xs
xsm
sm
md
lg

“เผดิมชัย” เผย นักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจการแก้ปัญหาน้ำท่วมของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เผดิมชัย” เผย นักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจการแก้ปัญหาน้ำท่วมของไทย ไม่หวั่นนักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปพม่า ด้านประธานเจโทรชี้นักลงทุนญี่ปุ่นยังลงทุนในไทย ไม่ย้ายฐานลงทุน มั่นใจรัฐรับมือปัญหาน้ำท่วมได้ ห่วงขาดแคลนแรงงาน

วันนี้ (16 ก.พ.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวหลังเป็นประธานเปิดงานนัดพบแรงงานช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างเนื่องจากมหาอุทกภัย ไทย-ญี่ปุ่น ก้าวไปด้วยกัน ที่ศูนย์การค้าอยุธยาปาร์ค จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า กระทรวงแรงงานต้องการนำแรงงานในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยาที่ถูกเลิกจ้างไปเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดแคลนแรงงาน ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกที่มีความต้องการแรงงานอยู่จำนวนมาก ขณะเดียวกันตนได้ยืนยันกับนายเซ็ทซึโอ๊ะ อิอุจิ ประธานองค์การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และนายมิโนรุ ฟูรูซา ว่า ประธานหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย (เจซีซี) ถึงมาตรการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม

“จากที่ผมได้พูดคุยกับผู้บริหารเจโทรและเจซีซีได้รับแจ้งว่า นักลงทุนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็เชื่อมั่น และชื่นชมการแก้ปัญหาน้ำท่วมของไทยที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้กระทรวงแรงงานจะเร่งยกระดับฝีมือแรงงาน ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ก็จะเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม ก็จะดูเรื่องเครื่องจักรและการส่งเสริมการลงทุน ขณะที่โครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง ก็ได้รับการเรียกร้องจากผู้ประกอบการให้ขยายโครงการนี้ออกไปจากเดือนก.พ.นี้ เนื่องจากการฟื้นฟูในหลายโรงงานที่คาดว่าจะยาวไปจนถึงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมาพิจารณาข้อมูลและความเหมาะสมอีกครั้ง” รมว.แรงงาน กล่าว

นายเผดิมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาระบุว่า นักลงทุนต่างชาติ เริ่มเข้าไปดูฐานการลงทุนในประเทศพม่า เพราะนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ว่า ตนไม่รู้สึกกังวลกับเรื่องนี้ แม้ค่าจ้างในพม่าจะถูกกว่าจนดึงนักลงทุนไป เพราะประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในหลายด้าน โดยเฉพาะค่าแรงที่สูงกว่า ซึ่งจะเป็นสิ่งดึงดูดแรงงานจากทั้งพม่า และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ให้มาทำงานในไทย ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ของคนไทยที่ไม่ต้องการทำงานในภาคการผลิตหรืองานระดับล่าง

“กระทรวงแรงงานจะต้องเร่งยกระดับฝีมือแรงงานให้เป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆให้มากขึ้น เพื่อสร้างความได้เปรียบในการมีงานทำ โดยเน้นงานฝีมือทั้งในและต่างประเทศ หากแรงงานไทยสามารถผลิตชิ้นงานได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ ในเวลาที่ลดลง หรือเท่าเดิม ผมเชื่อว่านักลงทุนจะมองกำลังแรงงานของไทยเป็นสำคัญ และเชื่อว่าการปรับค่าจ้างจะทำให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น”รมว.แรงงาน กล่าว

นายเซ็ทซึโอ๊ะ อิอุจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุน (เจโทร) ในประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับไทยในการจัดงานในครั้งนี้เพราะต้องการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากปัญหาอุทกภัย ขณะเดียวกัน ยังเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของบริษัทนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก มองว่า ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัจจัยให้นักลงทุนย้ายบริษัทไปยังจังหวัดอื่นๆ และย้ายฐานไปต่างประเทศบ้าง แต่มีจำนวนไม่มาก

เท่าที่ดูรัฐบาลมีความมุ่งมั่น และให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาน้ำท่วม เชื่อว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมจะสำเร็จได้ด้วยดีตามที่รัฐบาลวางไว้ ขณะนี้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นยังลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และจะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะประเทศไทยคือแหล่งลงทุนที่ดีของประเทศญี่ปุ่น และเชื่อว่า นักลงทุนที่เหลือส่วนใหญ่จะเร่งฟื้นฟูบริษัท และขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจการรับมือของไทย ส่วนนโยบายการปรับค่าจ้าง 300 บาทถือเป็นเรื่องที่ดีในการปรับค่าจ้าง ซึ่งจะทำให้แรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไทย อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆ ก็จะต้องยกระดับฝีมือพนักงานให้สามารถผลิตชิ้นงานได้เพิ่มขึ้นด้วย” นายเซ็ทซึโอ๊ะ กล่าว

น.ส.ศิริลักษณ์ ตรีบุพผา อดีตพนักงานบริษัท ฟูจิคูระ อิเล็คทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มาหางานในสายการผลิต เพราะถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่จะมองตำแหน่งงานในจ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากมองเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น หากย้ายไปทำงานในพื้นที่อื่น ส่วนเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท มองว่า เป็นเรื่องที่ดีหากจะได้รับ เพราะจะช่วยแบ่งเบาภาระหลังอุทกภัย และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
นายครรชิต โพธิ์ทอง อดีตพนักงานฝ่ายผลิตบริษัท ลาพิส จำกัด วัย 34 ปี กล่าวว่า ตนกับเพื่อนๆพนักงานประมาณ 900 คนถูกเลิกจ้างและได้รับเงินชดเชยเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากโรงงานซึ่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะถูกน้ำท่วม และย้ายฐานการผลิตไปประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น จึงมาหางานใหม่ทำ อย่างไรก็ตาม แรงงานที่อายุมากแล้ว จะหางานใหม่ยากเพราะสถานประกอบการต้องการแรงงานที่อายุยังไม่มาก และผู้ที่มาสมัครงานวันนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานที่อายุยังไม่มาก ขณะเดียวกัน เดือน เม.ย.นี้ มีเด็กรุ่นใหม่จบมาอีก จึงอยากให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือโดยจัดหาตำแหน่งงานรองรับที่เหมาะสมให้แก่แรงงานอายุระหว่าง 30-40 ปีขึ้นไปด้วย

ทั้งนี้ ภายในงานมีบริษัทของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นกว่า 100 บริษัท ในตำแหน่งงานกว่า 11,536 อัตรา ที่มาเปิดรับ ส่วนใหญ่จะเป็นสายการผลิต ในบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก และโลจิสติกส์
กำลังโหลดความคิดเห็น