในการกำกับดูและตลาดทุน ได้เกือบเบ็ดเสร็จร้อย เปอร์เซ็นต์ ทั้งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เหลือเพียงตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ที่ยังเป็นนายจรัมพร โชติกเสถียร เป้าหมายต่อไปของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ก็คือ “แบงก์ชาติ”

สามปีเศษก่อนหน้านี้ หลังจากพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ที่แก้ไขใหม่มีผลบังคับใช้ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อสร้างความเป็นอิสระจากอำนาจการเมือง ในขณะเดียวกันก็ให้การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้มากขึ้น โดยการตั้ง “คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย” ขึ้นมากำกับการทำงานของแบงก์ชาติ ในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ความพยายามส่งคนของตนเข้าไปนั่งเป็นใหญในวังบางขุนพรหม เกือบเป็นผลสำเร็จ ถึงขั้นทูลเกล้าฯ ถวายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คือ นายพรชัย นุชสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่เวลาผ่านไปเกือบ 3 เดือน ก็ไม่ทรงโปรดเกล้าฯ ลงมาเสียที จนเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงขอถอนเรื่องจากสำนักราชเลขาธิการคืนมา

ข้อผิดพลาดในตอนนั้น คือ คณะกรรมการสรรหา ประธาน และกรรมการแบงก์ชาติ ที่มีนายวิจิตร สุพินิจ เป็นประธาน หลายคนมีคุณสมบัติที่ขัดต่อกฎหมาย คือ มีผลประโยชน์หรือส่วนได่ส่วนเสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่กรรมการสรรหา กล่าวคือ นายวิจิตร เป็นกรรมการธนาคารทหารไทยในขณะนั้น นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารทหารไทย นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย

กรรมการอีก 2 คน คือ นายนิพัทธ พุกกณะสุต ถูก ป.ป.ช.กล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ และถูกอัยการยื่นฟ้องต่อศาลใหยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน นายสมใจนึก เองตระกูล ขณะนั้นตกเป็นจำเลยในคดีหวยบนดิน ถูกดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ในขณะที่บอร์ดแบงก์ชาติชุดแรกที่ผ่านการสรรหาในตอนนั้น บางคนก็มีมลทินพอๆ กับผู้สรรหา คือ ตัวนายพรชัยเองเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ และถูกดำเนินคดีหวยบนดินด้วย เช่นเดียวกับนายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ส่วน นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ถูกกล่าวหาในคดีซีทีเอ็กซ์

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในตอนนั้น ได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ฟ้องต่อศาลปกครอง แต่รัฐบาลตัดสินใจถอนเรื่องเสียก่อน และนายสุชาติแต่งตั้งกรรมการสรรหาชุดใหม่ มีนายพนัส สิมะเสถียร อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอชื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เช่นเดียวกับที่แบงก์ชาติก็ได้เสนอชื่อ หม่อมเต่า เช่นเดียวกัน คณะกรรมการสรรหาจึงไม่ต้องลำบากใจ เลือกหม่อมเต่าเป็นประธานแบงก์ชาติคนแรก โดย ครม.เห็นชอบเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2552

ประธานบอร์ดแบงก์ชาติมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และเป็นต่อได้อีก 1 วาระ หม่อมเต่าครบกำหนดสิ้นเดือนเมษายนนี้ ต้นเดือนมกราคมปีนี้ บอร์ดแบงก์ชาติทำเรื่องให้นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในตอนนั้น แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา 7 คน แต่หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน นายธีระชัยถูกปรับออกจากตำแหน่ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ตั้งคณะกรรมการสรรหา

คณะกรรมการสรรหาชุดนี้ ซึ่งเพิ่งจะประชุมกันไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา มีนายพนัสเป็นประธานเหมือนครั้งที่แล้ว มีกรรมการชุดเดิมตามมาด้วย 1 คน คือ นายสวัสดิภาพ กันทาธรรม อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อีก 5 คน คือ นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล, นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์, นายพรชัย นุชสุวรรณ, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ และนายปรีชา อรรถวิภัชน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

2 ใน 5 คนนี้ คือ นายศุภรัตน์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กับนายศิโรตม์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร เป็นที่รู้กันอยู่ว่ารับใช้ทักษิณ และคอยดูแลไม่ให้ตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ เลี่ยงภาษีโดยผิดกฎหมาย อีก 2 คน คือ นายพรชัย กับนายวุฒิพันธ์ ก็เป็นคนของทักษิณ ที่เป็นว่าที่ประธาน และว่าที่บอร์ดแบงก์ชาติชุดที่ไม่โปรดเกล้าฯ มาก่อน ดังนั้น เสียงข้างมากอย่างน้อยที่สุด 4 ใน 7 ของคณะกรรมการสรรหานี้ คือเสียงที่จะเลือกนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติแน่นอน

การส่ง “วีรพงษ์” เข้าไปเป็นประธานแบงก์ชาติ มันก็เหมือนส่งหมาป่าเข้าไปอยู่กับลูกแกะในวังบางขุนพรหม เพราะนายวีรพงษ์นั้นแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความมีอคติ ดูหมิ่น ดูถูกผู้บริหารแบงก์ชาติมาโดยตลอด เพียงเพราะว่าแบงก์ชาติยืนยันในการดำเนินนโยบายการเงินของตน ไม่ลดดอกเบี้ย ไม่ทำให้บาทอ่อน ตามคำแนะนำของนักเศรษฐศาสตร์ ที่รวยที่สุดในประเทศไทย อย่างนายวีรพงษ์

ที่บอกว่า นายวีรพงษ์มีอคตินั้น เพราะว่าหลายๆ ครั้งความเห็น ข้อมูลที่นายวีรพงษ์ให้แก่สังคมนั้น เป็นเรื่องของ “อารมณ์” มากกว่าเหตุผล บางเรื่องเมื่อเวลาผ่านไป ก็พิสูจน์ว่าสิ่งที่นายวีรพงษ์ พูด ไม่เป็นความจริง

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2553 นายวีรพงษ์กล่าวในงานสัมนาเรื่อง “ตั้งรับยุคค่าเงินบาทแข็งตัว โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย” ที่สถาบันสร้างอนาคตไทยร่วมกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดขึ้นว่า ธปท.ต้องลดมิจฉาทิฐิ ลดความอวดดี เลิกหลอกลวงประชาชน อย่าแล้งน้ำใจกับประเทศชาติ

“อาจจะเกิดวิกฤตรอบสองได้ เพราะความโง่เขลาของ ธปท.เพราะขณะนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่ได้เป็นไปตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การส่งออกที่ดีขึ้นก็ไม่ได้ดีจริง 3-6 เดือนข้างหน้าก็เห็นว่าเป็นอย่างไร เมื่อถึงจุดหนึ่งนักลงทุนต่างชาติรู้ว่าค่าเงินบาทแข็งเกินพื้นฐานของประเทศ แต่พวกเราไม่รู้ ถึงจุดนั้นนักลงทุนเหล่านั้นก็จะทุ่มโจมตีค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง อาจจะกลับมาถึงระดับ 35บาทต่อดอลลาร์ก็ได้ ค่าเงินบาทกำลังจะถูกปั่นถ้าหากบาทแข็งไปถึง25 บาทต่อดอลลาร์อาจจะไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้งได้”

นายวีรพงษ์กล่าวต่อว่า ธปท.เห็นแก่ตัวและใจดำกับประชาชนคนไทยและประเทศชาติ เพราะผลกระทบจากค่าเงินบาทกำลังส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจ แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมเพราะไม่มีอุตสาหกรรมใดที่จะไม่ผลิตเพื่อการส่งออก เพราะส่งออกที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศถึง 90% ก็ยังได้รับผลกระทบ ขณะที่ธปท.ก็เสนอให้ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ไม่ใช่เอกชนไม่รู้ แต่ราคาถูกกำหนดโดยต่างประเทศ

บัดนี้ เวลาผ่านไปปีกว่าแล้ว เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทอย่างที่นายวีรพงษ์ทำนายไว้ การส่งออกกลับขยายตัวขึ้นด้วยซ้ำ แต่เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสูวิกฤตอย่างช้าๆ ในยุคที่นายวีรพงษ์เป็นกุนซือใหญ่ด้านเศรษฐกิจนี่แหละ เมื่อไมกี่วันมานี้เอง นายวีรพงษ์เป็นคนบอกเองไม่ใช่หรือว่า เลิกกลัววิกฤตต้มยำกุ้งได้แล้ว

แบงก์ชาติในสายตาของนายวีรพงษ์ ทำอะไรก็ผิดวันยังค่ำ วันนี้ไม่ผิด ก็ผิดเมื่อวาน เมื่อวานไม่ผิด พรุ่งนี้ก็จะผิด คณะกรรมการสรรหาจะตอบสังคมอย่างไร ถ้าเอาคนที่มีอคติกับแบงก์ชาติอย่างรุนแรงไปเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

ภารกิจของนายวีรพงษ์ ในการอาสา นช.ทักษิณ บุกวังบางขุนพรหมครั้งนี้ ไม่ต้องบอกใครๆ ก็รู้ว่า คือ การนำทุนสำรองส่วนหนึ่งมาตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งคนก่อนคือ นายธีระชัยกับคนปัจจุบัน คือนายกิตติรัตน์ เห็นไม่ตรงกัน

รวมทั้งเรื่องการลดดอกเบี้ย และการทำให้ค่าบาทอ่อน ซึ่งล้วนแต่สวนทางกับนโยบายของนายประสาร และผู้บริหารแบงก์ชาติในปัจจุบัน

คณะกรรมการสรรหาจะอธิบายอย่างไร ที่เอาคนที่มีความคิดเห็นสวนทางกับแบงก์ชาติไปเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

คณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ 3 คน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 5 คน เป็นกรรมการ

คณะกรรมการ ธปท.มีหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินงานของแบงก์ชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยการให้ความเห็นชอบเรื่องงบประมาณ ผลการดำเนินงาน รวมทั้ง ประเมินผลงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการ ธปท.

คณะกรรมการ ธปท. ยังมีอำนาจกำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อการคัดลือก ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบยสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน

นอกจากนั้น ยังมีอำนาจการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินในทุนสำรองเงินตรา

อย่างไรก็ตาม อำนาจหน้าที่เหล่านี้จะไม่มีความหมายเลย ถ้าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไม่เห็นด้วย และเมื่อพิจารณาจากท่าทีของนายประสารที่ผ่านๆ มาแล้ว เป็นเรื่องยากที่นายวีรพงษ์จะบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมายมา ยกเว้นจะต้องหาเหตุปลดนายประสารให้ได้สียก่อน

พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องใหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ แต่ต้องแสดงเหตุผลการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

อยู่ที่ว่า นายวีรพงษ์กล้าแนะนำหรือเปล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น