กกต.น้อมรับสภาฯตัดสินใจบังคับใช้ กม.จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เผยทั้ง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.-ท้องถิ่น ต่างมีข้อดีข้อเสีย แต่ถ้าให้ดีควรออกเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อให้ผู้ปฏิบัติชัดเจน แนะใช้ศาลพิจารณาเพิกถอนสิทธิการเลือก ส.ส.ร.
วานนี้ (23 เม.ย.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของรัฐสภามีการทบทวนมาตรา 291/5 ว่าจะใช้กฎหมายใดในการเลือกตั้ง ส.ส.ร ว่า ส่วนตัวคิดว่าควรออกเป็นกฎหมายเฉพาะ เพราะจะทำให้เกิดความชัดเจน ถูกต้อง ซึ่งอาจใช้เวลาในการตรากฎหมายประมาณ 1 เดือน แต่ก็จะปลอดภัยและชัดเจนต่อ กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติ
“ขอให้รัฐสภามีความชัดเจนว่าจะให้ กกต.นำกฎหมายใดมาใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพราะทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน โดย พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ต้องมีการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมทั้งประหยัดงบประมาณเพราะใช้เจ้าหน้าที่กรรมการประจำหน่วย (กปน.) น้อยกว่า แต่มีข้อเสียคือ พรรคการเมืองสามารถมายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. จะระบุชัดเจนว่าห้ามไม่ให้พรรคการเมืองยุ่งเกี่ยว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่วิจารณญาณของรัฐสภา”
อย่างไรก็ตาม ในการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ไม่ควรเป็นหน้าที่ของ กกต. ควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณา เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไปปกติ เนื่องจากการพิจารณาต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่ถ้าหากจะให้ กกต.เป็นผู้พิจารณาก็ไม่ขัดข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในวันเดียวกันนี้ นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวตอนหนึ่งระหว่างมอบนโยบายในพิธีการเปิดสัมมนาพนักงานจัดการเลือกตั้ง ประจำปี 2555 ว่า ขณะนี้อยู่สภาฯ อยู่ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
โดยร่างแรกที่ผ่านการพิจารณาไป คือ ให้ กกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งตนมองว่างานของ กกต.เป็นงานระดับชาติ มีผลกระทบกับการเมืองและประเทศชาติโดยตรง เนื่องจากเกี่ยวกับบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าทำด้วยความสุจริต นักการเมืองก็จะให้ความเชื่อถือ หากทำผิดพลาดก็จะกระทบความน่าเชื่อถือของ กกต. โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่จะมีขึ้นก็ต้องรอดูว่าเขาจะให้ กกต.ใช้กฎหมายใดในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้มีการสอบถามความเห็นมา กกต.ก็ได้เสนอให้ออกเป็นกฎหมายเฉพาะในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เหมือนที่ปี 50 ออกกฎหมายเฉพาะในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 แต่ปรากฏว่าที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้ดำเนินการให้ออกกฎหมายใหม่ แต่ให้ใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มาใช้เลือกตั้ง ส.ส.ร.
“ในฐานะผู้ปฎิบัติ กกต.ไม่เกี่ยงงอน หากสภาฯออกกฎหมายอย่างไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด จะใช้กฎหมายใดก็ต้องอยู่ที่สภา ถ้าเป็น พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นก็ดี เพราะไม่มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ทำให้งบประมาณลดลง ซึ่งการนำ พ.ร.บ.ฉบับนี้มาใช้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร หรือถ้ามีจุดอ่อนช่องว่างใดก็สามารถเขียนระบุเพิ่มไปได้”
ส่วนการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งที่มาตรา 291 ระบุ ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาให้ใบเหลือง ใบแดง ไม่อยากก้าวล่วงทางคณะกรรมาธิการฯ แต่อยากเสนอว่าในการพิจาณาคดีต่างๆ ของศาล จะไปบังคับศาลไม่ได้ว่าให้พิจารณาแล้วเสร็จภายในกี่วัน เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในแต่ละคดี
นายประพันธ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า สภามีมติออกมาอย่างไร กกต.ก็ปฏิบัติให้ได้ แต่ทางที่ดีที่สุดคือ การออกกฎหมายเฉพาะ แต่เมื่อกรรมาธิการมีความเห็นให้นำ พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาใช้ กกต.ก็ต้องปฏิบัติให้ได้ เพราะทั้งสองกฎหมายก็มีข้อดีและข้อเสีย อย่างกรณีการนำ พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นมาบังคับใช้นั้น หากไม่ต้องการให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวก็ให้นำ พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาบังคับใช้โดยอนุโลมได้ ส่วนการกำหนดบทลงโทษอาญาที่จะนำมาใช้โดยอนุโลม ตามหลักนิติศาสตร์แล้ว ไม่สามารถทำได้ ซึ่งควรระบุเป็นรายมาตราให้ชัดเจนว่าจะนำบทลงโทษในมาตราใดมาบังคับใช้