รมว.กลาโหมปรับโครงสร้างกองทัพใหม่ 9 ข้อ เน้นกะทัดรัด รองรับนโยบายรัฐบาลได้ ทั้งปราบยาเสพติด แก้น้ำท่วม หน่วยไหนไม่มีความสำคัญยุบทิ้ง หรือไปไปรวมกับหน่วยอื่น พร้อมทำเว็บไซด์ประชาสัมพันธ์ข้อมูลช่วยน้ำท่วมตามคำสั่ง “ยิ่งลักษณ์” ขณะเดียวกันให้ทุกเหล่าทัพจับตาการเมืองใกล้ชิด จากการปล่อยข่าวทำลายความน่าเชื่อถือสถาบันหลักของประเทศ
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ที่มี พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เข้าร่วมประชุม ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศจึงส่งผู้แทนเข้าร่วม
พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า รมว.กลาโหมได้กำหนดให้มีการปรับโครงสร้างของกองทัพให้มีความเหมาะสมกะทัดรัดทันสมัย และสมดุลระหว่างหน่วยปฏิบัติกับควบคุมการบังคับบัญชา พร้อมรองรับภารกิจสภาพแวดล้อมทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งการขยายหน่วยหรือการจัดตั้งหน่วยใหม่จะต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน เนื่องจากเหตุผลความจำเป็นของสภาพแวดล้อมทางของยุทธศาสตร์ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ทหารต้องพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจตามรัฐธรรมนูญ ภาระหน้าที่ในมิติใหม่ และสามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น
พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า จากสภาพปัญหาด้านกำลังพลของกระทรวงกลาโหม และการได้รับสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลที่มีจำนวนจำกัด ทำให้เกิดข้อจำกัดในการบริหารจัดการกองทัพให้มีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดแนวความคิดการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ เพื่อให้ที่ประชุมได้มีการพิจารณา 9 ข้อ ได้แก่ 1. การปรับปรุงโครงสร้างกองทัพกะทัดรัด เหมาะสม สมดุลกับส่วนต่างๆ 2. การปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานใหม่ต้องมีเหตุผลรองรับชัดเจน และต้องเป็นหน่วยงานที่รองรับนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนทั้งการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการแก้ไขปัญหาอุทกภัย 3. จะต้องพิจารณามาตรฐานการจัดหน่วยให้เหมาะสม โดยไม่เป็นการเพิ่มอัตรากำลังพล งบประมาณ
4. ต้องมุ่งสู่การพิจารณาประสิทธิภาพของภารกิจมิใช่เป็นการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อแก้ไขกำลังพล 5. ใช้การรวมหน่วยงาน หรือการรวมภารกิจหน่วยงานที่มีความคล้ายคลึงกัน เพื่อให้เกิดความมีเอกภาพในการปฏิบัติงาน 6. ยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่คุ้มค่ามีความซับซ้อน และไม่ประหยัด หรือปรับโอนงานบางอย่างให้เอกชนดำเนินการ
7. มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพกำลังพล ด้วยระบบการบริหารจัดการของกำลังพลที่ทันสมัย และ มีประสิทธิภาพ 8. การปรับลดอัตรากำลังควรมุ่งเน้นการปรับลดกำลังพลที่บรรจุจริงควบคู่กันไป ไม่ใช่การปรับลดอัตรา รวมทั้งการดำเนินการ ต้องให้มีช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านอย่างเหมาะสม และ 9. ต้องคำนึงถึงหลักสากลธรรมเนียบปฏิบัติของกองทัพอารยประเทศ
พ.อ.ธนาธิปกล่าวต่อว่า สมาชิกสภากลาโหมได้เห็นชอบแผนการพิจารณาปรับโครงสร้างของกองทัพทั้ง 9 ข้อ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาทบทวนแผนแม่บทในการปรับปรุงโครงสร้างของกองทัพในปี 2550-2559 เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยนำแผนแม่บทในห้วงระยะเวลาในปี 2550-2555 นำข้อดีข้อเสียมาปรับปรุงปรับใช้ในปี 2556-2559 ซึ่งในส่วนของกระทรวงกลาโหม พล.อ.สุกำพลได้แต่งตั้งให้ พล.อ.เสถียรเป็นประธาน และรองปลัดกระทรวงกลาโหม และนายทหารที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ในส่วนของกองบัญชาการกองทัพไทย มีเสนาธิการทหารเป็นประธาน และคณะทำงานจากหน่วยที่เกี่ยวข้องของแต่ละเหล่าทัพเป็นกรรมการ โดยมีการพิจารณาอยู่ 2 ส่วน คือ การพัฒนาระบบงาน และโครงสร้าง
โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้หน่วยที่ได้รับงบประมาณจากโครงการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ให้เปิดเว็บไซต์ติดตามความก้าวหน้าของโครงการที่รับผิดชอบ โดยทุกๆ สัปดาห์หรือเดือนละ 2 ครั้ง จะมีการกรอกข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินการและข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถติดตามและได้รับทราบข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา และเพื่อให้การทำงานเกิดความรวดเร็ว สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมมีหน่วยกรมการทหารช่างของกองทัพบก และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาของกองบัญชาการกองทัพไทยเป็นหน่วยปฏิบัติในการขุดลอกคูคลอง
พ.อ.ธนาธิปแถลงด้วยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การเมืองมีความพยายามที่จะสร้างความแตกแยกทางความคิด มีการทำลายความเชื่อถือของสถาบันต่างๆ จากกลุ่มบุคคลที่มีความคิดไม่เหมาะสม กองทัพถือได้ว่าเป็นสถาบันหลักของชาติจะต้องมีความหนักแน่น มั่นคง สง่างาม มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นที่พึ่งของประชาชน ทาง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขอให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้ติดตามสถานการณ์การเมืองในขณะนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแจ้งผู้ใต้บังคับบัญชา อย่าตกเป็นเครื่องมือและหลีกเลี่ยงการเป็นผู้ชี้นำของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
พร้อมทั้งเน้นย้ำให้เห็นถึงท่าทีและความรับผิดชอบของกองทัพที่มีต่อประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสภากลาโหมไม่ได้มีการหารือถึงการก่อการร้ายหรือเหตุการณ์วางระเบิดในกรุงเทพฯ เนื่องจากขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการสืบสวนสอบสวนคดีอยู่