xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักภริยารองผู้ว่ากทม.สายฮาร์ดคอร์ “ดร.จันทนี มโนมัยพิบูลย์” ผู้ไม่ยอมเป็นแค่หลังบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายคนเชื่อว่ากำลังใจที่ดีของผู้ชาย มักมาจากผู้หญิงที่อยู่หลังบ้าน คอยเติมพลัง ให้กำลังใจ

ทว่าสำหรับ ดร.จันทนี มโนมัยพิบูลย์ แล้ว เธอไม่ขอเป็นเพียงหลังบ้าน หากเลือกที่จะออกมาเดินเคียงข้างสามี ด้วยองค์ความรู้และจิตสำนึกเพื่อสังคม สนับสนุนเต็มที่ถ้าสามีต้อง ‘ชน’ เพื่อให้สังคมกทม.ของเราน่าอยู่และปลอดภัย

สาวร่างเล็กยิ้มหวานคนนี้มีชื่อเล่นว่า คุณจูน เธอเป็นภรรยาคนสวยของ ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เมื่อเร็วๆ นี้ เราเห็นท่านรองฯ ผู้นี้ออกสื่อถี่ยิบกรณีถนนพระรามสี่ทรุด เพื่อแจงเหตุวิเคราะห์ พร้อมแนวทางการป้องกันและปรับปรุงแก้ไข ชาวกท.เราจะได้ใจชื้นขึ้นมาหน่อย

ทว่าย้อนขึ้นไปไม่นานมานี้เองตอนมหาอุทกภัยปลายปีพศ.2554 เราคุ้นชื่อนามสกุล “ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์” มาก ผ่านตำแหน่งประธานคณะทำงานด้านการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเชิงเทคนิคของกทม. เพราะท่านได้รับการแต่งตั้งด่วนให้เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะทำงานของศปภ.(ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม) จวบกระทั่งน้ำลดก็ยังออกพ็อกเกตบุ๊กแฉแหลก “ทำไมน้ำท่วมใหญ่ ถล่มเมือง”

ด้วยสไตล์การทำงานที่ชัดเจน พูดตรง ทั้งยังมีกรณีของวลีเด็ด "มีนักการเมืองบางคน มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ และผีเจาะปากมาพูด" ที่รองผู้ว่าฯ ท่านนี้โพสต์ไว้ในเฟสบุ๊คส่วนตัว เพื่อหวังเตือนสตินักการเมือง (บางคน) ที่บ้าเล่นการเมืองในช่วงน้ำท่วม ก็ได้กลายเป็นประเด็นฮอตจนทำให้ ดร. ธีระชน ได้รับฉายาว่าเป็น “ผู้ว่าฮาร์ดคอร์” แห่งศาลาว่าการกรุงเทพฯ


“จริงๆ ท่านรองฯ เป็นคนที่ถ้าไม่หนักสุดๆ ท่านจะไม่ปะทะหรอกค่ะ ท่านจะเป็นแนวนักวิชาการ พูดด้วยข้อเท็จจริงตลอด แต่ประเด็นคือ เราเป็นคนทำงาน แต่บางครั้งเมื่อฝั่งตรงข้าม ต้องการทำให้เป็นเกมการเมือง เมื่อเรามีข้อมูลข้อเท็จจริง เราก็ต้องออกมาเปิดเผยให้คนรู้บ้าง แต่พอมีการตอบโต้เกิดขึ้น คนก็เลยคิดว่าท่านแรง ท่านฮาร์ดคอร์” ดร.จันทนี อธิบายให้เราฟัง เมื่อถามถึงฉายาของคุณสามี

ภรรยาที่เดินเคียงคู่ มิใช่อยู่แค่หลังบ้าน

ดร.หน้าหวาน เล่าให้ฟังถึงเส้นทางความรักอันแสนโรแมนติกของเธอและท่านรองผู้ว่าฯ ว่า เริ่มต้นเมื่อเธออายุ 16 ปี ขณะนั้นเธอเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเพาะช่าง ส่วนท่านรองผู้ว่าฯ เรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ธีระชนผู้นี้ ก็ถือเป็นรักแรก และรักเดียวของเธอ... เพราะหลังคบหาดูใจกันได้ 4 ปี เมื่อเธอเรียนจบชั้นปวส.ก็ตัดสินใจแต่งงานทันที ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ชายคนนี้ดีกับเธอเหมือนคุณพ่อ

“จูนแต่งงานเร็วค่ะ อายุ 20 จูนก็แต่งงานแล้ว ตอนนั้นเหมือนจิตใจใต้สำนึกบอกว่า คนๆ นี้คือคนที่ใช่ จูนแต่งงานด้วยความรู้สึกที่ว่า แฟนจูนเหมือนคุณพ่อ เพราะคุณพ่อจูนห่างจากคุณแม่เยอะ และมีความเป็นผู้ใหญ่ หลายๆ อย่างทำให้จูนรู้สึกว่า ตัวเองชอบคนอายุมากกว่า มันก็เป็นเหตุผลให้พอเจอท่านรองฯ ก็เลยตัดสินใจแต่ง ซึ่งท่านรองห่างจากจูน 10 ปี ตอนนั้นเราอายุ 20 ท่านก็ 30”

ภริยารองผู้ว่ากรุงเทพฯ เล่าต่อว่า หลังแต่งงานแล้ว ดร. ธีระชนดูแลเธอเป็นอย่างดี ให้อยู่เป็นแม่บ้าน โดยไม่ต้องทำงานนอกบ้าน แต่ตัวเธอเองต่างหาก ที่เมื่ออยู่ไปกลับยิ่งรู้สึกกดดันและคิดว่า การจะเป็นคู่ชีวิตที่ดี ต้องเป็นทั้งภรรยา และที่ปรึกษาทางความคิดให้สามีได้ นี่เองเป็นเหตุผลให้เธอเลือกที่จะเรียนต่อจนจบระดับปริญญาเอก โดยมีสามีคอยช่วยเหลือและอยู่เคียงข้างเสมอ

“ตอนแรกจูนคิดว่าตัวเองคงเรียนต่อไม่ได้หรอก เราไม่เก่ง ก็เลยใช้ชีวิตแม่บ้าน เพราะท่านรองฯไม่ให้ทำงาน แต่พออยู่บ้านไป ใจเราอยากทำงาน เหมือนมีบางอย่างผลักดันให้เราอยากออกไปทำนู่นนี่ สุดท้ายเลยไปเรียนต่อ ท่านรองฯก็แนะนำว่าไปเรียนต่อด้านสารสนเทศของมสธ.(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) มั้ย ไปเรียนรัฐศาสตร์ สื่อสารการเมืองของมหาวิทยาลัยเกริกมั้ย เราก็เรียนมาเรื่อยๆ จนจบปริญญาเอก”

“เวลาอยู่กับสามี จูนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนเจ้าหญิงเลย เพราะเขาไม่ค่อยอยากให้เราทำอะไร เขาอยากให้เราสบาย แต่ความรู้สึกจูนเอง จูนมีความคิดว่า ผู้ชายเวลาที่เขาขับเคลื่อนชีวิตเขาไปข้างหน้า มีการเติบโต เราเองเราต้องโตตาม ถ้ามาเลี้ยงเราเป็นเจ้าหญิงและเป็นเด็กตลอดมันคงไม่ได้ จูนเชื่อว่า สมองมันมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ คนเราไม่ใช่เครื่องจักร ยิ่งเรารับรู้ประสบการณ์เยอะขึ้น มันเป็นการขบเคี้ยวให้สมองเราพัฒนา และเราจะเก่งขึ้น

ท่านรองฯ ทำงานตลอด ท่านออกไปข้างนอก ท่านก็เจอปัญหา พอเจอปัญหาท่านก็แก้ไข นั่นคือประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น และท่านจะเก่งขึ้น คมขึ้น ส่วนตัวเราเองอยู่บ้านเป็นเจ้าหญิงแสนสบาย แต่เราไม่สามารถที่จะพูดคุยกับเขาได้รู้เรื่องเลย มันก็จะทำให้ยิ่งห่าง ความเข้าใจก็น้อยลง ซึ่งมันอาจจำทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้

นั่นคือเขาพูดแล้วเราอาจจะไม่เข้าใจ หรือเราไม่สามารถจะเป็นเพื่อนคู่คิดเขาได้ ซึ่งในบางครั้งผู้ชายเขาก็อยากได้เพื่อนคู่คิดเหมือนกัน เช่นในเรื่องเกี่ยวกับงาน บางครั้งเขาก็อยากถามเราว่า ควรทำดีมั้ย ทางนี้ควรจะเดินอย่างไร ซึ่งถ้าเราไม่มีความรู้ก็คงลำบาก

แต่พอเราได้ไปเรียน เราก็ได้ประสบการณ์ ได้ทฤษฎีความรู้ต่างๆ ของอาจารย์ที่สอนเรามา มันก็ทำให้เรามีความคิดเห็นที่กว้างขึ้น สามารถแนะนำเขาได้ เพราะอย่างท่านรองฯ ท่านจะไม่ใช่สายสื่อสารการเมือง เรื่องการสื่อสารบางครั้งเราก็ให้คำแนะนำได้ ซึ่งนี้ก็เป็นเหตุผลที่จูนไปเรียนด้วย เพราะนอกจากจะทำให้เราก้าวไปด้วยกันได้แล้ว เราก็จะได้พัฒนาตัวเองด้วย


เพราะจูนเอง ต้องยอมรับว่า คุณแม่กับคุณพ่อของจูนค่อนข้างต่างกัน คุณพ่อจูนจบปริญญาโท ส่วนคุณแม่จบม.ศ.5 คุณแม่จูนก็แต่งงานเร็วเหมือนผู้หญิงสมัยก่อนทั่วไป และท่านก็ไม่ได้เรียนมาก ซึ่งมันทำให้จูนเห็นบางสิ่งบางอย่างว่า พอผู้ชายได้ออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้นแล้ว ถ้าผู้หญิงไม่มีการพัฒนาตามในเรื่องความคิด มันจะทำให้ไม่สามารถที่จะเป็นเพื่อนคู่คิดให้เขาได้ และมันก็จะทำให้เมื่อพูดคุยกัน มันจะมีประเด็นที่ทะเลาะกันได้ เพราะบางครั้งผู้หญิงอาจจะรู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้รับความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น เสนอความคิดไป ทำไมผู้ชายไม่ทำ ซึ่งจริงๆ แล้ว การที่เสนอไปแล้วเขาไม่ทำตาม มันไม่ใช่เพราะเขาไม่รักไม่เชื่อใจเรา แต่มันมีปัจจัยหลายอย่างที่มันมาเกี่ยวด้วย

ดังนั้นจูนเลยคิดว่าเรื่องการศึกษาที่แตกต่างมันก็เป็นสิ่งหนึ่ง ที่อาจทำให้บางครั้งคนสองคนก็เหมือนคุยกันคนละภาษา ตรงนี้คือสิ่งที่จูนได้เรียนรู้จากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งจูนคิดว่ามันเป็นประโยชน์มาก และตัวจูนเองก็นำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ จนทำให้อยู่มาได้อย่างราบรื่น จนถึงตอนนี้ก็ 20 ปีแล้ว”


จากแม่บ้าน สู่เส้นทางการเมือง

ปัจจุบันสาวเก่งคนนี้เริ่มเข้ามาทำงานด้านพัฒนาสังคมและชุมชนมากขึ้น ซึ่งเธอยอมรับว่าเดิมที เธอไม่ชอบงานด้านการเมืองเลยแม้แต่น้อย แต่ก็เพราะสามีอีกนั่นแหละ ที่เป็นผู้จุดประกายนำพาเธอมายืนในจุดนี้

“พอแต่งงานไป ท่านรองฯเห็นจูนอึดอัดมาก ก็เลยให้มาช่วยงาน จูนเลยได้มีโอกาสไปช่วย ดร.พิจิตต รัตตกุล หาเสียง จนท่านได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เราก็ได้เป็นคณะเลขาท่านผู้ว่าฯ คอยประสานงาน ดูมติที่ประชุม ติดตามงานด้านต่างๆ ของกทม.อยู่ 4 ปี ทำงานมาเรื่อยๆ จนอายุ 26 จูนก็ลงสมัครส.ก. (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร) แม้สุดท้ายจะไม่ได้ตำแหน่ง แต่ตอนนั้นเราก็อยากสมัครเพราะคิดว่า ถ้าเราได้เป็นเราจะมีสิทธิ์ มีเสียงอยู่ในสภา เราก็จะได้ผลักดันมติต่างๆ ให้ออกเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น

ทั้งที่จริงๆ แล้ว จูนไม่ชอบการเมืองเลย เพราะคุณพ่อจูน แต่ก่อนท่านเคยเป็นส.ก.เขตบางพลัดอยู่ 4 ปี ซึ่งช่วงที่ท่านเป็นจูนรู้สึกว่า นักการเมืองไม่มีเวลาให้ลูกเลยนะ อย่างตัวเราเช้าไปเรียนก็ไม่เจอหน้าคุณพ่อ เย็นคุณพ่อก็กลับดึกเราก็หลับไปแล้ว จูนเลยรู้สึกว่า มันเป็นอาชีพที่ไม่ชอบเลย และเราก็ไม่คิดที่จะเป็น รวมถึงไม่คิดด้วยว่าจะต้องมาเจอสามีเป็นนักการเมือง เพราะตอนที่เจอกับแฟน ตอนที่แต่งงานกัน แฟนจูนก็เป็นนักธุรกิจ ไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่บังเอิญเขาไปเป็นนักบริหารของกลุ่มแพนของดร.ณรงค์ โชควัฒนา ในเครือสหพัฒน์ฯ ซึ่งคุณณรงค์เป็นเพื่อนกับดร.พิจิตต แล้วมีช่วงหนึ่ง ดร.พิจิตตต้องการคนหนุ่มไฟแรงไปช่วยในคณะผู้บริหาร คุณณรงค์ก็เลยส่งแฟนจูนไปช่วย ก็เลยได้เข้ามาอยู่ในแวดวงการเมือง ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจเลย

แต่พอมาแล้ว แฟนจูนเห็นว่า หน้าที่การงานที่ทำ มันทำให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นเยอะ เช่น เรียนฟรีในกทม. ซึ่งดร.พิจิตตเป็นคนก่อตั้ง มันก็เป็นประโยชน์ สุดท้ายรัฐบาลก็มาสานงานต่อ ซึ่งการได้ทำนโยบายออกไป แล้วให้ประโยชน์กับคนเยอะๆ เรารู้สึกว่ามันมีความสุข...ที่สุดเลย มันดีกว่าการที่เราเป็นนักธุรกิจ แล้วเราทำอะไรเพื่อตัวเราเองครอบครัวเราเองอย่างเดียว เราก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเรามีความสามารถ ถ้ามีโอกาส ถ้าเราพร้อม เมื่อเราเอาความคิด ความสามารถเราไปผลักดันให้สิ่งดีๆ เกิด มันเป็นความสุขของเราจริงๆ

นับจากเมื่อครั้งที่เธอได้เข้าไปร่วมงานกับดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ดร.จันทนี ก็คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเมือง เคียงคู่สามีของเธอเรื่อยมา กระทั่งปัจจุบันนอกจากเธอจะมีอาชีพหลักทำงานด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้ว เรายังได้เห็นเธอออกงานด้านพัฒนาสังคมอยู่บ่อยครั้ง

“จูนก็ทำงานร่วมกับกทม.มาเรื่อยๆ เพราะประเด็นหลักคือ เราอยากทำงานให้สังคม ตอนนี้ก็ยังทำงานเพื่อชุมชนอยู่ และเริ่มลงพื้นที่ชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วม เราก็ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย ทำร่วมกับครูอ้อย (ฐิตินาถ ณ พัทลุง) พอหลังน้ำท่วมก็เริ่มเดินสายออกไปบรรยายไปจัดกิจกรรมให้กำลังใจผู้สูงอายุ แต่หลังๆ ไม่ได้ทำกับกทม. แล้ว ทำกันเองในกลุ่มของจิตอาสาที่เป็นลูกศิษย์ครูอ้อย (ตามหลักสูตรเข็มทิศจิตใต้สำนึก) แต่บังเอิญว่าเราคลุกคลีอยู่กับผู้คนในกทม.มาตลอด มันก็ทำให้เรารู้จักกับคนในพื้นที่ ได้รับการอำนวยความสะดวกในเรื่องการประสานงาน การลงพื้นที่ได้ดีขึ้น จูนเลยว่าถ้ายังสามารถทำได้ ก็อยากเดินสายอย่างนี้ไปเรื่อยๆ”
ภรรยาขาลุย !

“การที่สามีทำงานด้านการเมือง ยอมรับว่ากดดันนะคะ หลายครั้งเราคิดว่า พอเถอะ เปลืองตัว คือ บางครั้งที่เราเข้ามา เราคิดว่า เราอยากมาทำให้กับประชาชนจริงๆ แต่มาเจออะไรอย่างนี้ (การใส่ร้าย ป้ายสีทางการเมือง) เรารู้สึกอยากถอย อยากกลับไปเป็นคนธรรมดา เหมือนประชาชนทั่วไปก็ได้ อะไรจะเกิดก็เกิด

ซึ่งสำหรับแฟนจูน ถ้าถามว่าเขาคิดจะถอยบ้างมั้ย จะเลิกเล่นการเมืองบ้างมั้ย เขาก็ฟังเราค่ะ มีอะไรก็จะปรึกษากันตลอด ถ้าจูนไม่สู้ ท่านก็คงไม่สู้ หมายความว่า ถ้าเกิดภรรยาไม่สบายใจ ลูกไม่อยากให้ทำงานการเมือง อยากขอเวลาจากพ่อ เขาก็จะหยุด แต่มาเจอครูอ้อยที่ช่วยให้เราเริ่มรู้จักปรับความคิดตัวเอง เราก็เริ่มเปลี่ยนความคิด ครูอ้อยบอกว่า ให้เราเปลี่ยนที่ตัวเรา คนอื่นจะเปลี่ยนด้วย พอจูนเปลี่ยนมามีมั่นใจมากขึ้น ไม่กลัว พร้อมที่จะลุย ก็คิดได้ว่าถ้าเราอยากทำเพื่อประชาชนจริงๆ และมันเป็นความจริงที่เราตอบได้ เราก็น่าจะลุย

ดังนั้นหลังๆ ที่ท่านรองฯ ออกมาฮาร์ดคอร์ ออกมาตอบโต้แรงๆ ก็คือ หลังบ้านบอกให้ลุยด้วย คือ พอเราบอกลุยเถอะ ท่านก็ออกมา สมัยก่อนจูนจะบอกอย่าเลยพี่..ช่างเขาเถอะ ให้มันจบๆ เถอะ เดี๋ยวเรื่องบานปลาย แต่เดี๋ยวนี้ พอที่บ้านไฟเขียว ท่านก็ลุยเต็มที่เลย” เธอตอบพร้อมหัวเราะ

แต่ใช่ว่าจะมีแต่ด้านยุให้ลุย สนับสนุนให้แรงอย่างเดียว ด้านละเอียดอ่อน อย่างการให้กำลังใจ ผ่านสายใยแห่งความเป็นสามีภรรยา ดร.จันทนีคนนี้ก็ทำได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

“การให้กำลังใจในแบบของจูน จูนว่ามันคือ การที่เราเข้าใจเขาแค่นั้นก็พอแล้ว เพราะจริงๆ แล้ว เราไม่ได้มีคำพูดกำลังใจมากมาย เพราะบางครั้ง จูนรู้ว่ามันอยู่ที่ตัวท่านรองฯ เอง ท่านต้องจัดการกับความเครียดของท่านเองมันถึงจะเคลียร์ ดังนั้นเวลาท่านเครียด เราเลยไม่ถึงขั้นต้องเข้าไปปลอบใจ เพียงแค่เราไม่ไปใส่อะไรเพิ่มให้ท่านยิ่งเครียด แค่นั้นท่านก็สบายใจแล้ว

ส่วนเรื่องการคลายเครียดของท่านรองฯ ปกติ เราจะใช้เสาร์อาทิตย์ไปเที่ยวกัน แต่หลังๆ พอท่านมาทำงานด้านโยธา ก็ไม่มีเวลาว่าง แต่เราคุยกันไว้ว่า เสาร์อาทิตย์..เราขอเวลาบ้างนะ ท่านก็พยายามให้กับครอบครัว แต่ถ้ามีวันหยุดไหนที่มีคนเขาเชิญไปเป็นประธาน หรือต้องไปตรวจงานที่เราพอจะตามไปด้วยได้ เราก็จะขอว่าไปด้วยกันได้มั้ย 3 คน พ่อแม่ลูกก็หอบหิ้วกันไป”

ท้ายสุดในฐานะภรรยาดร.คนสวย เธอเผยเทคนิค ที่เธอใช้มัดใจสามีมากว่า 20 ปีว่า อยู่ที่ความเข้าใจ และเหนือสิ่งอื่นใด คุณผู้หญิงต้องเห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในตัวเองก่อนเสมอ แล้วสิ่งดีๆ ก็จะตามมา

สิ่งสำคัญในชีวิตคู่ จูนว่า 'ความเข้าใจกัน' สำคัญมากเลย เพราะไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรเข้ามากระทบ ถ้าเรารู้ว่า เขาคิดอะไรอยู่ อารมณ์ช่วงนั้นเราไม่ไปแตะเขาให้เขายิ่งกลุ้ม มันก็จะทำให้เขาเข้าสู่สภาวะปกติได้เร็ว ก็จะทำให้ชีวิตคู่ราบรื่นได้ นอกจากนี้จูนว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว เราควรอยู่กับตัวเอง อยู่กับปัจจุบัน เราไม่ต้องไปสนใจอดีต ที่ผ่านมามันอาจจะมีบางสิ่งบางอย่าง ที่เราอาจจะทะเลาะกัน ไม่เข้าใจกัน ก็ปล่อยมันไป แล้วเรามาดูปัจจุบันของเรา และมองถึงอนาคตว่าเราจะมองอนาคตอย่างไร เราต้องการชีวิตคู่อย่างไร

จูนอยากให้ผู้หญิงทุกคนอยู่กับตัวเอง มั่นคงกับตัวเอง รู้ว่าเรามีคุณค่า และเราคู่ควรกับสิ่งดีๆ และสิ่งเหล่านั้นมันจะมีจริงๆ เพราะเมื่อไหร่ที่เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำให้ตัวเราเป็นคนที่มีคุณค่า คู่ควรกับคนดีๆ แล้วเดี๋ยวเขาก็จะเห็นความดีของตัวเราเอง เราไม่จำเป็นต้องให้เขาเปลี่ยนแปลง เราแค่ทำตัวเองให้มีค่า อยู่กับตัวเองอย่างเข้มแข็ง ผู้หญิงหลายคนอาจจะมีความหวาดระแวง แต่ตัวจูนไม่เคยระแวงท่านรองฯ เรื่องผู้หญิงเลย ส่วนหนึ่งคือ จูนมั่นใจในตัวเอง และเราพยายามดูแลตัวเองเสมอในทุกๆ เรื่อง

ผู้หญิงบางคนอาจคิดว่า แต่งงานแล้วมีชีวิตคู่แล้วก็ปล่อยตัวไม่ดูแล แต่จูนคิดว่าไม่ถูก การที่เราดูแลตัวเองตลอดทั้งเรื่องความงามภายนอก หรือแม้แต่ความคิดความรู้ภายใน มันคือ การที่เราเห็นคุณค่าของตัวเองด้วยอันที่หนึ่ง สองคือ เราเห็นคุณค่าของสามีด้วย เพราะเราต้องการให้เขาเวลาไปไหนมาไหน เขาสามารถบอกกับใครอย่างภาคภูมิใจได้ว่า คนนี้ภรรยาเขา ถ้าเราอยากให้เขาภูมิใจในตัวเรา เราก็ต้องเริ่มที่ตัวเรา ต้องภาคภูมิใจในตัวเองก่อน” ดร.จันทนี แบ่งปันแนวคิดเรื่องชีวิตคู่ของเธอ ปิดท้ายการสนทนา

สัมภาษณ์โดย Lady Manager



>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น