xs
xsm
sm
md
lg

“สุกำพล” เผยถก JWG เขมรเห็นพ้องกู้บึ้มร่วมพระวิหาร ยังไม่ถอนทหารพ้นพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
“รัฐมนตรีกลาโหม” เผยผลถกคณะทำงานร่วมไทย-เขมรตามคำสั่งศาลโลก เป็นบวก เห็นพ้องร่วมเก็บระเบิดรอบปราสาทพระวิหาร ชงจีบีซีต่อ โอ่คุยเพื่อนบ้านรู้เรื่องขึ้น ยังไม่ถอนทหารพ้นพื้นที่ ไม่พูดไล่ชาวกัมพูชาพ้นแดนพิพาท ด้านโฆษกกลาโหมระบุบรรยากาศการประชุมราบรื่น เห็นตรงถกเพื่อประโยชน์ร่วมบนความเท่าเทียม

วันนี้ (5 เม.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา (JWG) เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า จากการพูดคุยกันเป็นบวก โดยมีเรื่องสำคัญ 2 ประเด็น คือ ไทยกัมพูชาเห็นพ้องทำงานด้วยกัน และจะร่วมกันเก็บกู้กับระเบิดที่อยู่ในพื้นที่ 17.3 ตร.กม.บริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหารทั้งหมด ทั้งนี้ คณะทำงาน JWG ไม่ใช่หน่วยงานตัดสินใจ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (GBC) โดยที่ JWG เป็นส่วนหนึ่งของ GBC เท่านั้น ขณะนี้ไทยกับกัมพูชาคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง และขณะนี้ยังไม่มีการปรับกำลังทหารในพื้นที่ ส่วนเรื่องการปรับเปลี่ยนกำลังเป็นไปตามวงรอบเท่านั้น ยืนยันว่ายังไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่

เมื่อถามว่าจะดำเนินการกับประชาชนชาวกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.อย่างไร พล.อ.อ. สุกำพลกล่าวว่า เรายังไม่พูดถึงตรงนั้น แต่คงเป็นเรื่องต่อไปที่ต้องคุยกัน เรื่องนี้ต้องระวังเพราะบ้านเมืองก็มีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มฮาร์ดคอร์ จึงต้องค่อยๆ คุยกัน เพราะบางทีจะเกิดผลหลายเรื่อง แต่ในส่วนของทหารจะพูดคุยกันบนพื้นฐานความเข้าใจ พื้นที่เขาพระวิหารมีนิดเดียว ซึ่งต่อไปเราก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และไทยเป็นประเทศที่โชคดีที่อยู่ตรงกลางของประเทศอาเซียน การรวมตัวกันของอาเซียนถือเป็นโชคดีของประเทศไทย ปัญหาที่พูดกันเป็นเรื่องเล็กน้อย ลิ้นกับฟันต้องกระทบกันบ้าง

ด้าน พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมว่า ในการประชุมดังกล่าวมีข้อตกลงในหลายประเด็น เช่น เรื่องการแต่งตั้งเลขานุการและนายทหารติดต่อเพื่อให้เกิดการประสานงานในเรื่องต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เรื่องความเห็นชอบร่วมกันในการจะทำให้เกิดพื้นที่ที่มีความปลอดภัยตามโซน เอ, บี, ซี, ดี เรื่องการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ส่วนสาเหตุที่มีการประชุมกันอย่างยาวนานกว่า 10 ชั่วโมง เป็นเพราะมีการหารือในหลายประเด็น ซึ่งแต่ละประเด็นต้องพูดคุยในรายละเอียดลึกลงไปอีก ซึ่งโดยหลักๆ จะหารือเรื่องคำสั่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นหลัก ส่วนบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี ต่างฝ่ายต่างมีความเข้าใจกันและมีความเห็นตรงกันว่าต้องการปฏิบัติกันอย่างสามัคคีและเกิดความพึงพอใจของของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน โดยในการประชุมวานนี้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีการลงนามในการประชุม แต่ใช้รูปแบบการบันทึกการหารือแทน

พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า ส่วนการปรับกำลังเพื่อลดการเผชิญหน้าตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICG) ที่ประชุมของคณะทำงานร่วมทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ได้ตกลงเรื่องการปรับกำลังแต่อย่างใด และยังไม่มีการหารือกันชัดเจนแต่คงจะดูเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ก่อน แต่ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ถอนกำลัง แต่เราจะมีการปรับให้สอดรับกับสถานการณ์ในพื้นที่และคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ โดยคณะทำงานจะนำผลการประชุมเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา มาสรุปผลและจะรายงานให้คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมายของแต่ละประเทศ ส่วนการประชุมครั้งต่อไปประชุมที่กัมพูชา โดยทางกัมพูชาจะเป็นผู้กำหนดวันเวลาและสถานที่ในการจัดการประชุม

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชา (JWG) ครั้งทื่ 1 โดย พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสนาธิการทหารกองบัญชาการกองทัพไทย เป็นประธานฝ่ายไทย ส่วน พล.อ.เนียง พาด รมช.กลาโหมกัมพูชา เป็นประธานฝ่ายกัมพูชา โดยใช้เวลาประชุมเกือบ 10 ชั่วโมง โดยที่ประชุมมีมติว่า 1. ทั้ง 2 ฝ่ายจะแต่งตั้งเลขานุการของตัวเอง เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานของคณะทำงานร่วม โดยจะมีการสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ โทรสาร อีเมล และวิทยุสื่อสาร 2. ที่ประชุมเห็นชอบมอบหมายให้ศูนย์การเก็บกู้ทุ่นระเบิดของทั้งไทยและกัมพูชามีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในพื้นที่ที่กำหนด โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะดำเนินการบริเวณจุดที่กำหนด คือ เอ, บี, ซี, ดี ของพื้นที่เขตปลอดทหหารชั่วคราว

3. การประชุมเป็นไปด้วยบรรยากาศเป็นมิตร มีความเข้าใจที่ดีต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของประเทศเพื่อนบ้านที่ดี สนับสนุนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อความมั่งคั่งของประชาชนสองประเทศ และเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานความเท่าเทียมและความเข้าใจซึ่งกันและกันตามเจตนารมณ์ของอาเซียน เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งต่อไป ทั้งนี้การประชุมครั้งต่อไปจะมีการประสานวันเวลา สถานที่อีกครั้ง โดยทางกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพในการประชุม

สำหรับผลการประชุมครั้งที่ 1 ฝ่ายไทยจะรายงานให้คณะกรรมการจีบีซีดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายภายในของฝ่ายไทยต่อไป โดยการประชุมครั้งที่ 1 ไม่มีการลงนามแต่อย่างใด แต่ใช้รูปแบบการบันทึกการหารือแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น