ภารกิจนายกฯ วันนี้ เยือนโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก่อนสัมมนามื้อกลางวันร่วมรองนายกฯ แดนมังกร ยันพร้อมอำนวยความสะดวกนักลงทุนเพื่อบรรลุเป้าการค้า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ พบ ปธ.กก.บห.บริษัทชั้นนำ แจงไทยเน้นปรับปรุงสาธารณูปโภค ตั้งเป้านักเที่ยวเพิ่ม 20% ก่อนคารวะประธานาธิบดี แสดงความเชื่อมั่นศักยภาพจีน ขอบคุณสนับสนุนสินค้าเกษตรไทย และช่วยเหลืออุทกภัย
วันนี้ (18 เม.ย.) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเวลา 09.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ออกเดินทางจากเรือนรับรองรัฐบาลเตี้ยวหยูไถ ไปยังโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “พัฒนาการความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือยุทธศาสตร์ไทย-จีน” ในเวลา 09.30 น. ณ ตึกจงเหอโหลว ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของโรงเรียน รอให้การต้อนรับ ณ เชิงบันได จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของโรงเรียน
จากนั้นมีการลงนามในสมุดเยี่ยมก่อนการแสดงปาฐกถา โดยมีเนื้อหาสรุปว่า ปัจจุบันจีนเติบโตในทุกมิติ และมีเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกในไม่นานนี้ ซึ่งการเติบโตของจีนก็เป็นสิ่งท้าทายว่าการเติบใหญ่เป็นไป “อย่างสันติ” ไม่ได้เป็นภัยต่อประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยเข้าใจในเรื่องนี้และพร้อมให้ความร่วมมือในการส่งเสริมบทบาทของจีนในภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ ทั้งในกรอบอาเซียน +1 อาเซียน +3 การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) และการประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียและแปซิฟิก (APEC)
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า จีนได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวไทยในการฟื้นฟูประเทศจากมหาอุทกภัยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา และไทยได้ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาประเทศโดยได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท สองฝ่ายต้องมีการหารือในเชิงยุทธศาสตร์อย่างใกล้ชิด สิ่งที่ประสงค์จะเห็นในอนาคตอันใกล้คือ การมีเครือข่ายมิตรของไทย หรือ “Friends of Thailand” ซึ่งหวังว่าจะเห็นหลายท่านที่อยู่ในที่นี้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงและเป็นมิตรของไทยในอนาคตต่อไป ไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน ในขณะที่จีนเป็นประเทศคู่เจรจาที่เก่าแก่และมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน ดังนั้น ไทยและจีนควรใช้กรอบความร่วมมืออาเซียนในการจัดการความท้าทายร่วมกันของภูมิภาค ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการผลิตและการลงทุนร่วมกัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ในโอกาสที่มาเยือนโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันนี้ ขอชื่นชมในความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางและแนวนโยบายแก่รัฐบาลจีนในการบริหารและพัฒนาประเทศ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้จีนเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวไกล มีการพัฒนาประเทศและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สร้างประโยชน์สุขให้แก่ชาวจีน และส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมแสดงความหวังว่าจะร่วมมือกันในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีนในยุคใหม่ที่เราจะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านเพื่อประเทศชาติและประชาชนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนเพื่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค และประชาคมโลกโดยรวมสืบไป
จากนั้น เวลา 11.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม China World Summit Wing กรุงปักกิ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้พบและหารือข้อราชการกับ นายหวัง ฉีซาน รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนการสัมมนาระหว่างอาหารกลางวัน “Business Luncheon” โดยการหารือ สรุปได้ว่า รัฐบาลจีนยินดีส่งเสริมและให้ความร่วมมือในการพัฒนาการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้นในทุกสาขา ส่วนรัฐบาลไทยก็มีความยินดีต้อนรับนักลงทุนจีนและพร้อมจะดูแลและอำนวยความสะดวกในทุกด้าน เพื่อให้การค้าและการลงทุนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมาย คือให้มูลค่าการค้าบรรลุ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในปี 2016
เมื่อเวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น น.ส.ยิ่งลักษณ์พบหารือกับประธานกรรมการบริหารของบริษัทชั้นนำของจีนเป็นรายบุคคล เพื่อให้ความมั่นใจและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย ในส่วนของการจัดกิจกรรมสัมมนา และการประชุมธุรกิจไทย-จีน ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 18 เมษายน 2555 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นับว่าประสบความสำเร็จด้วยดี มีผู้ประกอบการไทย และจีนให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 800 คน โดยหน่วยงานภาครัฐของไทยได้ร่วมให้ข้อมูลที่น่าสนใจแก่ผู้ประกอบการจีน เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้บรรยายพิเศษถึงนโยบายของรัฐในการให้ความสำคัญต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ในโอกาสนี้ รัฐบาลชี้แจงถึงการให้ความสำคัญต่อการลงทุนจากต่างประเทศของไทย โดย รัฐบาลได้เน้นย้ำถึงนโยบายการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบด้วยงบประมาณสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทเพื่อป้องกันเขตเศรษฐกิจสำคัญของไทย นอกจากนี้ ได้ยืนยันความชัดเจนของนโยบาย กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการให้มาลงทุน ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้อธิบายถึงแนวทางการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งนี้ การพบปะหารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของจีน ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้ผลสรุปดังนี้
1. กลุ่มบริษัทที่แสดงความสนใจและพร้อมที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เช่น บริษัท Advance Technology and Materials (กิจการผลิตเครื่องจักร) บริษัท Great Wall Motor (กิจการผลิตรถยนต์) บริษัท Shanghai Automotive Industry Corporation (กิจการผลิตรถยนต์) และบริษัท Greenland Holding Group (ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์) ได้ยืนยันถึงความเชื่อมั่นประเทศไทย และพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆ โดยคาดว่ามูลค่าการลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 65,000 ล้านบาท
2. กลุ่มบริษัทที่มีความเชื่อมั่นต่อบรรยากาศการลงทุนของไทย และมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคตอันใกล้ เช่น บริษัท Scope Scientific Development (กิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า) บริษัท China Railway Group และบริษัท China Tree Gorges (เป็นรัฐวิสาหกิจด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน) บริษัท Poly Group (เป็นรัฐวิสาหกิจด้านการผลิตพลังงานทดแทน) รวมถึงบริษัท China Investment Corporation และ EXIM Bank China ที่พร้อมเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการที่จะไปลงทุนในประเทศไทย
3. กลุ่มบริษัทท่องเที่ยว จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท China International Travel Service, บริษัท China CYTS Outbound Travel Services บริษัท Beijing Ctrip International Travel Service บริษัท Beijing Jiedajiaqi (เจียต้าเจียชี่) International Travel Service และบริษัท China of Beijing China Travel Service South Asian View ได้หารือความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และแนวทางการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ เพื่อให้เกิดความสะดวกเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ด้านการเจรจาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของ 2 ประเทศ พบว่าประสบความสำเร็จด้วยดีเช่นเดียวกัน โดยมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการไทย กับผู้ประกอบการจีนเพื่อร่วมลงทุน และความร่วมมือในด้านต่างๆ ร่วมกันอีก 8 ฉบับ เช่น บริษัทสามมิตรกรีนพาวเวอร์ จำกัด กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี กลุ่มมิตรผล และทีซีไอ ทีวี ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศของจีน และสมาคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจไทย-จีน ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนร่วมกันจากการเซ็น MOU ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 67,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังชื่นชมความสำเร็จต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย-จีน โดยในการเยือนครั้งนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจนับเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง โดยไทย-จีนเตรียมผลักดันมูลค่าการค้าไทย-จีนให้ได้ 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016 โดยผู้นำทั้งสองประเทศต่างเห็นพ้องที่จะกำหนดทิศทางและตั้งเป้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย- จีนใน 3 สาขาหลัก ทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
ด้านการค้า ในการเยือนครั้งนี้มีการตั้งเป้าทางการค้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ต่อปี และให้มูลค่าทางการค้าบรรลุ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 นอกจากนี้ จีนเองยังได้รับที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 3 ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ เพื่อร่วมกันผลักดันความร่วมมือใน 3 สาขาหลักดังกล่าว
ด้านการลงทุน มีการเพิ่มมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในอีก 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักธุรกิจจีนถึงความพร้อมของไทยในทำธุรกิจและโอกาสทางการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่แข็งแกร่ง นโยบายรัฐบาลที่ต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ การใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและทรัพยากรต่างๆ ที่รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากการพบปะหารือนักธุรกิจรายใหญ่ของจีนจำนวน 16 บริษัทที่ครอบคลุมสาขาด้านพลังงาน รถไฟ ไอที รถยนต์ และการท่องเที่ยว ต่างเชื่อมั่นที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทยและขอรับการสนันสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลไทยได้แสดงความยินดีที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องนี้
ด้านการท่องเที่ยว ในการเยือนครั้งนี้มีการตั้งเป้าทางการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในอีก 5 ปีข้างหน้า และเห็นพ้องที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเน้นในเชิงคุณภาพมากขึ้น และกระชับความสัมพันธ์กับจีนในรายมณฑล ตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 2 ด้วย
นอกจากนี้ ในการเยือนครั้งนี้ยังมีการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมืออื่นๆ ที่เชื่อมโยงสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกันในอนาคต เช่น ความร่วมมือในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง พลังงานหมุนเวียน ความร่วมมือด้านการเกษตรอีกด้วย
และเมื่อเวลา 15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง นายกรัฐมนตรีเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดี หู จิ่นเทา และพบหารือกับนายอู๋ ปางกั๋ว ประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน ในโอกาสการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการพบหารือระหว่างผู้นำสูงสุดครั้งแรกของทั้งสองประเทศ ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของจีน และไทยพร้อมที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกับจีนในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ณ มหาศาลาประชาชน
โดยนายกรัฐมนตรีของไทย และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีการหารือเพื่อการสานต่อความสัมพันธ์ทั้งในระดับนโยบาย และการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกระดับและทุกมิติ โดยเฉพาะในกรอบภูมิภาคและอนุภูมิภาค ซึ่งในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพและบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีน จากที่ปัจจุบันจีนได้เติบโตและก้าวหน้าทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี และการเป็นมหาอำนาจที่สำคัญและมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีโลก
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงศักราชใหม่ของความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ภายหลังการเยือนไทยของรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนธันวาคม 2554 โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือ 4 สาขาภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ประกอบด้วย การพัฒนารถไฟความเร็วสูง การบริหารจัดการน้ำ พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่สะท้อนถึงการมีผลประโยชน์และยุทธศาสตร์ร่วมกันของไทยและจีน เพื่อประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อประชาชนของทั้งสองฝ่าย และเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างกันสำหรับโครงการอื่นๆ ในอนาคต
นายกรัฐมนตรีแสดงความเชื่อมั่นว่า แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือยุทธศาสตร์ไทย- จีน ฉบับที่ 2 และแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ภายใต้ความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้า ที่จะเป็นแผนแม่บทสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นกลไกในการปรึกษาหารือและลดทอนอุปสรรคต่างๆ ของภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรของไทยสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง การดูแลนักลงทุนไทยในจีนเป็นอย่างดี และการสนับสนุนให้ชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลและประชาชนจีนที่ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยและประชาชนชาวไทยในเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่ผ่านมา และการเฝ้าฯ รับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยทุกพระองค์อย่างสมพระเกียรติ จากทางการรัฐบาลจีนโดยเสมอมา รวมทั้งการเสด็จฯ เยือนกรุงปักกิ่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 2-6 เมษายนที่ผ่านมา
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้หารือกับประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีนในด้านต่างๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีที่การประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน และสภาประชาชนแห่งชาติจีน ชุดที่ 11 ครั้งที่ 5 ประสบความสำเร็จด้วยดี และทางรัฐบาลไทยให้ความสำคัญและติดตามผลการประชุมของทั้งสองสภาของจีนมาโดยตลอด เนื่องจากการดำเนินนโยบายของจีนย่อมมีผลต่อโลก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 12 (ค.ศ. 2011-2015) ของจีน ซึ่งกำหนดให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยเน้นยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน เพิ่มรายได้และกำลังซื้อของประชาชนไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นแนวทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ของไทยที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนามนุษย์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน ที่สนับสนุนการต่อเวลาให้ลูกหมีแพนด้า “หลินปิง” อยู่ในไทยจนครบกำหนดกลับพร้อม “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” ในปี ค.ศ. 2013 ส่งผลให้ชาวไทยมีความผูกพันต่อหมีแพนด้าครอบครัวนี้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอต่อประธานสภาประชาชนในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาไทยกับสภาประชาชนแห่งชาติจีน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับสมาชิกรัฐสภาและเยาวชน เพื่อทำความรู้จักและเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการเกื้อกูลต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนในระดับรัฐบาล
จากนั้น ในช่วงค่ำ นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี และคณะ ณ เรือนรับรองรัฐบาลเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง