“อภิสิทธิ์” ย้ำค้านปรองดองบังหน้าล้างผิด ซัดรัฐอย่าบิดเบือนข้อเสนอ คอป. ยันไม่ได้ชงนิรโทษฯ แนะควรให้เกียรติ ชี้ “ยงยุทธ” ท้าทำประชามติให้ “ทักษิณ” กลับบ้านไม่ได้ ขัดรัฐธรรมนูญชัด สับเคลื่อนไหวสร้างแต่ความขัดแย้ง ลั่นกระบวนการยุติธรรมไทยต้องต่อรองไม่ได้ จวก “สุกำพล” จ้อยกนายเหนือตุลาการ สวน “นิคม” ยัน ปชป.แปรญัตติตามหน้าที่ ไม่ได้อยู่เฉยๆ กินภาษีประชาชน
วันนี้ (19 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนแนวทางปรองดองแต่สิ่งที่ไม่สนับสนุน คือ การนำคำว่าปรองดองมาบังหน้า อ้างเพื่อใช้ในการล้างผิดให้คนบางคน คนบางกลุ่ม และตนคิดว่ารัฐบาลมีความพยายามที่จะทำให้สังคมเกิดความสับสนโดยนำสองเรื่องนี้มาปะปนกัน โดยกระบวนการปรองดองเราสนับสนุนให้ คอป.เดินหน้าเป็นหลักในการคนหาข้อเท็จจริง สรุปข้อเสนอสู่สังคมว่าควรเดินหน้ากันอย่างไร และสนับสนุนให้นำประเด็นที่มีการอภิปรายในสภาฯ และการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ไปใช้ในการรับฟังความเห็นเพื่อให้สังคมตกผลึกและเกิดบรรยากาศของความปรองดอง แต่ที่เราไม่สนับสนุน คือ การอ้างความปรองดองแต่สุดท้ายเป็นการสร้างความขัดแย้งใหม่ด้วยการออกกฎหมาย หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีที่ดินรัชดาฯ อยู่เหนือกฎหมายไทย
ผู้นำฝ่ายค้านฯ เตือนรัฐบาลด้วยว่า ไม่ควรบิดเบือนข้อเสนอของ คอป. เพราะนายคณิต ณ นคร ประธาน คอป.ก็พูดชัดเจนว่าไม่เคยมีข้อเสนอเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม โดยในขณะนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่าจะมีการออกกฎหมายปรองดองหรือไม่ และจะเขียนว่าอย่างไร ซึ่งในส่วนของรัฐบาลพูดเรื่องนี้มาหลายเดือนแล้วก่อนที่จะมีผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าโดยระบุว่ามีการร่างไว้แล้ว 6 มาตรา ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีความพยายามที่จะออกกฎหมายเพื่อพา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน แต่รัฐบาลเองก็ยังไม่มีความเป็นเอกภาพในเรื่องนี้ บางคนบอกว่าจะทำให้เสร็จถายใน 4 เดือน บางคนบอกปีหน้า แต่ทั้งหมดอยู่ที่เนื้อหาของกฎหมายว่าสมควรทำหรือไม่ ถ้าไม่สมควรทำไม่ว่าจะเป็นปีนี้หรือปีหน้าก็ไม่สมควรทำ โดยเห็นว่ารัฐบาลควรให้เกียรติ คอป.ที่เป็นคณะกรรมการอิสระให้ทำงานให้เสร็จสิ้นโดยไม่ควรชี้นำหรือกดดัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลคงพยายามผลักดันวาระของตัวเอง สังคมต้องติดตาม ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ช่วยนำเสนอข้อเท็จจริงว่า สิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันจะเป็นการสร้างความขัดแย้งมากกว่าความปรองดอง
ส่วนกรณีที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ท้าให้มีการทำประชามติในการออก พ.ร.บ.ปรองดองนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องถามว่าจะมีการตั้งคำถามในการทำประชามติว่าอย่างไร เพราะถ้าถามว่าจะปรองดองหรือไม่ ประชาชนเกือบ 100% ก็คงตอบว่าปรองดอง รวมทั้งตนด้วย แต่ถ้าถามว่าจะล้างผิดให้คนโกงหรือไม่ ตนก็ไม่คิดว่าประชาชนจะยอมให้ล้างผิดให้คนโกง นอกจากนั้น การทำประชามติตามรัฐธรรมนูญก็มีเงื่อนไขในมาตรา 165 ว่า การทำประชามติต้องไม่ขัด หรือแย้งกับรัฐธรมนูญ และต้องไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล หรือคณะบุคคล ดังนั้นจะบอกว่าทำประชามติให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านหรือไม่ ทำไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลงไม่ใช้วิธีตรงไปตรงมา เพราะการจะยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำอยู่ทำเพื่อคนคนเดียวให้พ้นผิด อยู่เหนือกฎหมาย ก็ประเมินแล้วว่าสังคมคงรับไม่ได้ จึงพยายามทำแบบไม่ตรงไปตรงมา อ้างกรรมการนั้น อ้างสถาบันนี้ อ้างคำว่าปรองดองมาบังหน้ามากกว่า ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทุกครั้งที่มีการหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาก็มีการวิจารณ์ทั้งในสื่อมวลชน และองค์กรต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหว เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าไม่ได้สร้างความปรองดอง แต่สร้างความขัดแย้ง
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่าจะไม่เรียกร้องเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทที่ถูกยึดคืนว่า พ.ต.ท.ทักษิณพูดกลับไปกลับมาหลายครั้ง และตนเชื่อว่าคำพูดที่บอกว่าตัวเองไม่เรียกร้องเรื่องนั้นเรื่องนี้ สุดท้ายถ้าอยากได้ก็ใช้วิธีให้คนอื่นเรียกร้องแทนตัวเอง ซึ่งตนยืนยันว่าระบบยุติธรรมไทยต่อรองไม่ได่ ถ้าเราปล่อยให้ระบบยุติธรรมเป็นเรื่องการต่อรองกันได้ เราจะไม่เหลือหลักในการที่จะดำรงเรื่องความถูกความผิดในสังคม
ส่วนกรณีที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ระบุว่าการตัดสินคดีที่ดินรัชดาฯ ตราชั่งเอียงนั้น ตนเห็นว่าคนที่แพ้คดีก็จะพูดอย่างนี้เพราะไม่พอใจคำตัดสิน แต่ต้องยอมรับว่ากระบวนการต่างๆ เป็นไปตามกฎหมายชัดเจน การพูดเช่นนี้เท่ากับพยายามจะเอาตัวบุคคลอยู่เหนือสถาบันตุลาการ ความถูกต้อง และกฎหมาย ทั้งนี้ ตนก็เป็นห่วงว่าหากคนในรัฐบาลมีวิธีคิดเช่นนี้จะทำให้การบริหารประเทศถูกตั้งคำถามในเรื่องหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งหลายเรื่องที่รัฐบาลทำก็มีข้อโต้แย้งมากมาย มีการยื่นเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลว่า ถ้าอยากให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าจริง ขอให้ยึดประโยขน์ส่วนรวม และช่วยกันสร้างมาตรฐานที่ดี แม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถ้ารัฐบาลไม่ยึดเอาเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ หรือวาระของตัวเองเป็นเป้าหมาย ก็เป็นโอกาสในการที่จะทำให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกติการ่วมกัน และเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองได้ แต่ถ้ารัฐบาลยึดแต่ความต้องการของตัวเองก็เป็นการตอกย้ำความขัดแย้งมากกว่า โดยที่รัฐบาลไม่สนใจปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนเท่าที่ควร
ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะยื่นถอดถอนสมาชิกรัฐสภาที่รับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐรมนูญว่าขัดรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นสิทธิตามกฎหมายที่สามารถทำได้ ซึ่งในส่วนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำความเห็นถึงประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรี ว่ามี 3 ประเด็นในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญนั้น เท่าที่ดูจากบรรยากาศการพิจารณาในรัฐสภาก็คิดว่าไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะกรรมาธิการฯ ยังไม่มีท่าทีตอบสนองหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหา แต่ยืนยันในสิ่งที่เป็นมติของตัวเอง ขณะที่รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งใจฟังความเห็นในรัฐสภาโดยส่วนใหญ่ไม่ได้มาฟังในสภาด้วยซ้ำ
นายอภิสิทธิ์ยังแสดงความสงสัยต่อท่าทีของนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ที่ตำหนิพรรคประชาธิปัตย์แปรญัตติมากเกินไปว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ไม่ได้กินเงินเดือนภาษีประชาชนแล้วนั่งเฉยๆ ไม่ทำงาน การแปรญัตติเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่เป็นการรื้อทั้งฉบับ ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายร่วมกันในการปฏิรูประบบการเมือง จึงต้องระมัดระวังในการดำเนินการ การที่สมาชิกทำหหน้าที่ตามสิทธิของตัวเองในการแปรญัตติปรับปรุงน่าจะเป็นเรื่องที่ดี ตนจึงแปลกใจมากว่าคนที่เป็นถึงรองประธานวุฒิสภา กลับมองว่าการทำหน้าที่ของสมาชิกเป็นเรื่องที่ไม่ดี
“ถ้าพวกผมอยู่เฉยๆ กินเงินเดือนกินภาษีประชาชนไม่ทำอะไรเพื่อให้ทุกอย่างผ่านไป อย่างนั้นผมคิดว่าไม่ใช่การทำหน้าที่ ซึ่งเราไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ และใช้สิทธิทุกวิถีทางเพื่อให้การแก้ไขเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เป็นการทำหน้าที่สะท้อนเสียงของประชาชน และผมก็เห็นว่า ส.ว.หลายคนสนับสนุนแนวทางที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์แปรญัตติ ผมคิดว่าไม่มีปัญหาถ้าในสภาฯ ประชาธิปัตย์จะต้องยืนโดดเดี่ยว แต่เราจะยืนในจุดที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องของบ้านเมือง” นายอภิสิทธิ์กล่าว