รัฐมนตรีต่างประเทศไม่รู้ “นช.แม้ว” คุย “ฮุน เซน” ช่วย “วีระ-ราตรี” เชื่อคงถกกันจริง จ่อถาม “ฮอร์ นัมฮง” ที่บรูไน รับทูตไทยยังคุยเขมรไม่รู้เรื่องกรณีแลกเปลี่ยนนักโทษ เผยกัมพูชาย้ำต้องติดคุก 1 ใน 3 ก่อน อ้างสังคมโลกต้อนรับนายใหญ่เพราะไม่ยอมรับถูกรังแกการเมือง การันตีทำเพื่อประโยชน์ชาติ ยันปรองดองทุกอย่างจบก็กลับมาได้ ลาก “คณิต” ร่วมร่าง กม. เชื่อเสร็จใน 3-4 เดือน พร้อมเดินหน้าแก้ รธน.ต่อ
วันนี้ (17 เม.ย.) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 07.15 น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ก่อนการร่วมคณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีที่ดินรัชดา ระบุได้พูดคุยกับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา หลายรอบในการช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำของกัมพูชาว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ พ.ต.ท.ทักษิณอาจมีการไปพูดคุยกับสมเด็จฯ ฮุน เซน จริง แต่เท่าที่ตนติดตามข่าวเห็นว่านายวีระไม่ได้ยอมรับว่ากระทำผิด ขณะที่จากการที่ตนสอบถามเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ทราบว่าการช่วยเหลือนายวีระและน.ส.ราตรี ยังไม่มีรายละเอียด เพราะอยู่ในระหว่างการพูดคุยกัน อย่างไรก็ตาม ตนจะมีโอกาสได้พบกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศของกัมพูชา ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) ระหว่างวันที่ 26-27 เม.ย.นี้ ที่ประเทศบรูไน จึงจะสอบถามถึงกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และแนวทางดำเนินการเรื่องของนายวีระและน.ส.ราตรี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้พบกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ในการประชุมภายใต้ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 20-21 เม.ย.นี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยและกัมพูชา คงได้พูดคุยกันถ้ามีโอกาส
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ข้อเสนอจากฝ่ายกัมพูชาที่ให้มีการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่าง 2 ประเทศในการช่วยเหลือนายวีระ และน.ส.ราตรี หรือไม่ รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า ตนพยายามดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ตนไปเยือนกัมพูชาครั้งที่ผ่านมา โดยตนให้เอกอัครราชทูตไทยฯ ติดต่อประสานงานกับฝ่ายกัมพูชาว่าถ้าจะแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างกัน ต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งเอกอัครราชทูตไทยฯ กำลังติดตามเรื่องอยู่ตลอด แต่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน อาทิ เรื่องจำนวนนักโทษ นอกจากนี้ ทางกัมพูชายืนยันว่านายวีระและน.ส.ราตรี ต้องได้รับโทษ 1 ใน 3 ก่อนจึงจะได้รับการพิจารณาการลดโทษหรือขอพระราชทานอภัยโทษ
ต่อข้อถามว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปยังกัมพูชา เมื่อวันที่ 14-16 เม.ย.ที่ผ่านมาจะกลายเป็นประเด็นการเมืองหรือไม่ เพราะอาจถูกมองว่าไปพูดคุยในเรื่องที่เอื้อต่อรัฐบาล นายสุรพงษ์กล่าวว่า เวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปประเทศใดก็ได้รับการยอมรับจากผู้นำประเทศแทบทุกประเทศ ทั้งในและนอกกลุ่มประเทศอาเซียน อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณพูดทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก และถ้ามีสิ่งใดที่เกิดกับคนไทย พ.ต.ท.ทักษิณจะช่วยเหลืออยู่ตลอด
ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุจะกลับประเทศไทยภายใน 3-4 เดือนนี้นั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า ถ้าเราปรองดองกันและทุกอย่างยุติลงได้ พ.ต.ท.ทักษิณน่าจะเดินทางกลับมาได้ ทั้งนี้ ถ้าเรามองแต่อดีต เราจะไปไม่ถึงอนาคต วันนี้ประเทศไทยต้องมองอนาคต เพราะต่างประเทศมีความมั่นใจในการเมืองของไทยในขณะนี้ จึงถึงเวลาที่เราควรก้าวไปด้วยกันและสร้างประเทศให้เจริญ เพื่อให้มีคนเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องกลับมาประเทศไทย และเรื่องของคดีต่างๆ ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ขณะเดียวกันต้องมีความเป็นธรรม เพราะทุกประเทศรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการรังแกทางการเมือง ซึ่งสังคมโลกไม่ยอมรับ ดังนั้น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณไปเยือนประเทศใด ประเทศนั้นๆ ก็ให้การต้อนรับ
เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับประเทศไทยได้ต่อเมื่อมีการออกพ.ร.บ.ปรองดองแล้วใช่หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตอนนี้คงจะมีการนำเรื่องของพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งอาจผ่านทางนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่จัดทำร่วมกับความคิดเห็นต่างๆ ออกมาเป็นข้อเสนอแนะ แล้ว ครม.จะนำมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความปรองดอง นอกจากนี้บ้านเมืองจะปรองดองได้ ทุกฝ่ายต้องรู้จักให้อภัย แต่ถ้ามัวแต่เล่นการเมือง บ้านเมืองก็ไปไม่ถึงไหน เมื่อถามต่อว่า แสดงว่าจะออก พ.ร.บ.ปรองดองได้ภายใน 3-4 เดือนใช่หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตนเชื่อว่าน่าจะออกได้ เพราะตนเห็นว่าไม่มีอะไรติดขัด และประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นการเกิดความปรองดอง
ต่อข้อถามว่าถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กลับมาก็ไม่จำเป็นต้องรอการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า ถ้าปรองดองกันได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำต่อไป เพราะไม่เกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องของสมาชิกสาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะรัฐบาลชุดที่แล้วเคยทำมาแล้วก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2554