อดีต รมต.สำนักฯ ชี้ รัฐบาลตัดสินใจช้าแจ้งเตือน ปชช.ระหว่างงานพระราชพิธี แฉ “มาร์ค” สายตรงหา “วรวัจน์” จึงขยับขึ้นตัววิ่ง ยัน ถ่ายทอดสดเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลไม่เกี่ยวกับสถาบัน งง นายกฯ บันทึกเทปแถมออกอากาศช้า ทั้งที่ทุกนาทีคือชีวิตประชาชน อัด ซิงเกิลคอมมานด์ ไม่มีจริง จี้ เร่งปรับปรุงศูนย์เตือนภัยให้เป็นเอกภาพรับมือภัยพิบัติทุกประเภท
วันนี้ (12 เม.ย.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉินจากกรณีแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา จนอาจเกิดสึนามิใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยวานนี้ ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบังเอิญเป็นช่วงที่ทีวีพูลถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัด ว่า จะใช้ทีวีพูลมาสื่อสารเตือนภัยกับประชาชนไม่ได้ โดยเป็นเรื่องการบริหารจัดการของรัฐบาล เพราะการจัดงานพระราชพิธี จะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการอยู่แล้ว ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนเป็นผู้นำรัฐบาล หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสื่อ ที่จะต้องดำเนินการ มิได้มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับสถาบันเหมือนอย่างที่มีบางฝ่ายพยายามกล่าวหา
“ในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรี นายกฯอภิสิทธิ์ มอบหมายให้ผมเป็นผู้ประสานงานกับทีวีพูล ซึ่งแต่ละรัฐบาลก็ต้องมีตัวแทนของรัฐบาลในการประสานงานกับสื่ออยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลตัดสินใจช้ามาก ซึี่งเราเห็นได้จากการประชุมสภา ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลแจ้งมายังสมาชิกรัฐสภาแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ ส.ส.ใต้รับทราบจากพื้นที่แล้ว ว่า อินโดนีเซียมีการประกาศเตือนภัยสึนามิ ซึ่งเรื่องนี้ คุณอภิสิทธิ์ ก็เป็นห่วงเมื่อเห็นว่า ทีวีพูลอยู่ในระหว่างการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี โดยไม่มีการแจ้งเตือนภัยต่อประชาชน ก็พยายามติดต่อคนในรัฐบาล และได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอให้ทำตัววิ่งแจ้งเตือนประชาชนก่อนเป็นอันดับแรก เพราะการให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความปลอดภ้ยในชีวิตของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ จากนั้นเราจึงเห็นมีการขึ้นตัววิ่งตามมา” นายสาทิตย์ กล่าว
อดีต รมต.ประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 เคยมีระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 โดยทำเป็นสัญลักษณ์สีเขียว หมายถึงเหตุการณ์ปกติ และสีแดง หมายถึงฉุกเฉิน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่นำมาใช้ได้ แต่การตัดสินใจที่ล่าช้าของรัฐบาล ทำให้ไม่มีการแจ้งเตือนภัยประชาชนอย่างรวดเร็วตามที่ควรจะเป็น และการที่นายกรัฐมนตรีใช้วิธีบันทึกเทปรายงานสถานการณ์ฉุกเฉิน และยังนำมาออกอากาศเมื่อสถานการณ์จบแล้ว ถือว่าเป็นความผิดพลาดมาก เนื่องจากการเตือนภัยทุกนาทีเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนจึงต้องให้ข้อมูลอย่างทันท่วงที ไม่ต้องรอให้นายกรัฐมนตรีมีความพร้อม
“ยังโชคดีที่เมื่อวานไม่มีเหตุร้าย ไม่เช่นนั้นผมไม่อยากคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็น ก็คือ วันซิงเกิลคอมมานด์ ที่รัฐบาลชุดนี้พูดถึงมันไม่มีอยู่จริง และศูนย์เตือนภัยก็ยังไม่เป็นระบบ ขาดเอกภาพ รัฐบาลจึงควรเรียนรู้จากปัญหานี้ปรับปรุงศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติให้มีความเป็นเอกภาพและต้องสามารถเตือนภัยธรรมชาติได้ทุกชนิด ทั้ง สึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม และรองรับการเตือนภัยพิบัติอื่นๆ ด้วย โดยต้องขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการสั่งการได้ทันทีและต้องทำอย่างจริงจัง เพราะมันเกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนโดยตรง” นายสาทิตย์ กล่าว